การพัฒนาเกษตรอัจฉริยะมณฑลเจียงซี ไทยสามารถเรียนรู้เพื่อพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรไทยในตลาดโลก

อุตสาหกรรมการเกษตรเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของมณฑลเจียงซี โดยในปี 2564 เจียงซีมีมูลค่าการผลิตทางการเกษตรประมาณ 4 แสนล้านหยวน เท่ากับร้อยละ 13 ของมูลค่า GDP ทั้งมณฑล หรือร้อยละ 8.6 ของมูลค่าการผลิตทางการเกษตรทั้งประเทศ

มณฑลเจียงซีโดยกรมการเกษตรและชนบทมุ่งดำเนินนโยบายการพัฒนาการเกษตรอัจฉริยะ “123+N” กล่าวคือ (1) การเร่งสร้างศูนย์ข้อมูลการเกษตรของมณฑลเจียงซี (2) การสร้างศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรการเกษตร และ (3) การสร้างแพลตฟอร์ม IoT ทางการเกษตร ศูนย์การควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเพื่อเป็นช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร + N คือ การสร้างระบบที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น ระบบการปลูก การเพาะเลี้ยง และการบังคับใช้กฎหมายด้านการเกษตร

5 1
เกษตรอัจฉริยะของมณฑลเจียงซี

โดยมณฑลเจียงซีได้ร่วมมือกับบริษัท Nongxintong Group ผู้ให้บริการระบบข้อมูลด้านการเกษตรและโครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ตด้านการเกษตรซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงปักกิ่ง เพื่อมุ่งพัฒนาเกษตรอัจฉริยะใน 4 ด้านสำคัญ ได้แก่

(1) การส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ดังนี้ 1) การจัดตั้งแพลตฟอร์ม IoT ทางการเกษตรในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมการเกษตรหลัก 5 แห่งของมณฑลเจียงซี ได้แก่ อำเภอหนานชาง อำเภอหย่งซิ่ว เมืองเฟิงเฉิง เมืองเล่อผิง และเขตชิงหยวน 2) การจัดตั้งระบบ Cloud Data สำหรับการเกษตร เพื่อเก็บข้อมูล ควบคุม ตรวจสอบ และประมวลผลเพื่อแก้ปัญหาการทำเกษตร อาทิ การตรวจจับแสง อุณหภูมิและความชื้นในดิน การเจริญเติบโตของพืช คุณภาพน้ำ ศัตรูพืช การชลประทานและการใส่ปุ๋ยด้วยระบบอัจฉริยะ ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันระบบ Cloud Data ครอบคลุมพื้นที่ 10,000 หมู่บ้านของ 100 ตำบลใน 11 เมืองของมณฑลเจียงซี 3) การจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนานเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร อาทิ การใช้โดรนเพื่อสำรวจพื้นที่เพาะปลูก การใช้เครื่องมือที่มีความแม่นยำสูงเพื่อปรับสัดส่วนปุ๋ย ปริมาณการให้น้ำ และการได้รับแสง ตลอดจนการออกแบบระบบชลประทานอัตโนมัติ

(2) การพัฒนาศักยภาพของเกษตรกร อาทิ การจัดฝึกอบรมเกษตรกรเพื่อให้ความรู้ด้านการพัฒนาสายพันธุ์พืช การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร และการใช้เครื่องจักรกลอัตโนมัติ

(3) การพัฒนาขีดความสามารถของวิสาหกิจ อาทิ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในกระบวนการผลิต การแปรรูปสินค้า และการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งส่งเสริมการบ่มเพาะวิสาหกิจการเกษตรอินทรีย์ซึ่งมีการทำการเกษตรยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า 2,000 ราย ภายในปี 2565

(4) การจัดตั้งศูนย์บัญชาการเพื่อการเกษตร เพื่อส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านการเกษตร อาทิ โรคระบาดในสัตว์และพืช และข้อมูลด้านความปลอดภัยและคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร โดยมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลจากศูนย์บัญชาการเพื่อการเกษตรของมณฑลเจียงซีไปยังฐานการปลูกและเพาะเลี้ยงพันธุ์พืชและฟาร์มเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรแบบ real-time

นอกจากนี้ รัฐบาลเจียงซีมุ่งยกระดับอุตสาหกรรมการเกษตรด้วยระบบดิจิทัลในพื้นที่ชนบท โดยตั้งเป้าหมายการเพิ่มมูลค่าเกษตรอัจฉริยะเป็นร้อยละ 50 ของมูลค่าการผลิตขั้นปฐมภูมิของทั้งมณฑล เร่งการก่อสร้างฐานสาธิตการเกษตรดิจิทัล Metaverse & VR บนพื้นที่ 144 ไร่ที่เขตหงกูถาน นครหนานชาง ด้วยเงินลงทุน 200 ล้านหยวน ประกอบด้วย นาข้าว 87.5 ไร่ โรงเรือนอัจฉริยะที่ติดตั้งระบบติดตาม การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและควบคุมการพ่นละอองน้ำเพื่อช่วยลดอุณหภูมิบนพื้นที่ 29 ไร่ และพื้นที่การทำเกษตรแบบหมุนเวียน 27.5 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2565

ตัวอย่างการนำเทคโนโลยี VR มาประยุกต์ใช้ในมณฑลเจียงซี

เมืองก้านโจว มณฑลเจียงซีร่วมมือกับสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์การเกษตรที่มีชื่อเสียงของจีนอย่าง Chinese Academy of Agricultural Sciences ในการสร้างสวนสาธิตการเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งเป็นสวนปลูกองุ่น ที่ใช้เทคโนโลยี 5G+VR โดยมีการรวบรวมข้อมูลและประมวลผลด้วย Big Data เพื่อวิเคราะห์สภาพการเพาะปลูก

รวมทั้งมีการติดตั้งระบบการรับรู้ความกดอากาศ แสง อุณหภูมิ และความชื้นในไร่องุ่น โดยเกษตรกรสามารถเรียกดูข้อมูลที่เกี่ยวข้องผ่านแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือด้วยมุมมอง 720 องศา และสามารถควบคุมและสั่งการ อาทิ การเปิด/ปิดระบบชลประทานและการใส่ปุ๋ยในไร่องุ่นแบบ real-time

บริษัท Jiangxi Isuzu Motors จำกัด ผู้วิจัยและผลิตรถกระบะและรถบรรทุกขนาดเล็กรายใหญ่ของมณฑลเจียงซี และบริษัท Lianchuang Electronic Technology จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยี VR ชั้นนำของมณฑลเจียงซี ร่วมมือกับบริษัท Guangzhou Xaircraft Technology จำกัด ผู้วิจัยและผลิตโดรนเพื่อการเกษตรรายใหญ่ของจีน เพื่อนำเทคโนโลยี VR เทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับอัจฉริยะ AI และ IoT มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนารถบรรทุกขนาดเล็กไร้คนขับสำหรับการขนส่งผลผลิตทางการเกษตรอัจฉริยะ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการใช้รถบรรทุกขนาดเล็กไร้คนขับประมาณ 200 คันในการขนส่งสินค้าทางการเกษตรภายในนครหนานชางแล้ว

มณฑลเจียงซีเป็น 1 ในมณฑลต้นแบบของจีนที่มีการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของอุตสาหกรรมอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ และอุตสาหกรรม VR ที่แข็งแกร่งในการเร่งขับเคลื่อนภาคการเกษตรอัจฉริยะอย่างเป็นระบบตั้งแต่การควบคุมการเพาะปลูกที่เหมาะสม ตรวจสอบคุณภาพผลผลิต  การขนส่ง รวมทั้งระบบการเผยแพร่ข้อมูลด้านการเกษตร และเร่งขยายการพัฒนาให้ครอบคลุมทุกเมืองและพื้นที่ชนบทห่างไกลของมณฑล

โดยในปี 2564 ปริมาณการผลิตทางการเกษตรของมณฑลเจียงซีสูงเป็นอันดับ ที่ 13 ของจีน สำหรับไทยที่มีเป้าหมายการพัฒนาระบบการเกษตรแบบดั้งเดิมสู่การทำเกษตรอัจฉริยะหรือเกษตร 4.0 จึงสามารถเรียนรู้และศึกษารูปแบบการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะของมณฑลเจียงซี รวมถึงการพิจารณาสำรวจความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา และการขยายผลเทคโนโลยีด้านการเกษตรใหม่ ๆ ตลอดจนการเร่งพัฒนาทักษะของเกษตรกรในการเข้าถึงเครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากยิ่งขึ้น อันจะช่วยพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของไทยในตลาดโลกต่อไป