กรมชลฯพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน 6-9 เม.ย. นี้

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาเรื่องพายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบนช่วงวันที่ 6 – 9 เม.ย. 66 จะส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยจะมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออก ส่วนภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภาคเหนือจะได้รับผลกระทบในระยะต่อไปนั้น

“ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน รวมถึงกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในพื้นที่เสี่ยง หากมีฝนตกหนักหรือลมกระโชกแรงส่งผลกระทบต่ออาคารชลประทานให้ดำเนินการแก้ไขทันที พร้อมกับบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ รถแบคโฮ รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำในพื้นที่เสี่ยง ให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือโดยเร็ว รวมถึงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งเตือนประชาชน ให้เตรียมรับมือสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง หากหน่วยงานหรือประชาชนต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือ โทร.1460 สายด่วนกรมชลประทาน” นายประพิศฯ กล่าวในที่สุด

339644688 1423557971516507 6261899396365147420 n

ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศ เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน ฉบับที่ 3 (93/2566)(มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 6 – 9 เมษายน 2566) โดยระบุว่าในช่วงวันที่ 6 – 9 เมษายน 2566 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยจะมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง

339618091 646882280534127 8199178842366968788 n 1


รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยจะเริ่มมีผลกระทบในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกก่อน ส่วนภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและภาคเหนือจะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย

โดยจังหวัดที่คาดว่าจะมีผลกระทบ

วันที่ 6 เมษายน 2566

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดมุกดาหาร อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคตะวันออก: จังหวัดสระแก้ว ปราจีนบุรี และจันทบุรี

วันที่ 7 เมษายน 2566

ภาคเหนือ: จังหวัดอุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง: จังหวัดลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

วันที่ 8 เมษายน 2566

ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: เลย หนองบัวลำภู ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

วันที่ 9 เมษายน 2566

ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิจิตรพิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย ชัยภูมิ และนครราชสีมา

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

(หมายเหตุ : ประเทศไทยตอนบน ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและภาคตะวันออก)



ประกาศ ณ วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2566 เวลา 17.00 น.

                                                                                                                             นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา