“พาณิชย์”เชื่อมโยงปุ๋ยราคาถูก 64 สูตร 144 รายการ ขายกลุ่มเกษตรกร 3.04 ล้านกระสอบ

กรมการค้าภายในจับมือโรงงานผู้ผลิต ผู้นำเข้า สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมส่งเสริมการเกษตร จัดโครงการเชื่อมโยงปุ๋ย ลดราคากระสอบละ 10-50 บาท จำหน่ายให้กับกลุ่มเกษตรกร จำนวน 64 สูตร 144 รายการ รวม 3.04 ล้านกระสอบ เพื่อช่วยลดต้นทุน รวม 3 เดือน ยันผักสด สถานการณ์ปกติ แม้เจอฝน น้ำท่วม แจ้งผู้เลี้ยงสุกร ไก่ไข่ เตรียมยื่นขอรับชดเชยดอกเบี้ย 3% ได้แล้ว
         

651fa3964d4e6
“พาณิชย์”เชื่อมโยงปุ๋ยราคาถูก 64 สูตร 144 รายการ ขายกลุ่มเกษตรกร 3.04 ล้านกระสอบ

ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมได้รับนโยบายนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้ดำเนินการลดต้นทุนให้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมส่งเสริมการเกษตร เชื่อมโยงปุ๋ยจากโรงงานผู้ผลิต ผู้นำเข้า 26 ราย ผ่านความร่วมมือจากสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย และสมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย มาจำหน่ายให้แก่เกษตรกรผ่านสถาบันเกษตรกร โดยให้ส่วนลดกระสอบละ 10-50 บาท และลดราคาปุ๋ยทั้งหมด 64 สูตร จำนวน 144 รายการ รวมปริมาณ 3.04 ล้านกระสอบ
         

สำหรับปุ๋ยที่นำมาลดราคา เช่น แม่ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) แม่ปุ๋ยฟอสเฟต (18-46-0) แม่ปุ๋ยโพแทสเซียม (0-0-46) ปุ๋ยสูตร 16-20-0 ปุ๋ยสูตร 21-0-0 และปุ๋ยสูตร 15-15-15 เป็นต้น โดยเกษตรกรสามารถเข้าไปดูรายละเอียดสูตรปุ๋ย ยี่ห้อ และราคาส่วนลดในโครงการนี้ทางเว็บไซต์ของกรม www.dit.go.th และสามารถสั่งซื้อผ่านสถาบันเกษตรกรที่ตนเป็นสมาชิก เช่น สหกรณ์การเกษตร ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มแปลงใหญ่ จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566
         

โดยสถาบันเกษตรกรจะเป็นผู้รวบรวมยอดการสั่งซื้อ แจ้งไปยังสำนักงานสหกรณ์จังหวัด สำนักงานสหกรณ์อำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดในแต่ละพื้นที่ จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการประสานงานระหว่างกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการค้าภายใน และสมาคมปุ๋ยที่เกี่ยวข้อง ที่จะจัดจำหน่ายปุ๋ยให้ตามที่สั่งซื้อต่อไป
         

นอกจากนี้ กรมยังได้ประสานสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย ให้เข้ามาช่วยเหลือด้านการขนส่ง โดยสมาคมฯ พร้อมที่จะอำนวยความสะดวก และจัดส่งปุ๋ยไปยังสถาบันเกษตรกรในราคาพิเศษ กรณีที่ไม่สามารถจัดหารถบรรทุกไปรับปุ๋ยจากทหน้าโรงงานได้เอง ทั้งนี้ ล่าสุดตั้งแต่เริ่มโครงการวันที่ 1-5 ต.ค.2566 มีสถาบันเกษตรกรซื้อปุ๋ยลดราคาจากโรงงานผู้ผลิต ผู้นำเข้าแล้วจำนวน 10 แห่ง รวม 10,389 กระสอบ

ส่วนแนวโน้มราคาปุ๋ย คาดว่าจะยังทรงตัว เพราะขณะนี้ราคาพลังงานและก๊าซธรรมชาติ ปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังดีที่ความต้องการใช้ในตลาดโลก ยังไม่เพิ่มขึ้น เพราะช่วงนี้ยังไม่เข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกของประเทศสำคัญ ทำให้ไม่มีแรงกดดันต่อราคา และหากเทียบราคาช่วงนี้กับช่วงที่พีกเมื่อปีที่แล้ว ราคาก็ยังถือว่าต่ำกว่ามาก ซึ่งกรมจะติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดต่อไป

ร.ต.จักรากล่าวว่า สำหรับการร่วมมือกับผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ห้างโมเดิร์นเทรด ห้างท้องถิ่น ผู้ให้บริการ แพลตฟอร์มรวม 288 ราย ปรับลดราคาสินค้า 151,676 รายการ จากการติดตาม พบว่า มีการปรับลดราคาลงมาแล้ว และประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น และน่าจะดีขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อใกล้ช่วงสิ้นปี ส่วนการติดตามสินค้าในฟื้นที่ฝนตกหนักและน้ำท่วม สินค้าที่จำเป็นต่อการซ่อมแซม ทำความสะอาดบ้านเรือน ทั้งอุปกรณ์ซ่อมแซม เครื่องสูบน้ำ ประตู หน้าต่าง สุขภัณฑ์ สายยาง กระเบื้อง สี น้ำยากันซึม มีเพียงพอ และยังมีการจัดโปรโมชันปรับลดราคาด้วย  

นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า สถานการณ์ผักสด ราคายังทรงตัว และบางชนิดปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพราะได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก และน้ำท่วม แต่แหล่งผลิตสำคัญ ไม่ได้รับความเสียหาย ทำให้ผักเข้าสู่ตลาดได้ต่อเนื่อง ซึ่งกรมจะติดตามใกล้ชิดต่อไป เพราะใกล้เข้าสู่ช่วงเทศกาลกินเจ โดยหากพื้นที่ใด มีปัญหาผักแพง หรือขาดแคลน ก็จะประสานนำผักจากแหล่งผลิตเข้าไปจำหน่ายทันที เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ

ทางด้านการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร และไก่ไข่ ล่าสุดคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการชดเชยดอกเบี้ยเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและไก่ไข่ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การขอรับสนับสนุนค่าชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ ในอัตราไม่เกิน 3% ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยไม่เกิน 5,000 ตัว และผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อย ไม่เกิน 100,000 ตัว มีระยะเวลาชดเชยดอกเบี้ยไม่เกิน 6 เดือน กรอบวงเงินกู้ยืมรายละไม่เกิน 10 ล้านบาทแล้ว โดยเกษตรกรที่สนใจต้องขึ้นทะเบียนการเลี้ยงสุกร หรือไก่ไข่ ตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด และได้รับวงเงินสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการเลี้ยงสุกร หรือไก่ไข่ จากธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐ และชำระดอกเบี้ยเงินกู้ที่เกิดขึ้น ในช่วงระหว่างวันที่ 1 ม.ค.–31 ส.ค.2566 ให้กับธนาคารเรียบร้อยแล้ว โดยเกษตรกรที่สนใจสามารถยื่นสมัครเข้าร่วมโครงการ ณ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ส่วนเกษตรกรที่อยู่ในกรุงเทพฯ ให้ยื่น ณ กองส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตร 2 กรมการค้าภายใน ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.-30 พ.ย.2566