สวทช. ผนึก คูโบต้า ขยายผล “นวัตกรรมระบบจัดการน้ำ”สู่ “พื้นที่สาธิตเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่”

ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะผู้อำนวยการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) พร้อมด้วย ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) โครงการพัฒนาพื้นที่สาธิตเทคโนโลยีด้านเกษตรสมัยใหม่ : ระบบจัดการน้ำ (HandySense) กับบริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด โดย นางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และนายรัชกฤต สงวนชีวิน ผู้จัดการฝ่าย Business Value Creation

ในการศึกษาวิจัยและพัฒนาพื้นที่สาธิตการเกษตรสมัยใหม่ ผ่านการใช้ระบบ HandySense ระบบเกษตรอัจฉริยะควบคุมการเพาะปลูก บริเวณโซนเกษตรทฤษฎีใหม่ คูโบต้าฟาร์มเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ให้ถึงมือเกษตรกรและชุมชนโดยรอบ ภายใต้ความร่วมมือในการสนับสนุนการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation, EECi) ณ คูโบต้าฟาร์ม จ.ชลบุรี

DSC07862 1536x1021 1
สู่พื้นที่สาธิต “เทคโนโลยีด้านเกษตรสมัยใหม่”

ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สวทช. ในฐานะผู้อำนวยการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) กล่าวว่า สวทช. ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการเป็นผู้จัดการโครงสร้างพื้นฐานวิจัยขยายผลรองรับอุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่ EEC ภายใต้ชื่อ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ซึ่งมีความก้าวหน้าในการพัฒนาเมืองนวัตกรรมในพื้นที่ พร้อมเปิดให้บริการในปลายปีนี้

อย่างไรก็ตาม สวทช. เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่สาธิตเทคโนโลยีในพื้นที่ 3 จังหวัดในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เพื่อร่วมสร้างต้นแบบ “การเกษตรสมัยใหม่” โดยบริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด มีหลักการพัฒนาเทคโนโลยีและคิดค้น “นวัตกรรมการเกษตร” เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าเครื่องจักรกลการเกษตรควบคู่กับการพัฒนาโซลูชั่นครบวงจร เพื่อสนับสนุนภาคเกษตรให้เป็น Smart Farm อีกทั้งยังได้พัฒนา คูโบต้าฟาร์ม ให้เกิดพื้นที่สร้างประสบการณ์การทำเกษตรสมัยใหม่ให้เกษตรกรและคนทั่วไปได้เข้าถึงทุกนวัตกรรมซึ่งถือเป็น Open Innovation Agricultural Farm ที่ใช้ได้จริง

อย่างไรก็ตามการร่วมมือทางวิชาการ ในโครงการพัฒนาพื้นที่สาธิตเทคโนโลยีด้านการเกษตรสมัยใหม่ ในพื้นที่คูโบต้าฟาร์มแห่งนี้ สวทช. มีการดำเนินงานโครงการ Smart Farm ร่วมคูโบต้าฟาร์มมาก่อนหน้าแล้ว คือ ระบบ Aqua IOT สำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและระบบ HandySense สำหรับการเพาะปลูก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของนักวิจัยเนคเทค สวทช.

นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือด้านระบบโรงเรือนอัจฉริยะ ของสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ สวทช. อีกด้วย

“ความร่วมมือระหว่าง สวทช. และบริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด นี้เป็นการบูรณาการจุดแข็งของทั้งสองฝ่าย เสริมสร้างศักยภาพในการขยายผลงานวิจัย พัฒนา สู่ภาคสนามการใช้ประโยชน์ในพื้นที่สาธิตขนาดใหญ่ สู่การใช้ประโยชน์ในเครือข่ายลูกค้า เครือข่ายเกษตรกร ผู้ประกอบการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร เพื่อการปรับแปลงเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับบริบทการใช้งานของภาคการเกษตรไทย นำไปสู่การขยายผลในด้านการตลาด ด้านอุตสาหกรรมเกษตร และด้านการพัฒนากำลังคน เพื่อให้พื้นที่สาธิตเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ ตอบโจทย์เป้าหมายร่วมกันในการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร และเสริมความเข้มแข็งของภาคการเกษตรของไทย” ดร.เจนกฤษณ์ กล่าว

นางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า คูโบต้า เล็งเห็นว่า สวทช. เป็นหน่วยงานพันธมิตรที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมการเกษตรให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้ร่วมมือกันในการสนับสนุนการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi กระทั่งเกิดเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่สาธิตเทคโนโลยีด้านเกษตรสมัยใหม่ : ระบบจัดการน้ำ HandySense โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพื้นที่สาธิตการเกษตรสมัยใหม่และศึกษาวิจัยแนวทางและรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับการเกษตรในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีการประยุกต์ใช้เครื่องมืออุปกรณ์ IoT ที่เหมาะสม และมีเทคโนโลยีต้นแบบในอนาคตให้กับผู้ที่สนใจการทำเกษตรแบบ Smart Farming โดยมีการติดตั้งระบบ HandySense ณ บริเวณโซนเกษตรทฤษฎีใหม่ คูโบต้าฟาร์ม และเตรียมการขยายผลสู่เกษตรกรที่สนใจทั่วประเทศ

อย่างไรก็ดีที่ผ่านมา เราได้พัฒนาความร่วมมือกับ สวทช. ในจัดทำพื้นที่ต้นแบบสาธิตการใช้เทคโนโลยี Smart Farming ในพื้นที่ คูโบต้าฟาร์ม แห่งนี้ เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรครบวงจรและสัมผัสการใช้งานเทคโนโลยีสมัยใหม่ผ่านประสบการณ์ตรง อีกทั้งส่งเสริมการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนให้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และมีความมั่นใจว่าความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนจะเป็นแรงขับเคลื่อนสาคัญในการพัฒนา Smart Farming ในประเทศไทยให้สามารถเกิดขึ้นจริง จากการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อยกระดับภาคการเกษตรของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

สำหรับระบบเกษตรแม่นยำฟาร์มอัจฉริยะ (HandySense) เพื่อการเพาะปลูก ประกอบด้วยอุปกรณ์ตรวจวัดและควบคุมสภาพแวดล้อมที่เป็นปัจจัยต่อการเจริญเติบโตของพืช ด้วยการนำเทคโนโลยีเซนเซอร์ (sensor) ผนวกอุปกรณ์ไอโอที (Internet of Things) มาพร้อมกับความโดดเด่นคือ อุปกรณ์ใช้งานง่าย ทนทานต่อสภาพแวดล้อม ในราคาที่เกษตรกรเข้าถึงได้ โดย HandySense จะตรวจวัดค่าสภาพแวดล้อมที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชผลแบบเรียลไทม์ผ่านเซนเซอร์ (sensor) ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ ความชื้นในดิน ความชื้นสัมพัทธ์ แสง และส่งต่อข้อมูลจากเซนเซอร์ผ่านระบบคลาวด์แล้วนำมาเปรียบเทียบกับค่าที่เหมาะสมของการเพาะปลูกพืช (Crop Requirement) เพื่อแจ้งเตือนและสั่งการระบบต่าง ๆ ให้ทำงานต่อไป

“มีการติดตั้งใช้งานไปแล้วมากกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ และประกาศเป็นเทคโนโลยีแบบเปิด (Open Innovation) เพื่อให้ผู้สนใจนำไปใช้กับแปลงเกษตรและเชิงพาณิชย์ได้แล้ว โดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ (License Fee) และค่าตอบแทนการใช้สิทธิรายปี (Royalty Fee) มุ่งหวังให้เกษตรกรไทยยุคใหม่ ได้มีเครื่องมือที่ทันสมัยใช้งานในราคาที่จับต้องได้ และต้องการให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือทางด้านสมาร์ทฟาร์มโดยผู้ประกอบการไทย” นางวราภรณ์  กล่าว