
นายสมประสงค์ เนตรทิพย์ อายุ ๔๗ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๘๒/๙๐ หมู่ที่ ๑ ตำบลคลองประเวศ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
การศึกษา วิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มหาวิทยาลัยราชมงคลตะวันออก
อาชีพ เกษตรกร (เลี้ยงกุ้ง)

ผลงานดีเด่น ความคิดริเริ่มและความพยายามฟันฝ่า อุปสรรคในการสร้างผลงาน
๑.มีประสบการณ์ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
จากการประกอบอาชีพเพาะพันธุ์กุ้งทะเลมากว่า ๑๕ ปีโดยเริ่มจากอนุบาลกุ้งกุลาดำ จากนั้นเปลี่ยนมาเป็นกุ้งขาวได้มีโอกาสเรียนรู้และลงมือปฏิบัติตลอดกระบวนการผลิต ตั้งแต่การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ การผสมพันธุ์ ผลิตลูกกุ้งระยะนอเพลียส การอนุบาลลูกกุ้งระยะ Post Larva(กุ้งพี) ในปี ๒๕๕๘ ประสบปัญหาขาดทุนเนื่องจากคุณภาพของสายพันธุ์กุ้งขาวไม่ดี ทำให้เห็นปัญหาของธุรกิจโรงเพาะฟักกุ้งที่ไม่มีแหล่งพันธุ์เป็นของตัวเอง เมื่อได้วิเคราะห์ข้อมูลแล้วเห็นว่าไม่สามารถพัฒนาสายพันธุ์กุ้งขาวได้เนื่องจากยังมีศักยภาพไม่เพียงพอ จึงเปลี่ยนมาศึกษาในกุ้งก้ามกราม และพบปัญหาในอุตสาหกรรมการผลิตกุ้งก้ามกราม ได้แก่ ลูกกุ้งอ่อนแอ ติดเชื้อไวรัส อัตรารอดต่ำ โตช้า กุ้งตัวเมียเยอะ ต้นทุนสูง ขายไม่ได้ราคาซึ่งปัญหาทั้งหมดเกิดจากรูปแบบการเพาะพันธุ์ลูกกุ้งก้ามกรามที่ส่งผลให้เกิดการผสมเลือดชิด (inbreed) จึงได้มีแนวความคิดในการพัฒนากุ้งก้ามกรามสายพันธุ์ที่โตเร็ว ปลอดเชื้อไวรัส เป็นเพศผู้ล้วนหรือมีสัดส่วนเพศผู้เยอะที่สุด และสามารถผลิตลูกกุ้งจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างที่มีการปรับเปลี่ยนมาเพาะพันธุ์กุ้งก้ามกราม พบอุปสรรคในหลายเรื่อง เช่น ความแตกต่างของการคัดเลือกสายพันธุ์ รูปแบบและพื้นที่การเลี้ยงต้นทุนการดำเนินงาน การเก็บข้อมูลและผลทดสอบ รวมถึงต้องลดกำลังการผลิตกุ้งขาวเพื่อนำพื้นที่บางส่วนมาดัดแปลงเป็นโรงเรือนระบบปิด ทำให้มีปัญหารายรับไม่เพียงพอ เกิดปัญหาขาดทุนสะสมและขาดทุนต่อเนื่องหลายปี

๒. ในปี ๒๕๖๑ ได้เดินทางไปศึกษาดูงานการผลิตกุ้งก้ามกรามเพศผู้ล้วนที่ประเทศจีนและเวียดนามร่วมกับบรรจงฟาร์ม ทำโครงการทดลองฉีดสารสกัดชีวโมเลกุลเพื่อยับยั้งการสร้างฮอร์โมนเพศผู้จากต่อมแอนโดรเจนนิค เพื่อให้กุ้งเพศผู้แสดงเพศสภาพเป็นเพศเมีย MU๑ ตามงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล แต่พบปัญหาเรื่องปริมาณนอเพลียสที่ผลิตได้จากโครงการมีปริมาณไม่เพียงพอที่จะนำมาพัฒนาต่อ จากนั้นได้เข้าร่วมโครงการ Talent Mobility โดยได้รับการถ่ายทอดวิธีการทำกุ้งก้ามกรามเพศผู้ล้วนด้วยวิธีผ่าทำลายต่อมแอนโดรจินิก จาก ดร.วิกรม รังสินธุ์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งวิธีการนี้ต้องทำภายใต้กล้องสเตอริโอไมโครสโคป และลูกกุ้งต้องไม่ตาย ต้องใช้เวลาในการฝึกฝนและพัฒนาฝีมือของทีมงาน
๓. ศึกษาการผลิตกุ้งก้ามกรามโดยทดลองเลี้ยงและเก็บข้อมูลเพื่อนำามาปรับปรุงพัฒนา และได้ปรับปรุงระบบการผลิตเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต โดยคิดค้นรูปแบบการเพาะและอนุบาลกุ้งก้ามกรามให้อยู่ในระบบปิด ปรับพฤติกรรมทีมงานเพาะลูกกุ้งให้เลี้ยงด้วยระบบการใช้จุลินทรีย์ ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะและไม่ให้อาหารสดที่เก็บมา จากบ่อธรรมชาติโดยเด็ดขาดเพื่อป้องกันปัญหาเรื่องโรค ทำให้ต้องคิดค้นและทดลองด้วยตนเองจนได้ระบบที่สามารถเก็บไข่กุ้งก้ามกรามได้ทุกวันเหมือนที่ดำเนินการในปัจจุบัน

๔. ปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕ สร้างฟาร์มใหม่โดยใช้กำาไรที่สะสมมา พร้อมกับกู้เงินเพิ่ม โดยคิดค้นการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ด้วยระบบ Bio-RAS (Bio Recirculating aquaculture systems) เพื่อลดการถ่ายน้ำ คิดค้นและปรับปรุงสูตรอาหารเม็ดเพื่อแก้ปัญหาการให้อาหารสดในพ่อแม่พันธุ์ คิดค้นวิธีเก็บไข่กุ้งให้รวดเร็วและมีปริมาณมาก นำเทคโนโลยีการคัดเลือกสายพันธุ์แบบ mass selection มาใช้เพื่อแก้ปัญหาเลือดชิด ใช้เทคโนโลยีในการตรวจวัดคุณภาพน้ำแบบเรียลไทม์ร่วมกับการบันทึกข้อมูลคุณภาพน้ำ ผ่านโปรแกรมอิเล็คทรอนิค (IoT) เพื่อคอยเฝ้าระวังส่งสัญญาณเตือนผ่านแอปพลิเคชั่น

๕. ใช้เทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์น้ำแนวตั้ง มาประยุกต์ใช้กับการแยกเก็บรักษาสายพันธุ์ทำให้ประหยัดพื้นที่ในการแยกจัดเก็บสายพันธุ์และง่ายต่อการเก็บและบันทึกข้อมูลแต่ละครอบครัว รวมทั้งปรับรูปแบบการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามให้เป็นการเลี้ยงแบบรอบสั้นเพื่อให้สามารถเลี้ยงได้ ๔-๕ รอบ/ปี
๖. ใช้เทคโนโลยีเครื่องนับลูกกุ้งเข้ามาช่วยในการสุ่มนับลูกกุ้งเพื่อลดระยะเวลาในการสุ่มตรวจนับลูกกุ้งและใช้เทคโนโลยีการตรวจคัดกรองโรคไวรัสในกุ้งด้วยเทคนิค Real-time PCR เพื่อตรวจคัดกรองโรคไวรัสทั้งระบบการผลิต

๗. ใช้เทคโนโลยีควบคุมคุณภาพน้ำด้วยระบบไบโอฟล็อคในการอนุบาลลูกกุ้ง เพื่อลดต้นทุนการถ่ายน้ำใช้พัดลมปรับอุณหภูมิในโรงอนุบาลควบคุมด้วยเซนเซอร์วัดอุณหภูมิ เพื่อให้อุณภูมิน้ำในโรงเรือนอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับเจริญเติบโตและการผสมพันธุ์ของกุ้งได้ดีนำระบบอินเวอเตอร์มาใช้ควบคุมมอเตอร์ขนาดใหญ่ที่ใช้กับรูทโบลเวอร์ในโรงเพาะฟัก ทำให้สามารถควบคุมความเร็วรอบของมอเตอร์ให้สอดคล้องกับปริมาณการใช้ลมในระบบให้อากาศในโรงเพาะฟัก และใช้โบลเวอร์
ความเร็วรอบสูง หรือเรียกว่าโบลเวอร์แมกเนตมอเตอร์เพื่อเป็นการประหยัดพลังงาน ในส่วนของการอนุบาลลูกกุ้งก้ามกรามในบ่อดิน นำระบบเซมิไบโอฟล็อคมาใช้โดยเป็นการจัดสัดส่วนให้สมดุลระหว่างปริมาณของเสียในรูปไนโตรเจนที่เหลือในบ่อกับปริมาณจุลินทรีย์

ผลงานและความสำเร็จของผลงานทั้งปริมาณและคุณภาพ ตลอดจนระยะเวลาที่ปฏิบัติงานและความยั่งยืนในอาชีพ
๑. เริ่มอนุบาลและเพาะพันธุ์กุ้งทะเล ตั้งแต่ปี๒๕๔๕ และเริ่มประกอบอาชีพเพาะพันธุ์กุ้งก้ามกรามตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ (ระยะเวลา ๗ ปี) ปัจจุบันมีกำลังในการผลิตกุ้งระยะ Post Larva (กุ้งพี) เฉลี่ยปีละ ๗๕๐ ล้านตัว ผลิตกุ้งระยะนอเพลียส จำนวน ๒,๐๐๐ ล้าน/ปีและผลิตพ่อแม่พันธุ์กุ้งก้ามกรามได้ ๑๐๐,๐๐๐ คู่/ปี
๒. มีรายได้ย้อนหลัง ๓ ปี ดังนี้
- ปี ๒๕๖๕ มีรายได้ ๖๖.๘๗ ล้านบาท
- ปี ๒๕๖๖ มีรายได้ ๖๒.๓๗ ล้านบาท
- ปี ๒๕๖๗ มีรายได้ ๕๓.๓๔ ล้านบาท
- ๓. มีพื้นที่ฟาร์มเพาะ อนุบาล และบ่อเลี้ยงจำนวน ๓ แปลง รวมพื้นที่ ๓๖ ไร่ ๓ งาน โดยใช้กำไรสะสมสร้างฟาร์มใหม่ (ร่วมกับการกู้เงิน) ในวงเงิน ๓๕ ล้านบาท และซื้อที่ดินเพิ่ม ๔.๓ ล้านบาท เพื่อขยายฟาร์มให้มีการดำเนินการแบบครบวงจร และเพิ่มกำลังการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
- ๔. มีการให้ความรู้และสัมมนากลุ่มย่อยแก่เกษตรกรในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น จังหวัดสุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี และจังหวัดกาฬสินธุ์ รวมทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้ ผ่านช่องทางเวทีสัมมนางานวันกุ้ง เผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ เพจเฟซบุ๊ก (Facebook) ไลน์กลุ่ม (Line)เกษตรกร ยูทูป (Youtube) และเผยแพร่ผ่านการจัดสัมมนากลุ่มย่อยร่วมกับบริษัทจำหน่ายอาหารกุ้งและตัวแทนจำหน่าย
- ๕. ผลิตกุ้งก้ามกรามสายพันธุ์ปลอดเชื้อไวรัส ๗ ชนิด และมีอัตราการเจริญเติบโตมากกว่าสายพันธุ์ปกติ ๓๐% ตั้งแต่ระยะกุ้งพี ปรับการผลิตให้สามารถจำหน่ายกุ้งพีได้ทุกวัน และจำหน่ายได้ในราคาแพงกว่าสายพันธุ์ทั่วไป ๒ เท่า มีการส่งออกลูกกุ้งพี และนอเพลียสกุ้งไปต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย เมียนมา เติร์กเมนิสถาน และสาธารณรัฐประชาชนจีน และมีการทำสัญญาในการผลิตนอเพลียสกุ้งก้ามกรามและการจำหน่ายพ่อแม่พันธุ์เพื่อส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยฟาร์มลูกกุ้งเศรษฐีได้รับค่าองค์ความรู้(Knowhow) ในอัตรา ๗% ของยอดขายทั้งหมด และอยู่ระหว่างการเจรจาสัญญากับบังกลาเทศ ปากีสถานและมาเลเซีย
- ๖. ร่วมมือกับห้องเย็นเพื่อแปรรูปสินค้ากุ้งก้ามกรามทุกขนาด และรับซื้อกุ้งจากเกษตรกรที่เป็นลูกค้าและได้รับการรับรองมาตรฐานจีเอพี GAP และไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง โดยเป็นสัญญาที่ไม่ผูกมัดกับเกษตรกร กุ้งที่ซื้อตามสัญญาจะนำมาส่งเข้าห้องเย็นเพื่อแปรรูปทำเป็นกุ้งแช่แข็งหลายแบบเนื่องจากเป็นกุ้งที่เลี้ยงแล้วมีขนาดไม่สม่ำเสมอกัน

๗. ทำงานวิจัยร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ในหัวข้อการหาแหล่งพันธุ์ด้วยวรรณะและลายพิมพ์ดีเอ็นเอ และดำเนินการวิจัยเรื่องการขนส่งกุ้งก้ามกรามมีชีวิตแบบใช้น้ำน้อย และดำเนินการทดลองเพื่อผลิตลูกกุ้งเพศผู้หมัน 3n
๘. ส่งเสริมให้เกษตรกรในเครือข่ายและเกษตรกรทั่วไปเปลี่ยนมาเลี้ยงกุ้งก้ามกรามปนกุ้งขาว และการเลี้ยงรอบสั้น เพื่อให้สามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ต่อปีได้ ส่งเสริมและแนะนำาเกษตรกรที่เป็นลูกค้านำระบบ การเลี้ยงแบบ Bio-RAS ไปใช้ในการผลิต โดยมีการควบคุมคุณภาพการผลิต และมีการติดตาม ให้คำปรึกษากับฟาร์มที่ซื้อลูกพันธุ์ไปเลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ
เพื่อให้เกิดความสำาเร็จต่อเนื่อง

๙. ทำบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) กับคณะเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก จัดทำโครงการ Aquaculture academy คัดเลือกนักศึกษาที่มีใจรักในอาชีพเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกราม มาเข้าโปรแกรมฝึกฝนอาชีพอนุบาลลูกกุ้งระหว่างเรียน ฝึกงานกับทีมงานจริงของที่ฟาร์ม และสหกิจศึกษา โดยการฝึกปฏิบัติงานจริงเหมือนการทำงานในช่วงทดลองงาน หลังจากเรียนจบฟาร์มก็จะรับเข้าทำงาน
ความเป็นผู้นำและการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในด้านต่าง ๆ
๑. ปัจจุบันเป็นนายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทย โดยได้ร่วมเป็นกรรมการสมาคมกุ้งตะวันออกไทย เป็นระยะเวลา ๑๐ ปี และเป็นประธานชมรมผู้ผลิตลูกพันธุ์สัตว์น้ำ ๒ สมัย (ปี ๒๕๖๓-๒๕๖๗) โดยเป็นทีมผู้จัดงานสัตว์น้ำไทยซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่จังหวัดฉะเชิงเทรา
๒. ได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เป็นคณะกรรมการ Shrimp board ๓ วาระ และร่วมเป็นคณะกรรมการหลายคณะของกรมประมง เช่น เป็นคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของกรมประมง และเป็นคณะกรรมการวิชาการพิจารณามาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ.๗๔๓๒และ มกษ.๗๔๒๒
๓. เป็นคณะกรรมการพิจารณายกร่างหลักสูตร วท.บ. สาขาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และเป็นคณะกรรมการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาภายในให้กับคณะเกษตรศาสตร์ และทรัพยากรธรรมชาติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก
๔. เป็นคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพเกษตรกรรม สาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ
๕. เปิดฟาร์มให้เป็นแหล่งเรียนรู้และฝึกงานให้กับอาจารย์สถาบันอาชีวศึกษา นิสิต นักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ และเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับกลุ่มเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ และผู้ที่สนใจทั้งในประเทศและต่างประเทศ
๖. สนับสนุนทุนให้คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการผลิตสื่อการเรียนการสอนแจกจ่ายให้มหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ ที่สนใจ และมอบทุนการศึกษาเพื่อกิจกรรมพัฒนานักศึกษา ทำบุญบริจาคเงินและสิ่งของให้กับวัดเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและร่วมออกโรงทานจิตอาสาครบรอบวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙
๗. เผยแพร่ผลงานวิจัยที่ฟาร์มร่วมทำาการวิจัยเพื่อตีพิมพ์เป็นสาธารณะ และทำหนังสือ “เลี้ยงกุ้งง่าย ๆสไตล์เศรษฐี” เผยแพร่ความรู้เรื่องการจัดการพื้นฐานในการเลี้ยงกุ้งแจกจ่ายให้เกษตรกร
๘. ร่วมกับสำนักงานประมงจังหวัดฉะเชิงเทรา ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งฉะเชิงเทรา สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย ทำโครงการตลาดสัตว์น้ำปลอดภัย เพื่อนำสินค้าสัตว์น้ำของเกษตรกรในพื้นที่มาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคโดยตรงเพื่อแก้ไขปัญหาราคาสินค้าสัตว์น้ำตกต่ำในช่วงการระบาดของเชื้อ Covid-19
การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๑. ที่ตั้งฟาร์มไม่อยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนหรือเขตหวงห้ามของทางราชการ
๒.ใช้ระบบน้ำหมุนเวียนผ่านระบบกรองชีวภาพ(Bio Recirculating aquaculture systems: Bio-RAS) เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ และในระบบการผลิตลูกกุ้งระยะนอเพลียส เพื่อหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ใหม่ ไม่มีการทิ้งน้ำออกสู่ภายนอกโรงเพาะและภายนอกฟาร์ม ปรับโครงสร้างบ่อรับน้ำทิ้งจากโซนเลี้ยงโดยตัวบ่อจะอยู่ระดับต่ำกว่าบ่อเลี้ยงและอยู่ในโรงเรือนแล้วน้ำจะถูกปั้มผ่านระบบกรองชีวภาพก็จะได้น้ำที่มีคุณภาพน้ำดีวนกลับเข้าบ่อเลี้ยง ซึ่งน้ำจะหมุนเวียนอยู่ในระบบแบบนี้ลดการถ่ายน้ำได้มากกว่า ๙๐%
๓.โรงเพาะและฟาร์มอนุบาลจะใช้ระบบรีไซเคิลบ่อบำบัดนำเสียและบ่อพักน้ำในฟาร์มจะไม่มีการใช้สารเคมีที่เป็นพิษ หรือสารเคมีต้องห้ามที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและทำลายสิ่งแวดล้อม ตามที่กรมประมงกำหนดการเลี้ยงในบ่อดินใช้ระบบสมดุลจุลินทรีย์ควบคุมคุณภาพน้ำตลอดการเลี้ยงและลูกกุ้งที่ปล่อย เป็นลูกกุ้งที่ผ่านการคัดกรองและตรวจเชื้อมาแล้ว ทำให้ไม่ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อและยาปฏิชีวนะในระหว่างเลี้ยง กุ้งที่จับสามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย ส่งเสริมการปรับเปลี่ยน
รูปแบบการเลี้ยงจากการเลี้ยงกุ้งขาวล้วนมาเป็นการเลี้ยงกุ้งขาวปนกุ้งก้ามกรามเพื่อเป็นการลดความหนาแน่น
๔. ภายในฟาร์มมีเครื่อง PCR ในการตรวจการติดเชื้อโรคของกุ้ง หากตรวจพบเชื้อจะมีการทำลายทิ้งภายในฟาร์มเพื่อป้องกันการปนเปื้อนออกสู่สภาพแวดล้อมภายนอก มีการใช้บัสเลส DC ร่วมกับโซลาร์เซลล์ระบบไฮบริด ทำให้ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งตอนกลางวันและกลางคืน ใช้โบลเวอร์มอเตอร์แมกเนต ลดเสียงรบกวน บำบัดเลนด้วยการใช้รถไถตีเลน ไม่ต้องทิ้งเลนและลดต้นทุนในการเตรียมบ่อ
๕. สนับสนุนลูกกุ้งก้ามกรามในกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในโครงการหรือวันสำคัญต่าง ๆ