สศก.เปิดผลศึกษา การบริหารจัดการชีวมวลอ้อยที่เหมาะสมจากใบและยอดอ้อย พร้อมชวนเกษตรกรตัดอ้อยสด ลดการเผา เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM 2.5

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมขับเคลื่อนแก้ปัญหามลพิษฝุ่นละออง ทั้งการรณรงค์และควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตร ปฏิบัติการฝนหลวงสร้างความชุ่มชื้นพื้นที่สำหรับป้องกันไฟป่าและบรรเทาปัญหาหมอกควัน ส่งเสริมโครงการส่งเสริมการไถกลบและผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนสนับสนุนให้เกษตรกรนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาสร้างมูลค่าเพิ่มทดแทนการเผาทิ้ง

ในการนี้ สศก.ได้มีการศึกษาวิจัยการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทดแทนการเผา เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมตามแนวทางขับเคลื่อนภาคเกษตรด้วยโมเดลเศรษฐกิจBCG Model (Bio-Circular-Green Economy) หรือการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว  

โดยสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตรได้ทำการศึกษาเรื่อง“การบริหารจัดการชีวมวลอ้อยที่เหมาะสมของเกษตรกร” เนื่องจากสินค้าอ้อย มีประเด็นปัญหาอ้อยไฟไหม้ ซึ่งเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเผาใบอ้อยและยอดอ้อยที่เป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) และรัฐบาลกำหนดให้เป็นวาระสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ทั้งนี้ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จะเกิดในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน – เดือนมีนาคม ของทุกปี ซึ่งจะตรงกับช่วงเวลาการเก็บเกี่ยวอ้อยของชาวไร่อ้อยด้วยเช่นกัน

การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการบริหารจัดการชีวมวลจากใบและยอดอ้อย หลังการเก็บเกี่ยวของเกษตรกร จัดเก็บข้อมูลสอบถามเกษตรกรที่ตัดอ้อยสดทั่วประเทศ ปี 2564/65 กลุ่มตัวอย่างรวม1,080 ราย จากภาคเหนือ 3 จังหวัด (เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และนครสวรรค์) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด (สุรินทร์ นครราชสีมา ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และชัยภูมิ) ภาคกลาง 4 จังหวัด(อุทัยธานี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี และสิงห์บุรี) และภาคตะวันออก 1 จังหวัด (สระแก้ว) พร้อมทั้งเก็บข้อมูลด้วยการจัดสนทนากลุ่มเกษตรกร (Focus Group) ในประเด็นเกี่ยวกับการจัดการใบและยอดอ้อย ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี และสระแก้ว กลุ่มตัวอย่างรวม 80 ราย 

ผลการศึกษาพบว่า เกษตรกรชาวไร่อ้อย ร้อยละ 64.17 ใช้แรงงานคนตัดอ้อยสด ส่วนที่เหลือร้อยละ35.83 เกษตรกรใช้รถตัดอ้อยสด โดยหลังจากที่เกษตรกรตัดอ้อยสดเรียบร้อยแล้ว เกษตรกรมีการจัดการชีวมวลอ้อยหลังการเก็บเกี่ยวด้วยวิธีการนำใบและยอดอ้อยไปคลุมดินหรือไถกลบในช่วงเตรียมดินเพื่อปลูกอ้อยในปีถัดไป คิดเป็นร้อยละ 50.83 วิธีเผาใบและยอดอ้อยทิ้ง คิดเป็นร้อยละ 32.87 วิธีขายใบและยอดอ้อยส่งขายโรงไฟฟ้าชีวมวล คิดเป็นร้อยละ 13.43 ส่วนที่เหลือร้อยละ 2.87 เกษตรกรใช้วิธีขายเพื่อนำไปแปรรูปเป็นปุ๋ยและอาหารสัตว์ และแจกฟรี

98C942D2 DE54 4809 9B6F DAF0751A1C52

นอกจากนี้ ผลการศึกษาวิธีการจัดการชีวมวลอ้อย พบว่า วิธีการใช้ใบและยอดอ้อยคลุมดิน เพื่อเป็นธาตุอาหารเพิ่มความอุดมสมบูรณ์และความชุ่มชื้นให้แก่ดิน เป็นวิธีที่เหมาะสม เนื่องจากต้นทุนการจัดการต่ำให้ประโยชน์ในการบำรุงดินและอ้อยที่ยั่งยืน ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนปัจจัยการผลิต ค่าปุ๋ยและยากำจัดวัชพืช 

รองลงมาคือ การขายใบและยอดอ้อยเพื่อเป็นเชื้อเพลิงให้แก่โรงไฟฟ้าชีวมวล ถือเป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน เนื่องจากมีความคุ้มค่าและเหมาะสมกับเกษตรกรที่ต้องการเอาใบอ้อยออกจากแปลง จึงควรผลักดันให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อบริหารจัดการชีวมวลอ้อยที่เหมาะสมกับพื้นที่ พัฒนาให้มีผู้ให้บริการด้านเครื่องจักรกลทางการเกษตร เพื่อจัดการชีวมวลอ้อย ทดแทนแรงงาน และเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ขาดแคลนเพื่อลดการเผา และสามารถนำชีวมวลอ้อยไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมเกษตรหรือสร้างรายได้ควบคู่กับการลดผลกระทบการปลดปล่อย PM 2.5  จากการเผาอ้อยที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

23FEBB56 5D01 4821 9454 FF0526BDE92E

ด้านนางกาญจนา แดงรุ่งโรจน์ รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเพิ่มเติมในรายละเอียดว่า จากการจัดสนทนากลุ่มกับเกษตรกรในพื้นที่ พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเผาใบและยอดอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยว ได้แก่ 

1) ต้นทุนที่ใช้ใน การเก็บเกี่ยว ถ้าต้นทุนน้อยก็จะเลือกวิธีเผาแล้วตัดอ้อยทำให้ไม่สามารถลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากอ้อยไฟไหม้ตัดง่ายกว่าและรายได้ดีกว่า 

2) ระบบการเพาะปลูกและสภาพพื้นที่ของแปลงอ้อยที่อาจไม่เหมาะสมต่อการใช้เทคโนโลยีทั้งการปลูกและการเก็บเกี่ยวเช่น รถตัดอ้อย 

3) การขาดแคลนแรงงานหรือแรงงานในพื้นที่จะเลือกรับตัดอ้อยเฉพาะอ้อยที่สางใบหรืออ้อยไฟไหม้เท่านั้น รวมทั้งขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีผลิตอ้อย เช่น คนขับรถตัดอ้อย คนขับรถอัดใบอ้อย 

และ 4) พื้นที่ขาดแคลนเครื่องจักรที่เหมาะสมสำหรับเก็บเกี่ยวอ้อยทำให้ต้องตัดอ้อยไฟไหม้ รถตัดอ้อยมีไม่เพียงพอและไม่เหมาะสมกับพื้นที่เก็บเกี่ยว

B3049EBF 95E2 4C57 8AB5 59CAAFF8AFD8

สำหรับข้อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมการบริหารจัดการชีวมวลอ้อยที่เหมาะสมของเกษตรกร  ควรดำเนินการ 

1) ผลักดันการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน/กลุ่มเกษตรกร/สหกรณ์/สมาคม เพื่อบริหารจัดการชีวมวลอ้อยที่เหมาะสมกับพื้นที่ และบริบทชุมชน 

2) กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ สำหรับการบริหารจัดการชีวมวลอ้อย จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐภาคเอกชน โรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล สมาคมชาวไร่อ้อย เกษตรกรชาวไร่อ้อย และชุมชน 

3) สนับสนุนและส่งเสริมการบริหารจัดการชีวมวลอ้อยที่ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 4) การบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน กำหนดบทบาทให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง

F9C0A3FC 9330 4E38 9EFE D88F00EB879D

ทั้งนี้ ท่านที่สนใจผลการศึกษาวิจัย เรื่อง การบริหารจัดการชีวมวลอ้อยที่เหมาะสมของเกษตรกร   สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ส่วนวิจัยเศรษฐกิจพืชไร่นาและธัญพืช สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตรสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โทร. 0 2579 7554 ในวันและเวลาราชการ