ลุยวิจัยเต็มสูบ “น้ำผึ้งชันโรง” ขยายผลสู่ 3 จังหวัดนำร่อง เล็งปั้นเทียบ มานูก้านิวซีแลนด์

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือ “Big Brothers…นำชุมชนสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม…น้ำผึ้งชันโรง” ร่วมด้วย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นายปรีดาวัชรเธียรสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยโพลิเอททีลีน จำกัด ในเอสซีจี เคมิคอลส์ ผู้บริหารจากสมาชิกเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพผู้เลี้ยงชันโรงบ้านทับมา คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) และสื่อมวลชน ณ ห้องบอลรูม 3 ชั้น 2 โรงแรม เดอะ สุโกศล ราชเทวี

ประกาศเจตนารมณ์ “Big Brothers…นำชุมชนสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม…น้ำผึ้งชันโรง” ในครั้งนี้เป็นการผนึกกำลังของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดย ดีพร้อม ได้มีส่วนร่วมในด้านของการพัฒนาชุมชน สังคมไทยที่ยังมีความต้องการความช่วยเหลืออีกหลายเรื่องหลายปัญหาและหลายพื้นที่ พร้อมเป็นเสาหลัก เป็นโซ่ข้อกลาง เชื่อมประสาน ทุกองค์กรสมาชิกมุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนไทยให้แข็งแกร่ง บนฐานการพัฒนาที่มั่นคงและสมดุลย์

%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B9%8C%E0%B9%82%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%94
ลุยวิจัยเต็มสูบพัฒนา “น้ำผึ้งชันโรง”

ซึ่งการบูรณาการระหว่างหน่วยงานในครั้งนี้ เพื่อเป็นพี่เลี้ยงช่วยเหลือและเพิ่มรายได้ให้กับวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรฟาร์มผึ้ง โดยการพัฒนาการเพาะเลี้ยง“ชันโรง”และ “ผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งชันโรง” อย่างครบห่วงโซ่คุณค่าผลิตภัณฑ์ ก่อเกิดผลผลิตที่สามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี ผ่านพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดระยอง สมุทรปราการและลำปาง

ซึ่งจะแบ่งบทบาทพี่เลี้ยงออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มสนับสนุนการวิจัย และ กลุ่มพี่เลี้ยงพัฒนาการเลี้ยงชันโรงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่ง ดีพร้อม ได้มุ่งเน้นงานวิจัยพร้อมหลักสูตรอบรมที่จะพัฒนาการเพาะเลี้ยง และสูตรอาหารเพื่อให้ชันโรงในภาคตะวันออก โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดระยองและภาคกลางจังหวัดสมุทรปราการ ให้เติบโตได้อย่างสมบูรณ์และให้ผลผลิตต่อเนื่องตลอดทั้งปี รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมเพิ่มทักษะ และพื้นที่ดูงานเพื่อให้วิสาหกิจชุมชนอื่น ๆ หรือบุคคลที่สนใจในท้องถิ่นสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนในด้านของกลุ่มพี่เลี้ยงพัฒนา “การเลี้ยงชันโรง “และพัฒนาผลิตภัณฑ์ จะช่วยดูแลด้านการขยายจำนวนเครือข่ายผู้เลี้ยงชันโรง โดยพัฒนาศักยภาพการเพาะเลี้ยงผ่านการฝึกอบรม เพิ่มผลผลิตและติดตามให้คำปรึกษา รวมถึงสนับสนุนการเพาะเลี้ยง “ชันโรง”ในพื้นที่จังหวัดนำร่องดังกล่าวเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้าของ “ชันโรงระยอง” “ชันโรงบางน้ำผึ้ง” และ “ชันโรงลำปาง” ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น และพัฒนาในส่วนของขีดความสามารถในการเพิ่มผลผลิตน้ำผึ้งชันโรงให้มีปริมาณมากกว่า 5 ลิตรต่อวันต่อพื้นที่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าในระยะเริ่มต้นได้ไม่น้อยกว่าปีละ 20 ล้านบาท

พร้อมตั้งเป้าหมายในระยะต่อไป คือ การยกระดับจากแบรนด์สินค้าประจำจังหวัด ไปสู่แบรนด์สินค้าระดับประเทศ ที่มีคุณภาพผลิตภัณฑ์และคุณภาพของสารอาหารเฉพาะ เทียบเท่าน้ำผึ้งมานูก้า (Manuka Honey) สินค้าขึ้นชื่อของประเทศนิวซีแลนด์ ที่ได้รับความนิยมทั่วโลกสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศในปีที่ผ่านมามูลค่ากว่า 1.24 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ยังมีการเสวนา “แนวคิดของพี่เลี้ยง ต่อการส่งเสริมการเลี้ยงชันโรง” ระหว่าง บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย และ บริษัทไทยโพลิเอททีลีน จำกัด ในเอสซีจี เคมิคอลส์ภายในงานดังกล่าวอีกด้วย