กรมวิชาการเกษตรขับเคลื่อนแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะผลิต’ถั่วเขียว’มุ่งการเกษตรทำน้อย-ได้มาก

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากข้อสั่งการของนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้กรมวิชาการเกษตรเร่งขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีจากผลงานวิจัยกรมวิชาการเกษตร และเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ 

โดยขับเคลื่อนแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะการผลิตถั่วเขียวมุ่งการเกษตรแบบทำน้อยได้มาก กรมวิชาการเกษตรจึงได้กำหนดจัดงานวันถ่ายทอด “เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะการผลิตถั่วเขียว” ในวันที่ 2 มีนาคม2566 ณ. ตำบลกองทูล อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ 

E1928918 B5DB 4B1E 91CA 070399AF9FC6

ซึ่งการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาสู่การเกษตรอัจฉริยะแห่งอนาคต มีเป้าหมายสำคัญในการใช้ทรัพยากรในการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน ลดการสูญเสีย ลดการใช้แรงงาน โดยการนำเครื่องจักรกลการเกษตร และเกษตรดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการผลิตเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตรไทยในตลาดโลก

ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ถั่วเขียว เป็นหนึ่งในพืชนโยบายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ส่งเสริมให้ปลูกในภาวะวิกฤตภัยแล้ง เนื่องจากเป็นพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อยสามารถนำไปใช้ในระบบปลูกพืชได้ดี จึงส่งเสริมให้ปลูกทดแทนข้าวนาปรัง หรือปลูกก่อนข้าวโพดในพื้นที่ประสบภัยแล้ง เพราะสามารถใช้ความชื้นที่เหลืออยู่ในดินภายหลังเก็บเกี่ยวพืชหลักได้โดยไม่กระทบต่อผลผลิตมากนัก ปลูกก่อนหรือหลังการทำนา รวมทั้งยังช่วยตัดวงจรการระบาดของแมลงศัตรูพืชและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน

ในปี 2564/65 มีพื้นที่ปลูกถั่วเขียว 743,180 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 146 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตรวม 108,474 ตัน แต่มีความต้องการใช้ถั่วเขียว 128,000 ตัน เนื่องจากมีการขยายตัวของอุตสาหกรรมแปรรูปวุ้นเส้นแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้แก่ ถั่วงอก แป้งถั่วเขียว  และเป็นเมล็ดพันธุ์ โดยปี 2564 ประเทศไทยส่งออกวุ้นเส้นจากถั่วเขียว 31,811 ตัน มูลค่ารวม 1,151 ล้านบาท

1B38CCEA A6AF 43A2 B987 137BB5DB1FB3
DA3EE4C6 66CB 43B5 965D 7B4D15764749

กรมวิชาการเกษตร ได้จัดทำโครงการจัดทำแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวรบริษัท ตะโกรายไฮดรอลิค จำกัด และหน่วยงานเครือข่าย โดยร่วมดำเนินการจัดทำแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะภายในพื้นที่พื้นที่ 20 ไร่ ในแปลงของ นายไพโรจน์ มณีธรรม ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ถั่วเขียวบ้านวังชงโค หมู่ที่ 1 ตำบลกองทูล อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกถั่วเขียวที่สำคัญของประเทศ โดยจังหวัดเพชรบูรณ์มีพื้นที่ปลูกถั่วเขียวประมาณ 340,000 ไร่ คิดเป็นร้อยละ  45.7 ของพื้นที่ปลูกทั้งประเทศ  

สำหรับเทคโนโลยีอัจฉริยะที่นำมาใช้ในแปลงเรียนรู้ ได้แก่ เทคโนโลยีการใช้เครื่องปรับระดับหน้าดินด้วยระบบ GIS และระบบเลเซอร์ ทำให้พื้นที่มีความสม่ำเสมอ การใช้ระบบเซนเซอร์อัจฉริยะที่มีต้นทุนต่ำสำหรับวัดค่าอุณหภูมิ ความชื้นในอากาศ และความชื้นในดิน สามารถใช้เป็นข้อมูลในการจัดการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้อากาศยานไร้คนขับ การใช้เครื่องพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชแบบอุโมงค์ลม สามารถประหยัดสารเคมีได้มากกว่าร้อยละ 20  และมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงกว่าเครื่องพ่นสะพายหลัง 15 เท่า และ การใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับติดกล้องหลายช่วงคลื่น เพื่อติดตามตรวจสอบการระบาดของโรคไวรัสใบด่างถั่วเขียวได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

0496B683 BB13 44E8 A928 E3D15524C124

เทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ ถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 3 ที่ให้ผลผลิตสูง 232 กิโลกรัมต่อไร่เมล็ดใหญ่ การสุกแก่ของฝักสม่ำเสมอใกล้เคียงกัน จึงเหมาะสำหรับการใช้เครื่องเก็บเกี่ยว คุณภาพแป้งเหมาะสำหรับการแปรรูปเป็นวุ้นเส้น การใช้ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่สามารถสร้างปมรากกับพืชตระกูลถั่ว และเจริญอยู่ภายในปมรากแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน สามารถลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนได้ 50-100 % โดยปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้มีการพัฒนารูปแบบปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมชนิดเหลว ซึ่งจะช่วยให้การยึดติดกับเมล็ดพันธุ์ดีขึ้นและใช้ง่ายขึ้น เนื่องจากไม่ติดรูจานหยอดของเครื่องปลูกทำให้ใช้สะดวกมากขึ้น

B23FFA76 944C 4AC4 9781 85E3FA2969FD

กรมวิชาการเกษตร กำหนดจัดงานวันถ่ายทอด “เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะการผลิตถั่วเขียว” ในวันที่ 2 มีนาคม 2566 นี้  ซึ่งภายในงานจะมีการสาธิตการใช้ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมชนิดเหลว การสาธิตการพ่นสารด้วยอากาศยานไร้คนขับ เครื่องพ่นสารแบบอุโมงค์ลมในการพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชสาธิตอากาศยานไร้คนขับติดกล้องหลายช่วงคลื่นเพื่อติดตามตรวจสอบโรคไวรัสใบด่างถั่วเขียว

พร้อมกับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ ระหว่างกลุ่มเกษตรกร นักวิชาการจากกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัย สหกรณ์การเกษตร ผู้ประกอบการเครื่องจักรกลการเกษตร และผู้รวบรวมผลผลิตถั่วเขียวรายใหญ่ของประเทศ ทำให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือด้านการผลิตและการตลาดอย่างครบวงจร

ในปี 2567 กรมวิชาการเกษตรจะขยายผลเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยและเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะการผลิตถั่วเขียวในพื้นที่ปลูกอื่นของจังหวัดเพชรบูรณ์ และกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเขียวในพื้นที่ใกล้เคียงตามนโยบายของนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ส่งผลให้ผลผลิตถั่วเขียวของประเทศเพิ่มขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจของชุมชนและประเทศดีขึ้น รวมทั้งเป็นต้นแบบในการใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะในการผลิตพืชอื่นต่อไป

9876AAB7 5F41 4F97 BBD1 484E71B79422
304E51F1 EB36 4603 9DDB 320985286BA3