ครม.ไฟเขียวบันทึกความเข้าใจความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายระหว่างไทย-เวียดนาม

วันที่ 14 ก.พ. 66 คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่อง ขออนุมัติการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลการต่อต้านการทำการประมงผิดกฎหมาย ระหว่างกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทย และกรมประมง กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ดังนี้
                  

fishing
ไทย-เวียดนาม ร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย

1. เห็นชอบและอนุมัติให้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลการต่อต้านการทำการประมงผิดกฎหมายระหว่างกรมประมงแห่งราชอาณาจักรไทยและกรมประมง กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
                  

2. อนุมัติในหลักการว่า ก่อนที่จะมีการลงนาม หากมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขบันทึกความเข้าใจในประเด็นที่ไม่ใช่หลักการสำคัญ ให้กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก
                 

3. อนุมัติให้อธิบดีกรมประมงหรือผู้ที่อธิบดีกรมประมงมอบหมายเป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ
                  

4. มอบหมายกระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่ผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ (ตามข้อ 3)

ทั้งนี้สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามประสงค์ให้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ระหว่างการประชุมคณะทำงานร่วมกลุ่มย่อยด้านการประมงระหว่างไทยและเวียดนาม ครั้งที่ 7 ซึ่งเวียดนามจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ในช่วงต้นปี 2566 ซึ่งคาดว่าประมาณดือนมีนาคม 2566

สาระสำคัญของเรื่อง
                  

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบและอนุมัติให้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลการต่อต้านการทำการประมงผิดกฎหมาย ระหว่างกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทย และกรมประมง กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (อธิบดีกรมประมงหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจะเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวในช่วงเดือนมีนาคม 2566)

โดยร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการทำการประมงผิดกฎหมาย โดยเฉพาะข้อมูลเรือประมงรุกล้ำน่านน้ำ ข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับและใบรับรองการจับสัตว์น้ำเพื่อไม่ให้มีสินค้าประมงจากการทำการประมงผิดกฎหมายเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิต และข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการต่อต้านการทำการประมงผิดกฎหมาย ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ลงนามเป็นระยะเวลา 5 ปี และอาจต่ออายุได้อีก 5 ปี ตามที่คู่ภาคียอมรับร่วมกันล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน ก่อนวันที่บันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะสิ้นสุด ทั้งนี้หากมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ แต่ละฝ่ายจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น และไม่ถือเป็นสนธิสัญญาภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ
                  

ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความเห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมประมงจัดทำความตกลง/บันทึกความเข้าใจในประเด็นที่เกี่ยวกับการส่งเสริม การป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมร่วมกับประเทศต่าง ๆ และองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สาธารณรัฐฟิจิ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ สาธารณรัฐเกาหลี สหภาพเมียนมา ประเทศญี่ปุ่น และราชอาณาจักรกัมพูชา

รวมทั้งเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 (เรื่อง สรุปผลการเดินทางเยือนสาธารณรัฐเกาหลีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งรัดการดำเนินการเพื่อขยายความร่วมมือด้านการทำประมงกับประเทศต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้น

ดังนั้น การจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอมาในครั้งนี้นั้น จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทยในการมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีที่เกี่ยวกับการป้องกันและขจัดการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งเสริมสร้างบทบาทที่เข้มแข็งขององค์กรของไทยในการจัดการประมงในระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาค