นวัตกรรมเครื่องจักรกลเกษตรสำหรับการแปรรูปกาแฟอะราบิกา สามารถพัฒนาให้เกิดเป็นโรงแปรรูปกาแฟขนาดเล็กได้ เหมาะสมกับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน

​นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกกาแฟ 268,211 ไร่ มี 2 สายพันธุ์หลัก คือ พันธุ์อะราบิกา ปลูกมากในภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ น่าน แม่ฮ่องสอน ลำปาง ตาก และแพร่ และ พันธุ์โรบัสตา ปลูกมากในภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง และ พังงา

กรมวิชาการเกษตรโดยศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมเชียงใหม่ สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม ได้ดำเนินการวิจัยด้านเครื่องจักรกลเกษตรสำหรับการแปรรูปกาแฟอะราบิกาพร้อมเผยแพร่ดังนี้ 

89E48B45 2634 45B5 8531 A67678B1B0C4

เครื่องมือเก็บเกี่ยวกาแฟ ปัจจุบันใช้แรงงานคนเก็บเกี่ยวเป็นหลัก ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน  การเก็บเกี่ยวด้วยคน มีต้นทุนค่าเก็บ 5-8 บาทต่อกิโลกรัมผลสด  ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูง กรมวิชาการเกษตร จึงพัฒนาเครื่องมือเก็บเกี่ยวกาแฟ เครื่องเป็นแบบพกพา กว้าง 8 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร มีก้านรูดผลกาแฟ 2 ก้าน ยาว 10 เซนติเมตร หมุนสวนทางกัน ด้านข้างก้านรูดผลกาแฟติดเส้นลวดสปริง 2 เส้นสำหรับรูดผลกาแฟออกจากต้น ทำงานที่ความเร็วเชิงเส้น 4.18 เมตรต่อวินาที ถ่ายทอดกำลังด้วยเฟืองต้นกำลังเป็นมอเตอร์กระแสตรง 12 โวลต์ 6 วัตต์ ใช้แบตเตอรี่ขนาดเล็ก 12 โวลต์  

ผลการทดสอบเครื่องมือเก็บเกี่ยว พบว่า ใช้เครื่องเร็วกว่าคนเก็บ 2 เท่า ลดต้นทุนค่าเก็บเกี่ยวเฉลี่ย 3 บาทต่อกิโลกรัมผลสด หรือประมาณ 1,425 บาทต่อไร่ (คิดที่ผลผลิตกาแฟเฉลี่ย 475 กิโลกรัมผลสดต่อไร่) การใช้เครื่องมือเก็บเกี่ยว ควรเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาที่เหมาะสมหรือเก็บเกี่ยวในช่วงที่ผลกาแฟสุกแก่มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์

เครื่องล้างทำความสะอาดผลกาแฟอาราบิกา กระบวนการลอยแยกผลกาแฟ เป็นขั้นตอนที่สำคัญส่งผลต่อคุณภาพกาแฟกะลา ใช้แรงงานมาก หากไม่ทำการล้างสิ่งสกปรกและลอยแยกผลกาแฟที่คุณภาพต่ำออก ทำให้กาแฟกะลาที่ผลิตได้มีคุณภาพต่ำ ส่งผลให้ถูกตัดราคาจำหน่าย ระดับเกษตรกรยังไม่มีเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการนี้

A8ABD21C B6CF 42CB 857B 3AD209F1D847

เครื่องล้างทำความสะอาดผลกาแฟอาราบิกา ทำงานทดแทนแรงงานคนได้ เครื่องทำงานได้ 2,000 กิโลกรัมผลกาแฟสดต่อชั่วโมง และหากเพิ่มเติมอุปกรณ์ขนถ่ายวัสดุ เช่น รางสกรูลำเลียง ต่อเข้ากับเครื่องมือแปรรูปกาแฟในขั้นตอนต่อไปได้ เช่น เครื่องสีเปลือกสด เครื่องขัดเมือกกาแฟกะลา จะทำให้ทำงานต่อเนื่องสามารถแปรรูปกาแฟตั้งแต่ต้นทางจากผลสด จนถึงขั้นตอนทำให้เป็นกาแฟกะลาแห้งได้สามารถพัฒนาให้เกิดเป็นโรงแปรรูปกาแฟขนาดเล็กได้ เหมาะสมกับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน

A6E51DE2 4E3F 4897 99D7 19B66ED69BF8

เครื่องคัดแยกเมล็ดกาแฟกะลาเมือก กรมวิชาการเกษตรได้พัฒนาต้นแบบเครื่องคัดแยกเมล็ดกาแฟกะลาเมือกโดยเครื่องมีลักษณะเป็นตะแกรงทรงกระบอกหมุนในแนวนอน ขนาดรูตะแกรง 8×20 มิลลิเมตรเครื่องมีประสิทธิภาพการคัดแยก 78 เปอร์เซ็นต์ ความสามารถในการทำงานประมาณ 1,200 กิโลกรัมผลสด/ชั่วโมง ใช้มอเตอร์ ½ แรงม้าเป็นต้นกำลัง  เครื่องคัดแยกเมล็ดกาแฟกะลาเมือกจะช่วยคัดแยกผลกาแฟที่ไม่ถูกลอกเปลือก และเปลือกที่ปนมากับเมล็ดกาแฟกะลาเมือก เกษตรกรสามารถผลิตเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพ และช่วยลดต้นทุนการผลิต  

F109DB78 DBE6 4F9F AFC4 FF2CFC19B3B6

เครื่องขัดล้างเมือกกาแฟอะราบิกา กรมวิชาการเกษตรได้พัฒนาเครื่องขัดล้างเมือกกาแฟ มีหลักการทำงานด้วยแกนขัดหมุนในแนวตั้ง โดยป้อนกาแฟเมือกเข้าทางด้านล่างและไหลออกทางด้านบน ติดด้วยก้านกวนเมล็ดกาแฟรอบแกน ความสามารถในการทำงานเฉลี่ย  700 กิโลกรัมต่อชั่วโมง เครื่องขัดล้างเมือกกาแฟจะช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาในการขัดล้างเมือกกาแฟ เกษตรกรสามารถผลิตเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพ และช่วยลดต้นทุนการผลิต 

โรงอบแห้งกาแฟกะลาอะราบิกาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับเกษตรกร แบบควบคุมความชื้นและอุณหภูมิภายในอัตโนมัติ ขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 6 เมตร สั่งงานระบบควบคุมอัตโนมัติด้วยสมองกลฝังตัว สามารถตากกาแฟได้ครั้งละไม่น้อยกว่า 1.5 ตัน ใช้เวลาอบแห้งเร็วกว่าแบบเดิมของเกษตรกรถึงสามเท่า

D60EFAFD 8579 4BB4 984F 97B39BBE9E7E

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวในตอนท้ายว่า นวัตกรรมเครื่องจักรกลเกษตรสำหรับกาแฟอะราบิกา จะช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนในการผลิต ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เกษตรกรสามารถทำงานได้เร็วขึ้น และทันต่อฤดูการเก็บเกี่ยว สุดท้ายจะทำให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพที่ดีขึ้น ขายได้ราคา ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมเชียงใหม่ สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร 053-114119   

8A24BA4F 3CC7 4EA3 84D4 4E82888B270B

ซึ่งนวัตกรรมเครื่องจักรกลเกษตรสำหรับกาแฟอะราบิกา ดังกล่าวจะนำมาแสดงและสาธิตการใช้งาน ในงานถ่ายทอดเทคโนโลยี  50 ปี กรมวิชาการเกษตร นวัตกรรมพืชพร้อมใช้พัฒนาเกษตรไทยยั้งยืน วันที่15-16 กุมภาพันธ์ 2566 ณ.อุทยานหลวงราชพฤกษ์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ขอเชิญทุกท่านมาร่วมชมงานนะครับ