นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 และคณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร4.0 ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมผ่านระบบทางไกลออนไลน์ ZOOM Cloud Meeting ครั้งที่ 5/2565 พร้อมด้วย นายวุฒิพงศ์ เนียมหอม รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)
นายโฆสิต สุวินิจจิต ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร (Agribusiness) นายกฤชฐา โภคาสถิตย์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน E-Commerce ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ นายฉันทานนท์ วรรณเขจร ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน Big Data และ Gov Tech นายสัญชัย รัศมีจีรวิไล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ศทส.) ดร.เจษฎา วิชาพร รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร รศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี รศ.ดร.พัชรศักดิ์ อาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี นายสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย และนายจิตติศักดิ์ ศรีปัญญา ผู้อำนวยการกองนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืน ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการฯ อีกทั้ง ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง ภาคการศึกษา ภาคเอกชน และศูนย์ AIC จากทั่วประเทศ 492 ราย ร่วมประชุมติดตามผลการดำเนินงานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้าน Big Data และ Gov Tech ด้านเกษตรอัจฉริยะ ด้าน E-Commerce และด้านธุรกิจเกษตร (Agribusiness)
โดยที่ประชุมได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฯ ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 ดังนี้
1.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร (Agribusiness) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานผลความก้าวหน้าการดำเนินงานผลการส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าเกษตรผ่านระบบออนไลน์ มีมูลค่าการจำหน่ายสินค้า จากวันที่ 27 เมษายน 2563 ถึง วันที่ 15 ตุลาคม 2565 เป็นเงินจำนวน 523,792,120 บาท และในการขับเคลื่อนบูรณาการงานด้านการส่งเสริมธุรกิจเกษตร จะมีการจัดงาน Creative and Innovation for Agribusiness ระหว่างวันที่ 18 – 20 พฤศจิกายน 2565 ณ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.)โดยคณะทำงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์เชิงเกษตร เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน
2.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน E-Commerce ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานผลความก้าวหน้าการดำเนินงาน ในความพร้อมและการขายสินค้าเกษตรแบบพรีออร์เดอร์ และการจัดฝึกอบรมเกษตรกรรายย่อยด้านช่องทางการทำตลาดออนไลน์ ผ่านช่องทาง Tiktok
3.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานความก้าวหน้าการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะ ปี 2565 – 2566 จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ (1) การพัฒนา IoTs Platform สำหรับการผลิตทุเรียนแปลงใหญ่อัจฉริยะ (2) แอปพลิเคชันทำนายและตรวจวิเคราะห์ศัตรูพืช (โรคพืช แมลงศัตรูพืช และวัชพืช) ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) (3) การพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตร (เครื่องสาง+เครื่องม้วนใบอ้อย) เพื่อแก้ปัญหาการเผาอ้อย และความก้าวหน้าการเชื่อมโยงและเข้าถึงข้อมูลสภาพอากาศของเกษตรกรเพื่อสนับสนุนการทำเกษตรอัจฉริยะ
4.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน Big Data และ Gov Tech ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีความก้าวหน้าการดำเนินงานด้าน Gov Tech โครงการบริการออนไลน์ e-Service ระบบบริการภาครัฐของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีการให้บริการในรูปแบบ Digital ทั้งสิ้น จำนวน 175 บริการ เป็น Digital Service จำนวน 166 บริการ คิดเป็น 95% เหลืออีก 5% อยู่ระหว่างดำเนินการให้เป็น Digital Service จำนวน 9 บริการ ซึ่งนายอลงกรณ์แสดงความชื่นชมและพอใจต่อความคืบหน้าโดยขอให้บรรลุ 100% ในปีนี้
ส่วนการพัฒนาระบบบริการดิจิตอลที่เชื่อมโยง NSW แล้ว จำนวน 55 บริการ มีการอนุมัติและเป็น e-Signature ทั้งสิ้น 5 หน่วยงาน 46 บริการ มีการชำระเงิน และเป็น e-Payment ทั้งสิ้น 4 หน่วยงาน 38 บริการ
อีกทั้งได้มีการรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานด้านBig Dataโดยศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ ได้ดำเนินการจัดทำโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตร มีระบบงานที่พัฒนาขึ้น จำนวน 5 ระบบ โดยผู้สนใจสามารถเข้าใช้งานผ่านทางเว็บไซต์ http://nabc.go.th/app/application ได้แก่ (1) ระบบการบูรณาการข้อมูลและจัดทำรายงาน (2) ระบบการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) (3)ระบบปฏิทินการผลิตสินค้าเกษตร (4) ระบบ Coaching Program Platform (CPP) และ (5) ระบบ Public AI ให้บริการข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลทางการเกษตร
1.การบริหารการขับเคลื่อนศูนย์ AIC จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งได้ดำเนินการติดตั้งระบบการบริหารจัดการน้ำ เพื่อพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อรายงานสถาการณ์น้ำ ระดับน้ำ และระยะเวลาระบายน้ำ พัฒนาระบบเตือนภัยน้ำท่วมสำหรับเกษตรกรในพื้นลุ่มต่ำ กรณีศึกษาโครงการบางระกำโมเดล โดยเกษตรกรจะสามารถเข้าถึงระบบได้โดยผ่านทางโทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์
2.ผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในฐานะศูนย์ AICจังหวัดนครราชสีมาและ ศูนย์ความเป็นเลิศโคเนื้อในโครงการพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์และการขุนวัวโคราชวากิว ให้มีไขมันแทรกสูง โดยใช้พ่อพันสายพันธุ์วากิวแท้ 100% (Full Blood) ที่มีการตรวจยีนการสร้างไขมันแทรกเป็นที่ยอมรับทั่วโลก และสามารถนำมาผสมกับแม่พันธุ์โคผสมสายพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทยสามารถให้ลูกที่มีไขมันแทรกสูง เนื้อคุณภาพ สามารถส่งขายได้ในราคาดี เป็นที่ต้องการของตลาด โดยในปัจจุบันเกษตรกรรายย่อยทางภาคอีสานสามารถขุนเองให้ได้มาตรฐานตรงตามที่ตลาดต้องการ
3.แผนพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) ฉบับแรกของประเทศสอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 โดยฝ่ายเลขาฯ ได้แจ้งประสานไปยังสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัดเพื่อให้จัดทำแผนฯและส่งข้อมูลภายใน 30 พ.ย. 2565 ซึ่งพร้อมจะเสนอให้รัฐมนตรีเกษตรฯ ประกาศแผนดังกล่าวในวันที่ 1 มกราคม 2566
4.ผลการดำเนินงานระบบฐานข้อมูล AIC (Innovation Catalog) ณ วันที่ 19 ตุลาคม 2565 มีข้อมูลของ Innovation Catalog โดยแบ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็น 11 ประเภท จำนวน 790 เรื่อง ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตร (ศพก.) 882 แห่ง มีการนำไปใช้ประโยชน์ จาก AIC 77 แห่งทั่วประเทศ เกษตรกรได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จำนวน 10,257 ราย และการใช้นวัตกรรมขยายลงสู่พื้นที่การเกษตรแปลงใหญ่ใน 10 จังหวัด 14 แปลงใหญ่
โดยที่ประชุมมีมติให้ความเห็นชอบสนับสนุนโครงการพัฒนาฟู้ดวัลเลย์จังหวัดภาคกลางตอนล่าง(RAINs For Lower Central Provinces Food Valley )โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชบุรี ในฐานะศูนย์ AIC จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีเป้าหมายการขับเคลื่อนในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง เพื่อพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์อาหารให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคและฐานทรัพยากรธรรมชาติ ใน 2 กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร คือ อาหารสุขภาพ (Healthy Food) และอาหารวัฒนธรรม (Cultural Food) เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากพืชและอาหารในพื้นที่เพิ่มมูลค่าเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้วัตถุดิบคุณภาพปลอดภัย (GAP) จากพืชเศรฐกิจที่ผลิตได้ในภูมิภาค ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเชิงสุขภาพ สร้างความแตกต่าง เพื่อเป็นผู้นำตลาดอาหารสุขภาพ ผลิตภัณฑ์อาหารวัฒนธรรมที่ตรงตามความต้องการผู้บริโภค กระบวนการพัฒนาตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ (วิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์) จนถึงปลายน้ำ (การจัดจำหน่ายสินค้า) สู่เกษตรมูลค่าสูง โดยใช้เครือข่ายความร่วมมือ Quad-Helixระหว่าง ผู้ประกอบการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัยเครือข่าย (มรภ.เพชรบุรี มรภ.กาญจนบุรี และมรภ.หมู่บ้านจอมบึง)ซึ่งในปัจจุบันมี 5 โครงการที่ผ่านการคัดเลือก แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ
1.ด้าน Healthy Food (HF) จำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ คือ การพัฒนาเครื่องดื่มเยลลี่เพื่อสุขภาพจากผลไม้ สมุนไพร ท้องถิ่นภาคตะวันตกของประเทศไทย (บริษัท น้ำแควแฮปปี้ฟูด จำกัด) และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวเม่าทรงเครื่องวีแกนบอลจากโปรตีนพืชท้องถิ่น (บริษัท เพชรบุรีโอท็อป อินเตอร์เทรดเดอร์ จำกัด)
2.ด้าน Cultural Food (CF) จำนวน 3 ผลิตภัณฑ์ คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ธัญพืชอัดแท่งให้พลังงานสูงจากกระยาสารท (วิสาหิจชุมชนแม่ช่อมาลีกระยาสารทมะพร้าวน้ำหอม) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ขนมเม็ดขนุนโดยใช้สารทดแทนน้ำตาลเชิงพาณิชย์ (กลุ่มวิสาหกิจขนมหวานห้วยโรง) และการพัฒนาผลิตภัณฑ์คุกกี้ลำดวนผสมข้าวไรซ์เบอร์รี่ (บริษัทเพชรบุรีไทยดีเสริท์ จำกัด)
นอกจากนี้ มรภ.เพชรบุรี ได้มีการเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อน Node แบบ Quad helix มีห้องปฏิบัติการเครือข่าย 7 ด้าน คือ 1) ห้องปฏิบัติการเคมีอาหาร และการวิเคราะห์ขั้นสูง 2) ห้องปฏิบัติการควบคุมและประกันคุณภาพเคมีฟิสิกส์ 3) ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์จุลชีววิทยา 4) ห้องปฏิบัติการสาธิตการประกอบอาหาร 5) ห้องปฏิบัติการแปรรูปอาหาร 6) ห้องปฏิบัติการเบเกอรี่ 7) ห้องปฏิบัติการ Sensory ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงความร่วมมือกันทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาเกษตรอาหารจากระดับพื้นที่สู่เกษตรอุตสาหกรรมต่อไป