กรมวิชาการเกษตร แจ้งข่าวดี EU โดยรัฐสภายุโรปมีมติรับรองพืชที่ผ่านการปรับปรุงพันธุ์ด้วยเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม(GEd)และเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ มีความปลอดภัยสูง ไม่จัดเป็นพืช GMOs

577090

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร แจ้งข่าวดีรอบ 30 ปี EU โดย รัฐสภายุโรป (European parliament) มีมติรับรองเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม หรือเทคนิคจีโนมแบบใหม่ (GEd, New Genomic Techniques (NGTs), Genome editing) เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2567  เป็นผลให้ พืชที่ผ่านการปรับปรุงพันธุ์ด้วยเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม (GEd) และเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ มีความปลอดภัยสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่จัดเป็นพืช GMOs และจะถูกพิจารณาเช่นเดียวกับพืชที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์แบบปกติ ไม่ใช้กฎหมายและหลักเกณฑ์เดียวกันกับพืช GMOs อีกต่อไป

577091

ผลการลงมติในครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารของยุโรป และการทำให้การผลิตทางการเกษตรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  กฎระเบียบใหม่นี้จะอนุญาตให้มีการพัฒนาพันธุ์พืชที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น ซึ่งสามารถรับประกันผลผลิตที่สูงขึ้น ทนต่อสภาพอากาศและใช้ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงน้อยลง โดยในขั้นตอนหลังจากนี้ รัฐสภายุโรปจะดำเนินการเจรจากับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปในการร่างกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

577092

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า “ผลการลงมติของสหภาพยุโรปครั้งนี้ ตอบโจทย์ และสอดคล้องกับนโยบายของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงนโยบายของรัฐบาลอย่างถูกเวลา ซึ่งสมาชิกสภายุโรปเห็นความสำคัญในการนำเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม ซึ่งมีความปลอดภัยสูงต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม มาช่วยในการลดต้นทุนเพิ่มคุณภาพ และผลผลิตด้านการเกษตร ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร จะเร่งดำเนินการขับเคลื่อนเทคโนโลยี genome editing หรือ gene editing (GEd) ภาคเกษตรสู่ความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหาร และร่างหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนมสำหรับประเทศไทย”

577093

ปัจจุบันเทคโนโลยี GEd ได้รับการสนับสนุนจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO), OECD มี 13 ประเทศประกาศสนับสนุนในที่ประชุมองค์การการค้าโลก (WTO) การใช้ประโยชน์เมล็ดพันธุ์ร่วมกันทั้งเชิงการค้าและการบริโภค โดยกว่า 40 ประเทศทั่วโลก อาทิ แคนาดา อเมริกา บราซิล อาร์เจนตินา ชิลี ญี่ปุ่น จีน อังกฤษ สวิสเซอร์แลน ฟิลิปปินส์ เคนยา รัสเซีย และออสเตรเลีย ประกาศใช้นโยบาย No foreign DNA = not GMOs โดยถือว่าพืช GEd มีความปลอดภัยเช่นเดียวกับพืชปกติทั่วไป

577094

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า “กรมวิชาการเกษตรได้รับหนังสือจากนายวรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ประธานคณะกรรมการเทคนิคด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ (Technical Biosafety Committee – TBC) ลงวันที่ 26 มกราคม 2567 เรื่องการจัดทำ “แนวทางการพิจารณาเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม (genome editing)” เพื่อเป็นเกณฑ์ด้านเทคนิควิชาการสำหรับพิจารณาสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาโดยเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนมที่ไม่เข้าข่ายสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งถือเป็นข่าวดีใหญ่ 2 ข่าวดี ในรอบ 30 ปี ที่ประเทศไทยจะสามารถใช้เทคโนโลยี GEd ที่ไม่มียีนถ่ายฝากจากสิ่งมีชีวิตอื่น และแก้ไขพันธุกรรมที่มีความจำเพาะและแม่นยำ ทำได้ง่าย ใช้เวลาสั้น มีต้นทุนต่ำ ไม่ต่างจากการกลายพันธุ์ ที่สำคัญไม่ใช่ GMOs และเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีความปลอดภัยสูง”