กว่าจะเป็น “ไม้ผลอินทรีย์” สร้างรายได้ 7 แสนบาท/ปี

ทุเรียนสื่อถึงไม้ผลที่ปลูกในระบบอินทรีย์ยากที่สุด ส่วนผึ้งเป็นตัวแทนแมลงที่ดีในระบบนิเวศ รัฐไท พงษ์ศักดิ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรเพื่อสุขภาพบ้านปัถวี อ.มะขาม จ.จันทบุรี บอกถึงความหมายของโลโก้ “ปัถวีโมเดล” ที่มีสมาชิก 22 สวนในอ.มะขาม จ.จันทบุรี และเครือข่ายอีกกว่า 20 สวนจาก 6 อำเภอในจังหวัดจันทบุรีที่ผลิตผลไม้อินทรีย์ภายใต้มาตรฐาน Organic Thailand

รัฐไท เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาพืชอินทรีย์ ปี 2562 เป็นหนึ่งในเกษตรกรที่พลิกวิถีการทำสวนไม้ผลจากระบบเคมีเป็นระบบอินทรีย์มาตั้งแต่ปี 2541 ด้วยเหตุผลที่ไม่ต่างจากคนหัวใจอินทรีย์อีกหลายคน นั่นคือ ผลกระทบต่อสุขภาพ

เขาเริ่มต้นจากหยุดการใช้สารเคมี ปรับลดการใช้ปุ๋ยเคมี และแสวงหาสิ่งที่จะทดแทนสารเคมีกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช โดยหาความรู้จากทุกแหล่งทั้งจากปราชญ์ชาวบ้าน หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงองค์กรอิสระอย่างศูนย์การเรียนกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ที่ทำให้เขาได้แนวคิด “ศรัทธาว่าต้องทำได้” เป็นแรงขับสำคัญ

“หาความรู้หลากหลาย เพราะไม่มีใครมีความรู้ชัดในเรื่องไม้ผลและระบบนิเวศ สมัยนั้นเขาจะแนะนำให้ใช้สะเดา น้ำส้มควันไม้ ถ้าระบาดไม่เยอะก็เอาอยู่ แต่ถ้าระบาดเยอะเอาไม่อยู่ ก็ต้องปล่อยให้เสียหาย”

รัฐไท ใช้เวลาเป็น 10 ปีกับการเรียนรู้ ทดลอง และปรับประยุกต์ใช้สมุนไพรในพื้นที่ เช่น หนอนตายอยาก สะเดา ยาสูบ บอระเพ็ด ฯลฯ เป็นวัตถุดิบทำสูตรน้ำหมักกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช พร้อม ๆ กับเรียนรู้การใช้สารชีวภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ ทั้งไตรโคเดอร์ม่าและบิวเวอเรีย

DSC 8602 768x512 1
ไม้ผลอินทรีย์

“ลองมาเยอะจนทุเรียน เงาะตายไปหลายร้อยต้น จนได้สูตรที่เหมาะ ทำสวนเคมีและอินทรีย์ไม่ต่างกัน เป็นโรคเหมือนกัน แต่พอรักษาหายแล้ว อินทรีย์ดีกว่า มันไม่ระบาดเยอะ การรักษาแบบเคมีก็เหมือนการทำคีโม เชื้อดีเชื้อโทษตายหมด พอเชื้อดีตายหมด เชื้อโทษที่มาทีหลังมีโอกาสมาระบาดอีก ทำแบบอินทรีย์เน้นป้องกันและยับยั้ง ข้อดีสมุนไพร ใช้ได้ตลอด ถ้าระบาดเยอะ 2 ครั้ง/อาทิตย์ ถ้าไม่เยอะก็ทุก 7-10วัน /ครั้ง ต้นทุนค่าแรงอาจสูงกว่า เพราะต้องฉีดพ่นบ่อยกว่า แต่ต้นทุนการผลิตต่ำกว่า เพราะสมุนไพรก็มีในพื้นที่”  

ความมุ่งมั่นและการศรัทธาว่าต้องทำได้ เป็นแรงผลักดันให้ รัฐไท ยืนหยัดกับวิถีการทำสวนไม้ผลอินทรีย์ สร้างรายได้เฉลี่ย 7 แสนบาท/ปี เป็นต้นแบบให้สมาชิกเดินตาม โดยมีตลาดโมเดิร์นเทรดรองรับและยังมีสวนท่องเที่ยวของกลุ่มที่เปิดรับนักท่องเที่ยวโดยตรง แม้ผลผลิตที่ได้ภายนอกจะไม่สวยงาม แต่สิ่งที่ กลุ่มปัถวีโมเดล การันตีคือ รสชาติและความใส่ใจการผลิตที่เน้นความปลอดภัยทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งอาจมองเห็นเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจได้ไม่ชัดเจนเท่าคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพวกเขา

“อย่างมังคุดไม่ต้องสวย 100% เราก็ขายได้ เราขายเนื้อในและรสชาติ หรือทุเรียน รูปร่างอาจไม่ห้าพูเต็ม แต่รสชาติอร่อย เราขายตรงนี้ เรารับประกัน ถ้ามีปัญหาเคลมคืน ที่ผ่านมามีตีกลับบ้าง พอผลผลิตเยอะ การคัดแยกอาจมีปัญหา สุดท้ายก็ต้องไปดูที่แปลง แนะนำจัดการแต่ละแปลงให้ทำเชิงปราณีต อย่างทุเรียนหนึ่งต้นมีหลายรุ่น ต้องจดบันทึกว่ากิ่งไหนเป็นของรุ่นไหน ตัดให้ได้ตามอายุจะไม่มีปัญหา ทำเชิงปราณีต ดูแลทุกลูก ระบบอินทรีย์ต้องดูแลเชิงปราณีต ไม่ใช่ปล่อยปละไม่ดูแลเลย”

กว่า 20 ปีที่ รัฐไท ทดลอง เรียนรู้ และเปิดรับจากผู้อื่น สั่งสมเป็นแนวทางการทำสวนอินทรีย์ที่สมาชิกในกลุ่มและเครือข่ายได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทุก ๆ วันที่ 20 ของเดือน ต่อยอดกลายเป็นศูนย์วิจัยเกษตรภาคประชาชน ที่มีทั้งเกษตรกร อาจารย์มหาวิทยาลัย และนักวิชาการจากหน่วยงานภาครัฐเข้าร่วม

การทำสวนผลไม้ สุดท้ายต้องตอบทางวิทยาศาสตร์ได้ ผลผลิตเราได้คุณภาพเพราะอะไร อย่างบอกว่ามังคุดหวาน 24 บริกซ์เพราะอะไร จะบอกปากเปล่าก็ไม่ได้ ต้องมีเครื่องวัด แล้วหวานเพราะอะไร เพราะจัดการโครงสร้างดินให้มีอาหารเพียงพอ สูตรน้ำหมักหรือปุ๋ยที่ผลิตได้ ผมส่งตรวจหาสารพิษ หาคุณค่าทางอาหารหลักอาหารเสริม มีค่า NPK พอหรือไม่

ด้วยการแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่องและหลากหลาย จึงไม่ใช่เรื่องยากที่ รัฐไท เปิดรับความรู้และเทคโนโลยีจากสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. แม้จุดเริ่มต้นของการรู้จักกันจะเป็นเรื่องสมาร์ทเทคโนโลยีก็ตาม แต่ลงท้ายกลับได้ความรู้เรื่องการตรวจวิเคราะห์บิวเวอเรีย การใช้จุลินทรีย์ช่วยย่อยสลาย การให้ความรู้เรื่องแมลงตัวดี-ตัวร้าย การผลิตปุ๋ยหมักสูตรแม่โจ้ หรือแม้แต่การปลูกผัก ซึ่งล้วนสอดคล้องกับความสนใจของเขาและสมาชิก อีกทั้งยังทำให้พวกเขาได้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ จากที่อาศัยภูมิปัญญาชาวบ้านและประสบการณ์

การใช้สารชีวภัณฑ์ ต้องเรียนรู้ให้หลากหลาย บิวเวอเรียมีหลายหน่วยงาน วิธีทำแตกต่างกันบ้าง เราก็ได้เรียนรู้การตรวจสอบเชื้อบิวเวอเรียที่เราผลิต ก็ยังมีปัญหาเชื้อปนเปื้อน ส่วนหนึ่งเพราะห้องเขี่ยเชื้อเรายังไม่ได้คุณภาพ ซึ่งก็เป็นแผนของกลุ่มฯ ที่จะทำห้องให้ถูกต้อง

เช่นเดียวกับการทดลองใช้จุลินทรีย์ย่อยสลาย การผลิตปุ๋ยหมักไม่พลิกกลับกอง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ สวทช. ให้ทุนสนับสนุนการวิจัย รัฐไท บอกว่า เชื้อแข็งแรงมาก ทดลองใช้ย่อยกองปุ๋ยได้ดี ปุ๋ยที่ได้เอาไปตรวจคุณภาพ มีธาตุอาหารค่อนข้างสูง ส่วนผักอินทรีย์เป็นอีกทางเลือกของสมาชิก ตลาดต้องการอยู่แล้ว การได้เจอ สวทช. ทำให้เรามีความรู้และเครือข่ายการปลูกผักอินทรีย์เพิ่มขึ้น

สำหรับเรื่องแมลงตัวดี-ตัวร้ายที่ สท. ได้เข้าไปให้ความรู้ เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สร้างความเข้าใจให้เกษตรกรมากขึ้น หลายคนกลับไปสำรวจแมลงในสวนตนเอง รัฐไท ก็เช่นกัน เขาถ่ายรูป/คลิปวิดีโอสอบถามชนิดแมลง วิธีการกำจัดและควบคุมจากเจ้าหน้าที่ สท. อยู่บ่อยครั้ง