ดีเดย์ ตั้งแต่ 1 มี.ค.นี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวงเชิงรุกแก้ปัญหาภัยแล้งปี 2566 ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

.

นายวีรวัฒน์ อังศุพาณิชย์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดปัญหาหมอกควันเกินค่ามาตรฐานในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วเพื่อเร่งแก้ปัญหาดังกล่าว จำนวน 2 หน่วย คือ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วประจำการที่จังหวัดเชียงใหม่ 1 ชุด ตั้งแต่วันที่ 3 -7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วประจำการที่จังหวัดระยอง ตั้งแต่วันที่ 3 -12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อทำงานเชิงรุกแก้ปัญหาลดผลกระทบทันที ซึ่งนอกจากหมอกควันแล้วยังดับไฟป่าด้วย ทั้งนี้ทำให้เกิดฝนตกและค่า PM 2.5 ลดลง จากการคาดการณ์ในปี 2566 เชื่อว่าจากปรากฎการณ์ลานีญ่าจะส่งผลให้เกิดภัยแล้งเพิ่มมากขึ้น

.

630200003340
ปฏิบัติการฝนหลวงเชิงรุกแก้ปัญหาภัยแล้งปี 2566

ดังนั้นคาดว่าจะต้องปฏิบัติการฝนหลวงเชิงรุกเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมนี้ จะตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงกระจายครอบคลุมครบทั่วทุกพื้นที่ยกเว้นภาคใต้ที่จะมีการตั้งหน่วยปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนช่วงเดือนพฤษภาคม เพื่อช่วยพื้นที่การเกษตร

.

สำหรับเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้ง ซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกรจะร่วมเป็นเครือข่ายอาสาฝนหลวงเพื่อแจ้งสถานการณ์ภัยแล้งกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในการทำฝนหลวงช่วยบรรเทาความเดือดร้อนอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภัยแล้งเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดจากการขาดแคลนน้ำเป็นระยะเวลานานเป็นเดือน ๆ หรือเป็นปี โดยทั่วไปเกิดขึ้นเมื่อพื้นที่ที่ได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอเกิดฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย เกิดผลกระทบอย่างมากต่อการดำรงชีวิต การเกษตร และระบบนิเวศในพื้นที่เกิดภัย


สำหรับสาเหตุการเกิดภัยแล้ง อาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

1.โดยธรรมชาติ

-การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลก เช่น ระบบการหมุนเวียนหรือส่วนผสมของบรรยากาศเปลี่ยนแปลง สภาวะอากาศในฤดูร้อนที่ร้อนมากกว่าปกติ

-การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เช่น ฝนทิ้งช่วง ฝนตกน้อย ดินเก็บความชื้นต่ำได้ไม่ดี ปริมาณน้ำใต้ดินมีน้อย

-การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล

-ความผิดปกติของตำแหน่งร่องมรสุมทำให้ฝนตกในพื้นที่ไม่ต่อเนื่อง

-ความผิดปกติเนื่องจากพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนที่ผ่านประเทศน้อยกว่าปกติ

2.โดยการกระทำของมนุษย์

-การใช้น้ำอย่างไม่เหมาะสมหรือสิ้นเปลืองเกินไป ทั้งการอุปโภค บริโภค และการเกษตร ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำใต้ดินลดลง

-พฤติกรรมการดำรงชีวิตของมนุษย์ที่ทำลายชั้นโอโซน เกิดภาวะเรือนกระจก ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น เช่น การเผาพลาสติก น้ำมัน และถ่านหิน

-การพัฒนาด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าส่งผลให้ความชื้นสัมพัทธ์ไม่เพียงพอ เนื่องจากขาดต้นไม้ซึมซับน้ำ และเกิดการบุกรุกพื้นที่ป่า ถือครองกรรมสิทธิ์ปลูกพืชไร่

-ระบบการเพาะปลูกและความถี่ของการเพาะปลูก

-ขาดการวางแผนการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์จากน้ำฝน

ผลกระทบของภัยแล้ง

-ผลิตผลทางการเกษตรลดลง ไม่เพียงพอต่อการบริโภค และการเลี้ยงปศุสัตว์

-เกิดการกัดเซาะ กัดกร่อนภูมิทัศน์ พื้นดินแห้งแล้งและเกิดการพังทลายของผิวดิน

-เกิดฝุ่นละออง พายุฝุ่น เพราะพื้นดินแห้งแล้งขาดน้ำ

-ประชาชนเกิดความอดอยากเนื่องจากการขาดน้ำในการอุปโภคบริโภค

-เกิดความเสียหายต่อที่อยู่อาศัยของสัตว์ ที่ได้รับผลกระทบทั้งบนบกและในน้ำ

-เกิดภาวะขาดน้ำ ขาดสารอาหาร และเพิ่มโอกาสเกิดโรคระบาด

-เกิดการอพยพย้ายถิ่นของประชากร

-ผลผลิตกระแสไฟฟ้าลดลง เนื่องจากการไหลของน้ำผ่านเขื่อนลดลง

-การประกอบการด้านอุตสาหกรรมต้องหยุดชะงัก เพราะขาดแคลนน้ำที่ใช้ในขบวนการผลิต

-เพิ่มโอกาสการเกิดไฟป่าในช่วงเกิดภัยแล้ง

ภัยแล้งในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเกิดใน 2 ช่วง ได้แก่

1.ช่วงฤดูหนาวต่อเนื่องถึงฤดูร้อน โดยเริ่มจากครึ่งหลังของเดือนตุลาคมเป็นต้นไป บริเวณประเทศไทยตอนบน (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออก) จะมีปริมาณฝนลดลงเป็นลำดับ จนกระทั่งเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมของปีถัดไป ซึ่งภัยแล้งลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี

2.ช่วงกลางฤดูฝน ประมาณปลายเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม จะมีฝนทิ้งช่วงเกิดขึ้น ภัยแล้งลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะท้องถิ่นหรือบางบริเวณ บางครั้งอาจครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้างเกือบทั่วประเทศ