วันที่ 2 มิ.ย. 2565 นายสำเริง แสงภู่วงค์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า “กรมฝนหลวงและการบินเกษตร” ได้มีการปรับแผนการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นมา ซึ่งในขณะนี้กรมฝนหลวงฯ มี “หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง” รวมจำนวนทั้งสิ้น 12 หน่วยปฏิบัติการอยู่ทั่วประเทศ ได้แก่ พื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 4 หน่วยฯ ที่ จ.เชียงใหม่ ตาก พิษณุโลก และแพร่ ภาคกลาง จำนวน 2 หน่วยฯ ที่ จ.กาญจนบุรีและนครสวรรค์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 5 หน่วยฯ ที่จ.อุดรธานี ขอนแก่น อุบลราชธานี นครราชสีมา และสุรินทร์ และภาคตะวันออก จำนวน 1 หน่วยฯ ที่ จ.สระแก้ว
โดยในส่วนของพื้นที่ภาคตะวันออกนั้น ทางศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก ได้ปรับแผนจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.สระแก้ว ณ สนามบินวัฒนานคร กองบิน 3 อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2565 ซึ่งจากเดิมที่ จ.จันทบุรี โดยจะใช้เครื่องบินชนิด CARAVAN จำนวน 3 ลำ ในการวางแผนช่วยเหลือ “พื้นที่การเกษตร”ตอนบนของภาคตะวันออก บริเวณ จ.นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว และชลบุรี ที่ยังคงมีความต้องการน้ำสำหรับการปลูกพืช ได้แก่ ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย และข้าว และติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงที่อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วย
นายสำเริง กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่มีความต้องการน้ำแล้ว กรมฝนหลวงฯ ยังคงเน้นปฏิบัติการฝนหลวงในภารกิจเติมน้ำให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่มีความต้องการน้ำเก็บกัก ซึ่งได้รับการประสานงานจากกรมชลประทานยืนยันให้เติมน้ำให้กับ “อ่างเก็บน้ำคลองสียัด”ด้วย โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.สระแก้ว ได้มีการวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา
ด้วย “อ่างเก็บน้ำคลองสียัด เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สำคัญของภาคตะวันออก มีปริมาณความจุของอ่างเก็บน้ำ 420 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 23% คิดเป็น 96.6 ล้าน ลบ.ม. ของความจุ โดยอ่างเก็บน้ำแห่งนี้มีความสำคัญในด้านการอุปโภคบริโภค การเกษตรกรรม การอุตสาหกรรม การผลักดันน้ำเค็มในลุ่มน้ำบางปะกงและจากผลปฏิบัติการ พบว่า สามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับพื้นที่ดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวัน กรมฝนหลวงฯ โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 12 หน่วยฯ ทั่วประเทศ ยังคงมีการติดตามสภาพอากาศ และเตรียมวางแผนปฏิบัติการทันทีหากสภาพอากาศเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอรองรับระยะฝนทิ้งช่วงที่อาจเกิดขึ้น และจะหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำเพียงพอแล้ว เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกร
ทั้งนี้ พี่น้องเกษตรกรและประชาชน ยังสามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ที่ช่องทางเพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account TikTok : @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100 อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวทิ้งท้าย