กสก.หนุนชุมชนผสมปุ๋ยใช้ลดต้นการผลิต-ทดแทนปุ๋ยแพง

กรมส่งเสริมการเกษตร โชว์ความสำเร็จศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนท่าช้าง จังหวัดสงขลา พลิกวิกฤติช่วงปุ๋ยแพง ปรับสูตรแม่ปุ๋ยเสริมธาตุอาหารร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เล็งขยายไปยังชุมชนข้างเคียง เพื่อไม่ให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเกินความจำเป็น แต่ให้หันมาใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินแทน

นางอัญชลี สุวจิตตานนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวภายหลังนำคณะสื่อมวลชนติดตามและตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานของศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน(ศดปช.)ตำบลท่าช้าง อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา เมื่อ 5 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมาว่า ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านดินและปุ๋ยของชุมชน ทำให้ที่ผ่านมาสมาชิกในชุมชนและบุคคลภายนอกหันมาใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินมากขึ้น หรือการใส่ปุ๋ยตามสูตร4R คือถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกเวลา และถูกตำแหน่ง เพื่อลดต้นทุนการผลิต และไม่ให้เกิดการใช้ปุ๋ยแบบสิ้นเปลืองเหมือนที่ผ่านมา ถือเป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็งมาก ทำให้ได้รับรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ศูนย์จัดการดินปุ้ยชุมชน ระดับเขต เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา

05BBC00D 9F45 4871 8162 A2C5B54BDF42

“ในช่วงที่ปุ๋ยมีราคาแพง ศดปช.ตำบลท่าช้าง สามารถผสมปุ๋ย โคยใช้แม่ปุ๋ยสูตร 46-0-0, 18-46-0 และ0-0-60 มาผสมกับธาตุอาหารรอง เพื่อเป็นสารเติมเต็มให้แก่ผู้ที่สนใจสั่งซื้อ ทำให้ราคาปุ๋ยลดลงแต่พืชยังคงได้ธาตุอาหารเพียงพอ โดยได้รับการสนับสนุนเครื่องผสมแม่ปุ๋ยจากกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตให้ครอบคลุมสมาชิกมากขึ้น ทำให้เกษตรกรลดต้นทุนค่าปุ๋ยได้อย่างต่อเนื่องนอกจากนี้ยังได้ผลิตปุ๋ยเคมี-อินทรีย์ จากมูลสัตว์หมัก เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรปรับปรุงบำรุงดินและส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมีเพื่อลดต้นทุน และเพิ่มผลิตการเกษตรอีกด้วย”รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

20D46315 368A 46BC B9EF DC309FF6EEF0

ด้าน นายกฤตภาส สนิทมิสโร กรรมการศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนตำบลท่าช้าง กล่าวว่า ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนตำบลท่าช้าง จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 ตามนโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตร ให้จัดตั้งศูนย์จัดการดินและชุมชน อำเภอละ 1 ศูนย์ ปัจจุบันมีสมาชิก 34 ราย เป็นเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในพื้นที่รวม 241 ไร่ ลดต้นทุนค่าปุ๋ยได้ปีละกว่า 90,037 บาท จากการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินในสวนยางพารานอกจากนี้ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนตำบลท่าช้าง ยังเปิดช่องทางขายทั้งตลาดทั่วไปและตลาดออนไลน์ ผ่านFacebook และช่วยจัดหาและจำหน่ายปัจจัยการผลิต ทำให้สมาชิกซื้อปัจจัยการผลิตได้ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด ช่วยลดต้นทุนการผลิต พืชผลการเกษตรมีคุณภาพ และมีรายได้ยั่งยืน

“ในอนาคตทางศูนย์ฯ มีแผนส่งเสริมเกษตรกรในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง หันมาใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินเพิ่มมากขึ้น ควบคู่การส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมีเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน และวางแผนการพัฒนาผลิตปุ๋ยทางใบ เพื่อจำหน่ายให้แก่เกษตรกรชาวสวนผลไม้ ให้ได้ใช้ปุ๋ยทางใบที่มีคุณภาพดีและราคาถูกกว่าท้องตลาด เพื่อเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และเพิ่มรายได้ให้กับศูนย์ฯ ต่อไป” นายกฤตภาส กล่าว

92FF841C 459D 4085 8AE7 A53950DC802D

นอกจากนี้กรมส่งเสริมการเกษตร ยังพาคณะสื่อมวลชนเข้ารวมทำข่าว เทศกาลผลไม้ และของดีชายแดนใต้ ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัลหาดใหญ่ ศึกษาดูงานกลุ่มแปลงใหญ่กล้วยหอมทอง สวนนายปานอำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง โดยทางกลุ่มมีความโดดเด่นด้านการตลาดและช่องทางการจำหน่ายสินค้าและดูต้นแบบการบริหารจัดการสวนสะละลุงถัน อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในมิติการเกษตรเชิงท่องเที่ยว