กรมชลประทานผุดโครงการอ่างเก็บน้ำคลองกะพง ลดปัญหาขาดแคลนน้ำเมืองแปดริ้ว

กรมชลประทาน เดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เตรียมพร้อมโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองกะพง ความจุกว่า 27.50 ล้านลูกบาศก์เมตร หลัง กนช.เห็นชอบให้ดำเนินโครงการฯ หวังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนแห่งใหม่ให้ชาวแปดริ้ว ลดปัญหาขาดแคลนน้ำและสนับสนุนน้ำให้กับพื้นที่ EEC

326793074 1139761060073453 2029087255724034085 n
อธิบดีกรมชลประทาน

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะกรรมการน้ำแห่งชาติ(กนช.) มีมติเห็นชอบให้กรมชลประทาน ดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำคลองกะพง ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็น 1 ใน 38 โครงการ ภายใต้แผนพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับพื้นที่ EEC เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค การเกษตร รวมทั้งรองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้นจากการขยายตัวของเมือง สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 27.50 ล้าน ลบ.ม. หากดำเนินการแล้วเสร็จจะเป็นแหล่งน้ำต้นทุน ส่งน้ำไปช่วยเหลือพื้นที่รับประโยชน์ในฤดูฝนได้มากกว่า 35,000 ไร่ และในฤดูแล้งประมาณ 7,000 ไร่ นอกจากนี้ ยังสามารถส่งน้ำไปสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ตลอดจนรักษาสมดุลของระบบนิเวศวิทยา ช่วยเสริมศักยภาพผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำบางปะกงได้อีกด้วย

capture 20230131 165659
โครงการอ่างเก็บน้ำคลองกะพง

“ปัจจุบันกรมชลประทาน ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการจัดทำแผนงานด้านต่าง ๆ ตามข้อเสนอของ กนช. เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินโครงการฯต่อไป” นายประพิศฯ กล่าวในที่สุด

capture 20230131 165928 2
โครงการอ่างเก็บน้ำคลองกะพง

ส่วนความเคลื่อนไหวอื่นเมื่อวานนี้(30 ม.ค. 66) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป

.

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (30 ม.ค. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 58,002 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 76 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 34,060 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 18,333 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 74 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำใช้การได้ 11,637 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี จนถึงขณะนี้มีการใช้น้ำทั้งประเทศไปแล้วกว่า 11,155 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 41 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 27,685 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 3,761 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 42 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา 9,100 ล้าน ลบ.ม.) ในส่วนของสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำ 4 สายหลัก ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา , แม่น้ำท่าจีน , แม่น้ำปราจีน-บางปะกง และแม่น้ำแม่กลอง อยู่ในเกณฑ์ปกติ

.

สำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ มีการเพาะปลูกไปแล้ว 7.96 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 76 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 5.56 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 84 ของแผนฯ โดยพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังตามการปรับปฏิทินการเพาะปลูก เต็มพื้นที่แล้ว คาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จตามแผนที่กำหนด ซึ่งเป็นไปตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้งปี 65/66 ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กำหนด