ศึกษาเรียนรู้การทำเกษตรเบื้องต้น สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง กับ 6 ปัจจัยสำคัญ

ปัจจุบันผู้คนได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ การทำเกษตรจึงเป็นทางเลือกและทางรอดหนึ่งที่ผู้คนหันมาให้ความสนใจมากขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้การทำการเกษตรเบื้องต้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง

1.ดิน

ดินเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญสำหรับการทำเกษตร เป็นปัจจัยหลักที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช เป็นแหล่งให้ธาตุอาหารแก่พืช รวมถึงเป็นที่ยึดเกาะของรากพืชให้พืชสามารถทรงตัวอยู่ได้อย่างมั่นคง

images


ก่อนปลูกพืชจะต้องเลือกพืชที่ต้องการปลูก แล้วจึงปรับดินเพื่อให้เข้ากับพืชที่จะปลูก ดินที่เหมาะสมโดยส่วนใหญ่จะต้องมีค่า pH อยู่ระหว่าง 6 – 7 (เป็นกลางหรือกรดอ่อน ๆ) ซึ่งเป็นช่วงที่ธาตุอาหารภายในดินสามารถแตกตัวและเคลื่อนย้ายได้ดี พืชสามารถนำธาตุอาหารดังกล่าว ไปใช้ประโยชน์ได้ หากดินเป็นกรดหรือด่างมากเกินไปดินจะยึดธาตุอาหารไว้ ทำให้พืชที่ปลูกขาดธาตุอาหาร ดินที่นำมาปลูกต้องมีความร่วนซุย ไม่เหนียว น้ำผ่านได้ดี มีความอุดมสมบูรณ์ พืชก็จะเจริญเติบโตได้ดีแข็งแรงสมบูรณ์

2.ธาตุอาหาร

ธาตุอาหารจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของพืช มีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการต่างๆและการทำงานของเอนไซม์ในการเจริญเติบโตของพืช โดยธาตุอาหารแบ่งได้เป็นธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริม ซึ่งมีความสำคัญและมีหน้าที่แตกต่างกันไป

-ธาตุอาหารหลัก ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม

-ธาตุอาหารรอง ได้แก่ กำมะถัน แคลเซียม แมกนีเซียม

-ธาตุอาหารเสริม ได้แก่ เหล็ก แมงกานีส สังกะสี ทองแดง โบรอน โมลิบดีนัม คลอรีน

หากพืชขาดธาตุอาหารจะแสดงอาการอาจเห็นชัดบ้างไม่ชัดบ้าง ดังนั้นจึงต้องสังเกตพืชที่ปลูกว่าขาดธาตุอะไร และเพิ่มเสริมให้พืชเพื่อให้เจริญเติบโตได้ตามปกติเช่น หากขาดไนโตรเจน พืชจะเจริญเติบโตช้า ใบมีสีเหลือง ใบจะเริ่มแห้งและร่วง หรือหากขาดฟอสฟอรัส พืชจะมีขนาดเล็กกว่าปกติ ใบเขียวอาจกลายเป็นสีม่วง

นอกจากอาการขาดธาตุอาหารแล้วหากปริมาณธาตุอาหารมากเกินจำเป็นจนเป็นพิษก็ส่งผลต่อการเจริญเติบโตได้เช่นเดียวกัน เช่น ปริมาณธาตุโบรอนที่มีมากเกินไป ทำให้ใบเหลือง โดยเริ่มที่ปลายใบ ขอบใบไหม้ และร่วงหล่น

3.การบริหารและการจัดการน้ำ

น้ำมีหน้าที่เป็นตัวละลาย เป็นตัวพาแร่ธาตุอาหารต่าง ๆ ที่อยู่ในเม็ดดินเข้าสู่ต้นพืช ทำให้เซลล์พืชมีความเต่งตึง ใช้ในการเจริญเติบโต คายความร้อน เป็นตัวทำปฏิกิริยา เช่น เป็นวัตถุดิบในกระบวนการสังเคราะห์แสง ช่วยควบคุมอุณหภูมิของต้นพืช และน้ำมีความจำเป็นอย่างมากในการงอกของเมล็ด

แหล่งน้ำที่นำมาใช้ในการทำเกษตร จำเป็นต้องมีอย่างเพียงพอ น้ำสะอาด และสะดวกที่จะนำมาใช้ ต้องรู้ปริมาณน้ำที่พืชต้องการเพื่อให้พืชสามารถเจริญเติบโตจนกระทั่งเก็บเกี่ยวได้ มีการบริหารจัดการน้ำ การหมุนเวียนน้ำภายในแปลงเพื่อใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

การให้น้ำมีหลากหลายรูปแบบ ผู้ปลูกต้องคำนึงถึงลักษณะของดิน ชนิดพืช ตลอดจนลักษณะของแถวปลูก ค่าใช้จ่ายและค่าบำรุงซ่อมแซมของระบบน้ำแต่ละรูปแบบ การให้น้ำนอกจากพืชจะนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรงแล้ว ยังเป็นการลดอุณหภูมิภายในแปลงได้อีกด้วย

capture 20240504 143718

4.การดูแลรักษา

การป้องกันมีความสำคัญกว่าการแก้ไขเพราะพืชจะแข็งแรง และให้ผลผลิตที่ดีตามพันธุกรรม แต่หากระหว่างการเจริญเติบโต พบโรคและแมลง ก็จะทำให้พืชอ่อนแอ ดังนั้นจึงต้องศึกษาเรื่องโรคและแมลงที่เป็นศัตรูของพืชชนิดนั้นเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ ต้องตรวจสอบให้ได้ว่าเป็นโรคหรือแมลง และป้องกันกำจัดอย่างไร

-โรคพืช ใบพืชจะถูกทำลาย โดยเข้าทางปากใบหรือทางธรรมชาติเช่น โรคใบจุด ที่เกิดจากเชื้อ Alternaria brassicicola เป็นโรคใบจุดที่เกิดในพืชตระกูล BRASSICACEAE หรือกลุ่มกะหล่ำ เช่น สลัด คะน้า กวางตุ้ง

-แมลงศัตรูพืช สามารถสังเกตการเข้าทำลายที่แตกต่างกันของแมลงศัตรูพืชได้โดยแมลงจะมีกลุ่มปากกัด (กัดใบแหว่ง กินใบเป็นอาหาร)และกลุ่มแมลงปากดูด (ดูดน้ำเลี้ยงไป ถ้าพืชสด ๆก็จะเริ่มเหี่ยว โค้งงอ รูปทรงผิดเพี้ยนไป)

-วัชพืช เป็นพืชที่ไม่ต้องการ โดยจะแย่งธาตุอาหารพืชปลูก เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว บดบังแสงพืชปลูก ทำให้พืชปลูกเจริญเติบโตช้า ดังนั้น วิธีที่ทำให้พืชแข็งแรง คือ คัดเลือกพืชเบื้องต้น พืชที่แข็งแรงสมบูรณ์ไม่แสดงอาการเป็นโรค หากพืชเป็นโรคสามารถใช้สารชีวภัณฑ์B.subtilis TU089 ที่ผศ.ดร.วิลาวรรณ์ เชื้อบุญ เป็นผู้ค้นพบ มีฤทธิ์ยับยั้งโรคพืชส่งเสริมการเจริญเติบโต เพิ่มความยาวลำต้นและราก กระตุ้นภูมิต้านทานต่อโรคพืช และยังสามารถย่อยสลายสารเคมีและโลหะหนักได้อีกด้วย

capture 20240504 144646

วิธีการใช้ เชื้อ B. subtilis TU089 จะอยู่ในรูปเม็ดกลม เพื่อให้สามารถเก็บรักษาได้นาน 1 ปี ดังนั้น ก่อนจะนำมาใช้งานจะต้องใช้ยีสต์กระตุ้นการทำงาน (ยีสต์เป็นอาหารของเชื้อ B.subtilis TU089) อัตราส่วนเชื้อ 1 กรัม ต่อยีสต์10 กรัม จากนั้นปิดฝาเติมออกซิเจนทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง จะได้หัวเชื้อที่สามารถนำไปผสมน้ำใช้ได้อัตราส่วนหัวเชื้อ1ลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมและฉีดพ่นในช่วงเย็น ทุก 7 – 15 วัน เพื่อไม่ให้แสงแดดทำลายเชื้อที่เราพ่นลงไป และช่วงเย็นจะเป็นช่วงที่แมลงศัตรูพืชเข้าทำลายพืช

5.การสร้างอาหารและการแปรรูป

การปลูกพืชหลากหลาย ผสมผสานกับการเลี้ยงสัตว์ นอกจากจะทำให้เกิดการหมุนเวียนทรัพยากรภายในแปลงแล้วยังป้องกันสินค้าล้นตลาด ลดการระบาดของโรคและแมลง จึงไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทิ้งสารตกค้างในดิน น้ำอากาศ ผลผลิตที่ได้จึงมีความปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค

เมื่อผู้บริโภคเห็นถึงกระบวนการผลิตที่มีความปลอดภัย ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นถึงคุณภาพของผลผลิต แต่สิ่งสำคัญที่สุดในการขาย คือ ต้องมีคุณธรรมและความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า เพื่อรักษาฐานลูกค้า เกิดการบอกต่อ และเกิดเป็นรายได้ที่ยั่งยืน

ปัจจุบัน สามารถสร้างรายได้ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ แม้ไม่มีหน้าร้าน และยังเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการลงภาพความเคลื่อนไหวต่าง ๆ และผลผลิตในแปลง ซึ่งจะทำให้ผู้ที่สนใจเกิดความมั่นใจในคุณภาพมากขึ้น

capture 20240504 145828

นอกจากนี้ เมื่อปลูกเพื่อบริโภคภายในครัวเรือนและขายผลผลิตแล้ว ยังสามารถขายผลผลิตที่ได้จากการแปรรูป ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตร และสามารถเก็บไว้ได้นานมากขึ้น

6.การจัดการของเหลือใช้อย่างมืออาชีพ

ของเหลือใช้ในแปลง เศษพืชที่ได้จากการตัดแต่งผลผลิต สามารถนำไปทำปุ๋ยหมัก ตากแห้งเพื่อใช้คลุมดินแทนฟาง หรือนำไปหมุนเวียนให้สัตว์ที่เลี้ยงกินก็ได้ วิธีการนี้เป็นการหมุนเวียนทรัพยากรที่มีอยู่ในแปลงให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยจากภายนอก ช่วยจัดการของเหลือใช้และลดต้นทุนการผลิตได้

capture 20240504 150345

การหาความรู้ก่อนทำการเกษตร จึงเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง ลดปัญหาการทำการเกษตรแบบไม่รู้ สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้

นอกจากการทำเกษตรจะเป็นการพึ่งพาตนเองได้แล้ว ยังทำให้มีเวลาอยู่กับครอบครัว ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ได้ทั้งประโยชน์ด้านอาหารเป็นความมั่นคงที่สร้างได้ด้วยมือของเราเอง