กรมประมงจับมือ 6 หน่วยงาน ผนึกกำลัง สร้างเครือข่าย บริหารจัดการสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งชลบุรีอย่างยั่งยืน

กรมประมงร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมควบคุมมลพิษ จังหวัดชลบุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา และองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือแผนปฏิบัติการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งแบบบูรณาการจังหวัดชลบุรี มุ่งสร้างเครือข่ายสนับสนุนข้อมูลในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดชลบุรีอย่างเป็นระบบ ณ ห้องประชุม 903 ชั้น 9 อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยบูรพา
         

%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%87202304191552429 pic
ผนึกกำลังบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมทางทะเล

“จังหวัดชลบุรี” เป็นจังหวัดที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวอย่างก้าวกระโดด ประกอบกับการขยายตัวเพิ่มขึ้นของชุมชนเมือง ส่งผลให้เกิดการเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และด้วยเหตุผลดังกล่าว หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จึงได้มีการเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายบูรณาการทำงานร่วมกัน ในการรวบรวม และแลกเปลี่ยนข้อมูลจากการศึกษา วิจัย และตรวจติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงวางมาตรฐานการวิเคราะห์ การแปลผล และการสื่อสารข้อมูลในระดับนโยบายของจังหวัดชลบุรีได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
         

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงได้ร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมควบคุมมลพิษ จังหวัดชลบุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา และองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือแผนปฏิบัติการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งแบบบูรณาการจังหวัดชลบุรี เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งแบบบูรณาการจังหวัดชลบุรี ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2563 – 2567) ในรูปแบบเครือข่ายบูรณาการ และขับเคลื่อนการปฏิบัติงานภายใต้แผนบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดชลบุรี โดยมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเป็นฐานข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย ผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนซึ่งสอดคล้องกับนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล และแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561 – 2580) แผนปฏิบัติราชการกรมประมง พ.ศ. 2566-2570 แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทะเลเอเชียตะวันออก และเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน จากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26

สำหรับขอบเขตความร่วมมือในครั้งนี้ ทุกหน่วยงานจะดำเนินงานร่วมกันในลักษณะเครือข่ายในการรวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จำเป็น จากการศึกษา วิจัย และตรวจติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งจะรวมถึงการวิเคราะห์ตัวอย่าง แปลผลการวิเคราะห์ จัดทำฐานข้อมูล ติดตามสารมลพิษ และร่วมกันจัดทำรายงานสื่อสารสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งของจังหวัดชลบุรี ทั้งในสถานการณ์ปกติ สถานการณ์ฉุกเฉิน และการแจ้งเตือนภัยให้ทันท่วงที โดยในส่วนของกรมประมงจะดำเนินการสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการจากการติดตาม ตรวจสอบ และวิเคราะห์คุณภาพน้ำทะเลที่มีผลกระทบต่อการทำการประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ใกล้แปลงหอย รวมถึงการเก็บตัวอย่างเพื่อจำแนกแพลงก์ตอนพืชชนิดเด่น และแพลงก์ตอนพืชพิษ และการวิเคราะห์สารชีวพิษจากแพลงก์ตอนพืชในสัตว์น้ำ 
         

 จากการลงนามในครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของทุกภาคส่วนในการดำเนินงานร่วมกันในลักษณะเครือข่ายเพื่อรวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จำเป็นจากการศึกษา วิจัย และตรวจติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งแบบบูรณาการของจังหวัดชลบุรี อันจะเป็นการทำให้แหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ แหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งในจังหวัดชลบุรีมีความสมดุลและยั่งยืนต่อไป อธิบดีกล่าว