สวทช. ร่วม ธ.ก.ส. ปั้น New Gen Smart Farmer และ Young Smart Farmer เสริมแกร่งเกษตรกรไทย สู่โอกาสเติบโตทางธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

ณ ห้องออดิทอเรียม บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดสัมมนาโครงการต่อยอด New Gen, Smart Farmer และ Young Smart Farmer เพื่อสร้างโอกาสเติบโตทางธุรกิจร่วมกับเครือข่ายธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่และผู้ประกอบการเกษตรจำนวน 450 ราย และเกิดเกษตรกรต้นแบบจำนวน 30 ราย

pic 022 1536x1024 1
ปั้น New Gen Smart Farmer

ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ภาคการเกษตรเป็นภาคการผลิตที่สำคัญของประเทศ สวทช. ในฐานะหน่วยงานวิจัยและพัฒนาได้ขับเคลื่อนงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับการเกษตรของไทยให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีสมัยใหม่หรือเทคโนโลยีอัจฉริยะเป็นเครื่องมือสำคัญของการทำเกษตรในยุคปัจจุบัน

%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B9%84%E0%B8%8B%E0%B8%99%E0%B9%8C%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD
ปั้น New Gen Smart Farmer

นอกจากนี้ สวทช. ยังมีบริการที่สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการเกษตรได้นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าและบริการ ทั้งด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี มาตรการส่งเสริมด้านการเงิน/ภาษี กลไกส่งเสริมธุรกิจ SMEs/Start up และการพัฒนาบุคลากร เป็นต้น ซึ่งเครือข่ายพันธมิตรทุกภาคส่วนคือหัวใจสำคัญที่จะขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในครั้งนี้ผ่านโครงการบ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ จึงร่วมกันพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้มีบทบาทขับเคลื่อนภาคการเกษตรโดยมีองค์ความรู้ที่ทันสมัย ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่บริหารจัดการการเกษตร สร้างมูลค่าให้สินค้าเกษตร สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และขยายผลการพัฒนาไปสู่เกษตรกรรายอื่น ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจากฐานการเกษตรที่เข้มแข็งได้ในระยะยาว

นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร กล่าวเสริมว่า สท. ดำเนินงานให้บริการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรแบบครบวงจร โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งการพัฒนาชุมชน เกษตรกรให้เข้าถึงสมาร์ทเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมขับเคลื่อนเกษตรยุคใหม่ ถือเป็นหนึ่งในภารกิจงานมุ่งเป้าที่จะพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ เพื่อพัฒนาอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชน ผ่านกลไกการทำงานหลายด้าน ดังเช่น Training Hub หรือสถานีกระจายความรู้ที่จะสร้างทักษะให้เกษตรกรในพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยการนำองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่สู่ชุมชนในพื้นที่เกษตรกร เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้สนใจทั่วไปให้เกิดการพัฒนาและยกระดับประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรและชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มรายได้และยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ ขับเคลื่อนและสร้างต้นแบบการพัฒนาท้องถิ่นที่จะขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ ต่อไป

นายสุภาษิต ศุภวุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคาร ธ.ก.ส. กล่าวว่า เกษตรกรรุ่นใหม่เป็นส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนและพัฒนาภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย ที่ผ่านมาเกษตรกรมีโอกาสที่จะเข้าถึงเทคโนโลยีและแหล่งทุนได้ค่อนข้างยาก ธ.ก.ส. จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ สวทช. ในครั้งนี้ เพื่อสร้างโอกาสให้เกษตรกรรุ่นใหม่ได้เติบโตในธุรกิจเกษตร ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้ร่วมกับ สวทช. ดำเนินโครงการลักษณะนี้กับเกษตรกรรุ่นใหม่และสามารถพัฒนายกระดับผู้ประกอบการเกษตรได้กว่า 200 ราย ซึ่งในปีนี้ ธ.ก.ส. ตั้งเป้าเสริมความรู้เพื่อแก้ไขข้อจำกัดของผู้ประกอบการภาคเกษตร เช่น เรื่องของระบบบัญชี การจัดการและการตลาด รวมถึงการวางแผนธุรกิจ จึงเพิ่มเติมเนื้อหาหลักสูตร อาทิ ยกระดับผลิตภัณฑ์แปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับมูลค่าสินค้าและบริการด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน การเข้าถึงแหล่งทุนและบริการการเงิน จากผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ดังนั้นการสัมมนานี้จะเป็นส่วนช่วยเติมเต็มให้เกษตรกรมีองค์ความรู้ที่ทันสมัยและสามารถนำไปปรับใช้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกได้

ภายในงานได้จัดอบรมให้ความรู้อย่างเข้มข้น ทั้งเรื่องการเข้าถึงแหล่งทุนและบริการการเงิน การยกระดับมูลค่าสินค้าและบริการด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน การยกระดับผลิตภัณฑ์แปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการปศุสัตว์ ประเภทโค การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีระบบและเครือข่ายอัจฉริยะสำหรับการเกษตรไทย เป็นต้น

กิจกรรมครั้งนี้เกษตรกรรุ่นใหม่ยังได้นำผลิตภัณฑ์มาจัดแสดง พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้กับวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเพื่อปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมชมหน่วยบริการต่างๆ ของ สวทช. ได้แก่ ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพพืช ห้องปฏิบัติการนวัตกรรมนาโนเพื่อผลิตภัณฑ์อาหารและการเกษตร ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สวทช. และ AGRITEC Station