“พลเอก ประวิตร”ติดตามการพัฒนาแหล่งน้ำ แก้ท่วม-แล้ง จ.พิษณุโลก-นครสวรรค์

วันนี้(20 ม.ค. 66)พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) พร้อมด้วย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ติดตามการพัฒนาทรัพยากรน้ำในพื้นที่ จ.พิษณุโลก และจ.นครสวรรค์ โดยในช่วงเช้าลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าการก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก และโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำน่าน ต.พลายชุมพล อ.เมืองจ.พิษณุโลก พร้อมพบปะประชาชนในพื้นที่โครงการ 

จากนั้นในช่วงบ่ายเดินทางต่อไปยังเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด ต.พระนอน อ.เมืองนครสวรรค์จ.นครสวรรค์ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวต้อนรับ พร้อมบรรยายสรุปภาพรวมผลการดำเนินงานของจังหวัดตามนโยบายรัฐบาล เลขาธิการ สทนช. นำเสนอโครงการเพิ่มประสิทธิภาพพื้นที่หน่วงน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก “สี่แควโมเดล” 

ก่อนที่รองนายกรัฐมนตรีจะมอบนโยบายและแนวทางการพัฒนาบึงบอระเพ็ดให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและลงพื้นที่โครงการแก้มลิงบ้านแหลมทอง ต.พระนอน อ.เมืองนครสวรรค์ พร้อมเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์จากบึงบอระเพ็ดและปลารสเด็ดปากน้ำโพ  และร่วมปล่อยปลา ณ บริเวณหน้าอาคารสำนักงานที่ทำการเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด และพบปะประชาชนผู้ได้รับประโยชน์จากการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่บึงบอระเพ็ด และแก้มลิงบ้านแหลมทอง ตามลำดับ

A9366C4D CE1D 4BA7 89E7 BF50C3850471

จากการลงพื้นที่ 2 จังหวัดภาคเหนือตอนล่างครั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้หน่วยงานต่างๆ กำกับติดตามการจัดสรรน้ำให้เป็นตามแผน พร้อมประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำตามที่ กอนช.ได้มีการคาดการณ์ล่วงหน้า เพื่อเร่งหาแนวทางป้องกัน และแก้ไขทันที พร้อมประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนสร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่อง ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะภัยแล้งในพื้นที่ โดยเฉพาะลุ่มน้ำยมที่รัฐบาลได้เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซากให้เกิดความยั่งยืน 

ซึ่งประตูระบายน้ำท่านางงาม จ.พิษณุโลก เป็น 1 ใน 4 โครงการที่จะบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้สามารถเก็บกักน้ำในแม่น้ำยมได้เพิ่มขึ้น  มีปริมาณน้ำเพียงพอจัดสรรให้กับภาคการเกษตร รวมถึงช่วยเพิ่มระดับน้ำใต้ดินของพื้นที่ข้างเคียงอีกด้วย ขณะเดียวกัน ยังได้สั่งการให้กรมโยธาธิการและผังเมืองเร่งดำเนินการโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำน่านให้เป็นไปตามแผนงาน และป้องกันไม่ให้ถูกกัดเซาะเพิ่มเติมด้วยโดยต้องเร่งดำเนินการแก้ไขให้ครอบคลุมทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำด้วย 

3F1429E3 1795 417A B9FC 8AD0E0AAD63E

สำหรับในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ รองนายกรัฐมนตรีได้ติดตามความก้าวหน้าของโครงการเพิ่มประสิทธิภาพพื้นที่หน่วงน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก “สี่แควโมเดล” และผลการบริหารจัดการบึงบอระเพ็ด ตามที่ได้สั่งการให้หน่วยงานเร่งขับเคลื่อนให้เห็นผลโดยเร็ว โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่บึงบอระเพ็ด ต้องมีการบูรณาการการดำเนินงานของหลายส่วนงาน อาทิ การทำประมง การเกษตรกรรม การท่องเที่ยว การอนุรักษ์ รวมถึงน้ำอุปโภคบริโภค เพื่อให้บึงฯ กลับมาเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ และส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมโดยรอบดีขึ้นตามไปด้วย 

C73B5AE1 0136 4A6E 9A01 CA808B555C8F

ด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช.กล่าวเพิ่มเติมถึงความก้าวหน้าการพัฒนาทรัพยากรน้ำในพื้นที่ 2 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ว่า รัฐบาลได้มีการเร่งรัดผลักดันการขับเคลื่อนโครงการด้านน้ำตลอด4 ปีที่ผ่านมา(ปี 61 – 65) รวมเกือบ 3,000 โครงการ แบ่งเป็น จ.พิษณุโลก 1,881 โครงการ จ.นครสวรรค์1,087 โครงการ 

อาทิ ประตูระบายน้ำท่านางงามพร้อมอาคารประกอบ โครงการก่อสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพระบบรวบรวมน้ำเสีย เทศบาลนครพิษณุโลก แก้มลิงคลองละหานพร้อมอาคารประกอบ แก้มลิงบึงบอระเพ็ดจ.นครสวรรค์  ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนวัดไทรย์ อ.เมืองนครสวรรค์  เป็นต้น ซึ่งนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้ สทนช.บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามแผนการพัฒนาโครงการต่างๆ ภายใต้แผนแม่บทน้ำ 20 ปี เพื่อให้ทรัพยากรน้ำของประเทศเกิดความมั่นคงส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ