รมว.ธรรมนัส ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำ จ.เชียงใหม่ พร้อมสั่งลุยแก้ปัญหาทันทีภายหลังแถลงนโยบายรัฐบาล

รมว.ธรรมนัส ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำ จ.เชียงใหม่ พร้อมสั่งลุยแก้ปัญหาทันที ภายหลังแถลงนโยบายรัฐบาล ยึดรูปแบบบูรณาการทำงาน เข้าถึงพื้นที่ เข้าถึงปัญหาเกษตรกร

S 7520320
“ธรรมนัส” ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำ จ.เชียงใหม่

วันที่ 8 ก.ย.66 เวลา 16.00 น. ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม โดยพบปะรับฟังปัญหาของกลุ่มสภาอาชีพเกษตรกร (สอก.) จำนวนกว่า 400 ราย และรับฟังปัญหาของเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำอำเภอดอยหล่อ และกลุ่มผู้ใช้น้ำโครงการอ่างเก็บน้ำแม่วาง โอกาสนี้ กลุ่มเกษตรกรได้ยื่นหนังสือเพื่อติดตามความก้าวหน้าของโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปอน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

S 7520303
“ธรรมนัส” ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำ จ.เชียงใหม่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปัญหาภัยแล้ง และอุทกภัยเป็นเรื่องสำคัญที่นายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) แสดงความเป็นห่วงอย่างยิ่ง โดยปี 2563 ตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ซึ่งเคยได้ศึกษาการแก้ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยแล้ว โดยจะมอบหมายให้กรมชลประทานศึกษาภาพใหญ่และถอดแบบเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยทั้งระบบ ภายหลังจากที่แถลงนโยบายรัฐบาล ในวันจันทร์ที่ 11 ก.ย. 66 จากนั้น จะเรียกประชุมผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อมอบหมายงานและวางแผนแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน

S 7520295
“ธรรมนัส” ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำ จ.เชียงใหม่

“ในวันนี้ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำใน 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ขอนแก่น ติดตามการบริหารจัดการน้ำและป้องกันภัยแล้งที่เขื่อนอุบลรัตน์ จากนั้น ลงพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ให้กำลังใจ มอบถุงยังชีพให้กับเกษตรกรที่ประสบอุทกภัย และ จ.เชียงใหม่ เพื่อรับฟังปัญหาจากเครือข่ายภาคเกษตรกร ขอฝากถึงพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ นายกฯ ได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญกับภาคเกษตรซึ่งเป็นภาคการผลิต เป็นเรื่องที่ผมมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเข้ามารับผิดชอบ ทั้งด้านราคาพืชผล ต้นทุนการผลิต รวมถึงการตลาด และจะเร่งขับเคลื่อนการทำงานในมิติใหม่ ลงพื้นที่เข้าถึงเกษตรกร นำปัญหาจากรากหญ้า สู่การแก้ไขให้มากที่สุด สำหรับข้อเสนอของเกษตรกรในวันนี้ จะรับเรื่องไว้และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการทันที หลังวันที่ 11 ก.ย. นี้” รมว.ธรรมนัส กล่าว

S 7520297
“ธรรมนัส” ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำ จ.เชียงใหม่

จากนั้น รมว.เกษตรฯ ลงพื้นที่ตรวจติดตามผลการดำเนินงานการปรับปรุงระบบผันน้ำฝายแม่ตื่น ต.สันติสุข อ.ดอยหล่อ ก่อนจะลงพื้นที่ติดตามรับฟังผลการดำเนินงานขุดลอกอ่างเก็บน้ำโป่งจ้อ และพบปะกลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำบ้านโป่งจ้อ / สถานีสูบด้วยไฟฟ้าในเขต อ.ดอยหล่อ เพื่อรับทราบปัญหาความต้องการ ณ อ่างเก็บน้ำห้วยโป่งจ้อ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ หมู่บ้านโป่งจ้อ ต.สันติสุข อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่

S 7520300
“ธรรมนัส” ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำ จ.เชียงใหม่

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้มีการวางแผนการดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ อาทิ 1. โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปอนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ความจุอ่างฯ 2.029 ล้านลูกบาศก์เมตร หากดำเนินการแล้วเสร็จจะเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค และการเกษตรในพื้นที่ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 1,226 ครัวเรือน ช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกฤดูฝน 4,268 ไร่

S 7520301
“ธรรมนัส” ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำ จ.เชียงใหม่

2. โครงการอ่างเก็บน้ำแม่วาง ตำบลบ้านกาด อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ความจุอ่างฯ 25.415 ล้าน ลบ.ม. หากดำเนินการแล้วเสร็จจะเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร 38,209 ไร่ ในฤดูฝนและ 20,488 ไร่ในฤดูแล้ง

3. โครงการประตูระบายน้ำวังหิน พร้อมระบบส่งน้ำ ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ หากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถส่งน้ำช่วยเหลือในพื้นที่ บ้านหาดนาค หมู่ที่ 7 บ้านหนองอาบช้าง หมู่ที่ 9 บ้านดงหาคนาคหมู่ที่ 17 และ บ้านพุทธมิตร หมู่ที่ 18 ใช้เพื่ออุปโภคบริโภค จำนวน 1,028 ครัวเรือน ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในช่วงฤดูฝนได้ประมาณ 4,180 ไร่ และในฤดูแล้ง 1,980 ไร่

และ 4. โครงการปรับปรุงระบบผันน้ำฝายแม่ตื่น – อ่างเก็บน้ำห้วยโป่งจ้อ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสันติสุข อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันมีความคืบหน้าแล้วกว่าร้อยละ 96 หากดำเนินการแล้วเสร็จจะช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งและพื้นที่การเกษตรกว่า 5,000 ไร่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้มากขึ้น นอกจากนั้นยังสามารถเพิ่มปริมาณน้ำให้แก่อ่างเก็บน้ำห้วยโป่งจ้อ 1.6 ล้าน ลบ.ม./ปี ในช่วงฤดูน้ำหลาก

ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะเร่งดำเนินโครงการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด เพื่อให้สามารถใช้เก็บกักน้ำ เป็นแหล่งน้ำต้นทุน สำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตร ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้ง และยังช่วยหน่วงชะลอน้ำในช่วงอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ