นักเรียนโรงเรียนในโครงการมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED ในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ เรียนรู้การนำ IoT (Internet of Things) มาประยุกต์ใช้กับโครงการด้านการเกษตรของโรงเรียน ผ่านการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “โครงการอัจฉริยะยุวเกษตร” ซึ่ง CPF เชิญวิทยากรจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้าน IoT มาให้ความรู้กับ นักเรียน ครู รร.บ้านชีลองเหนือ รร.บ้านโนนสำราญวิทยา และ รร.บ้านซำมูลนาก ซึ่งอยู่ในโครงการ CONNEXT ED รวมทั้งโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ (สพป.ชัยภูมิ) รวม 24 โรงเรียน
รร.บ้านชีลองเหนือ รร.บ้านโนนสำราญวิทยา และ รร.บ้านซำมูลนาก เป็นโรงเรียนในโครงการ CONNEXT ED ที่ CPF ดูแลและสนับสนุนงบประมาณทำโครงการด้านการเกษตร อาทิ รร.บ้านชีลองเหนือ โครงการ “ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ (CLN Smart Hydroponics)” รร.บ้านโนนสำราญวิทยา โครงการ “MushRoom House By N.W.School” และ รร.บ้านซำมูลนาก โครงการ”ยุวเกษตรเห็ดอินทรีย์วิถีชีวิตใหม่” พร้อมขยายโครงการให้ยั่งยืนด้วยการนำเทคโนโลยี IoT มาต่อยอดสู่การเป็น “อัจฉริยะยุวเกษตร”
มาริสา มอไธสง ผู้อำนวยการ รร.บ้านชีลองเหนือ กล่าวว่า โรงเรียนได้รับงบจาก CPF ทำโครงการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ และเข้าร่วมกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “โครงการอัจฉริยะยุวเกษตร” ให้กับคุณครู นักเรียน และผู้บริหาร จึงเห็นความสำคัญของการทำการเกษตรในปัจจุบันที่ต้องพึ่งพา IoT ทำให้การทำเกษตรเป็นเรื่องง่ายและสะดวก ขอบคุณมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์ อีดี และ CPF ที่ให้โอกาสโรงเรียนในชนบทได้เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ต่อ
นอกจากนี้ นำระบบ Smart IoT มาช่วยพัฒนาผู้เรียน และทำระบบ IoT ไปใช้ในครัวเรือนของชุมชนแล้ว ยังได้ถ่ายทอดความรู้ให้เด็ก ๆ ทำแผนการตลาดเพื่อจำหน่ายผลผลิต สำรวจตลาดบริเวณใกล้เคียงโรงเรียน เช่น ตลาดนัดบ้านห้วยต้อน ตลาดนัดช่อระกา สถานีอนามัย ต.ห้วยต้อน เพื่อเป็นข้อมูลในการเลือกประเภทของผักที่จะปลูก อาทิ กรีนโอ้ค เรดโอ้ค ผักกาดหอม ผักคะน้า ผักบุ้ง ตามความต้องการของตลาด พร้อมทั้งทำเพจประชาสัมพันธ์ไปยังคณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง และชุมชน
สุพล พรมมานอก ผู้อำนวยการ รร.บ้านซำมูลนาก กล่าวว่า การที่เด็ก ๆ มีโอกาสได้เรียนรู้ในการนำ IoT มาใช้ กระตุ้นให้เด็กเกิดมุมมองใหม่ ๆ ในการนำเทคโนโลยีมาใช้กับการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน เด็กหันหลังให้กับอาชีพการเกษตร แต่เมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้มีความสะดวกมากขึ้น เป็นการจุดประกายให้เด็ก ๆ สนใจทำเกษตร ปัจจุบันโรงเรียนได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก CPF ดำเนินโครงการโรงเพาะเห็ด พร้อมทั้งวางระบบควบคุมการเปิดและปิดน้ำภายในโรงเพาะ โดยใช้เซ็นเซอร์กำหนดเวลา อาทิ ทุก ๆ 1 ชั่วโมง ระบบจะเปิดฉีดน้ำ 5 นาที แต่ระบบในขณะนี้ยังไม่สัมพันธ์กับปัจจัยความชื้นและอุณหภูมิ จึงประยุกต์ IoT เข้ามาควบคุมด้วย เป็นการสร้างตัวควบคุมสภาพแวดล้อมในโรงเรือนได้โดยอัตโนมัติ เช่น การสั่งการความถี่ของการพ่นน้ำในโรงเรือนเพาะเห็ดได้ดีขึ้น
ด้านนายไชโย กล้ารมราน ผู้อำนวยการ รร.โนนสำราญวิทยา รับผิดชอบโครงการ MushRoom House BY N.W. School กล่าวว่า การอบรม “โครงการอัจฉริยะยุวเกษตร” ทำให้นักเรียนมีโอกาสได้รู้จักกับ IoT ส่งเสริมให้เกิดมุมมองใหม่ ๆ ในการนำเทคโนโลยีมาใช้กับการเกษตร มีเจตคติที่ดีต่ออาชีพเกษตรกรรม นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้สะดวกมากขึ้นในการดูแลโรงเห็ด ควบคุมสภาพแวดล้อมในโรงเรือนได้โดยอัตโนมัติ ผู้เรียนได้เรียนรู้ สนุกสนาน และนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์
เช่นเดียวกับ คุณศานิตย์ สุวรรณวงศ์ อาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้การประยุกต์ใช้ IoT ผ่านการเขียนโปรแกรมบนแพลตฟอร์มอาร์ดุยโน่ (Arduino) “โครงการอัจฉริยะยุวเกษตร” กล่าวว่า โครงการนี้เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ได้ เพื่อสั่งการระบบอัตโนมัติในโครงการด้านการเกษตรของโรงเรียนและกระตุ้นให้เกิดความกระตือรือร้น อย่างไรก็ตาม การไปสู่ผลสัมฤทธิ์ต้องได้รับการสนับสนุนจากโรงเรียนหรือมีผู้ที่สนใจ ซึ่งจะทำให้โครงการดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง
“โครงการอัจฉริยะยุวเกษตร” เป็นหนึ่งในโครงการที่ CPF ส่งเสริมด้านวิชาการและอาชีพให้กับเด็กนักเรียน เพื่อขับเคลื่อนแผนยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทย ตามเป้าหมายของโครงการ CONNEXT ED ในการสร้างเด็กดีและเด็กเก่ง โดยมีโรงเรียนเป็นแหล่งที่ให้ความรู้ทั้งด้านวิชาการและการฝึกลงมือปฏิบัติจริง สามารถขยายผลสู่การเป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบของชุมชนในการพัฒนาอาชีพ และถ่ายทอดองค์ความรู้สู่โรงเรียนข้างเคียงต่อไปได้