มช. ยกระดับสมุนไพรไทย มุ่งวิจัยยาป้องกันหลอดเลือดสมองตีบ

โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประเทศ กรมควบคุมโรคระบุว่า ในปีที่ผ่านมาทั่วโลกพบมีผู้ป่วย 13.7 ล้านคน โดย 1 ใน 4 มีอายุ 25 ปีขึ้นไป เสียชีวิต 5.5 ล้านคน ประเทศไทยในปี 2562 มีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง 34,728 คน เพศชาย 20,034 คน และเพศหญิง 14,694 คน (ที่มา สถิติสาธารณสุข พ.ศ.2562)

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย คณะแพทยศาสตร์ ได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ วิจัยพืชสมุนไพร เพื่อใช้ในการป้องกันและรักษาโรคเส้นเลือดในสมองตีบหรือ Stroke ในกลุ่มผู้สูงอายุ พร้อมด้วยนักวิชาการเข้าส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมการดูแลสุขภาพ โดยใช้วัตถุดิบที่อยู่ในท้องถิ่น

fresh ginger root sliced wooden table scaled
ขิง


จากความสำคัญดังกล่าวทำให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งเน้นศึกษาวิจัยเชิงสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะสมุนไพรพื้นถิ่นของไทย พบว่าขิง พุทราจีน และเห็ดหูหนูดำ มีสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบของเซลล์ ส่งผลต่อการรักษาผู้ป่วยเส้นเลือดตีบในสมอง ผลบ่งชี้ของ จินเจอรอล (Gingerol) ที่มีในขิง ช่วยให้การไหลเวียนในหลอดเลือดดีขึ้น ลดการอุดตันของเส้นเลือด นำไปสู่การศึกษาวิจัยในร่างกายมนุษย์ หากผลทางคลินิกสำเร็จ จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนเพื่อผลิตเป็นยา ประกอบความพร้อมขององค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ อาจทำให้เราได้เห็นยารักษาโรคร้ายออกมาอีกมากมาย ช่วยลดการนำเข้ายาราคาแพงได้ในอนาคต เนื่องจากเป็นการใช้พืชสมุนไพรจากเกษตรกรในประเทศเอง สามารถช่วยบรรเทาปัญหาการขาดรายได้จากผลผลิตล้นตลาดได้อีกทาง

jujube scaled
พุทราจีน


มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พร้อมผลักดันทุกงานวิจัย รวมถึงสร้างผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ ยกระดับสมุนไพรไทยให้มีความเป็นมาตรฐานสากล เพื่อพัฒนาขีดความสามารถทางการศึกษาและทางการแพทย์ ควบคู่ไปกับการประยุกต์ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการรักษาโรค หรือด้านการบูรณาการความรู้แก่ชุมชนให้ ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม ตลอดจนสอดรับกับ BCG Model แผนการดำเนินงานเชิงรุกของมหาวิทยาลัย ในด้านอาหารสุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุ อันจะนำไปสู่ความเป็นเลิศและการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

Screenshot 2022 04 23 130403
เห็ดหูหนูดำ