กรมวิชาการเกษตรติดตามงานวิจัยพัฒนาสายพันธุ์กัญชา ร่วมมือ มทส.เตรียมศึกษาวิจัยพืชเศรษฐกิจใหม่ 

กรมวิชาการเกษตรติดตามงานวิจัยพัฒนาสายพันธุ์กัญชา พร้อมกระชับความร่วมมือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เตรียมศึกษาวิจัยพืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีศักยภาพในอนาคต 

วันที่ 21 เมษายน 2566 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มอบหมายให้ ดร.พงศ์ไทไทยโยธิน รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร  นายสุรกิตติ ศรีกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตพืช นายประเสริฐ อนุพันธ์ ที่ปรึกษากรมวิชาการเกษตร 

พร้อมด้วยนายขจรวิทย์ พันธุ์ยางน้อย ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 อุบลราชธานี และคณะนักวิจัยของกรมวิชาการเกษตร ประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับคณะอาจารย์และนักวิชาการของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในความร่วมมือทางด้านงานวิจัยพืชที่มีศักยภาพในอนาคตพร้อมติดตามการพัฒนาสายพันธุ์กัญชา

IMG 2930

โอกาสนี้ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้มอบหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียน ตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช(พ.ศ. 2518) ให้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จำนวน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ กัญชาสายพันธุ์ฝอยทองสุรนารี 1, สุรนารี 2 และสุรนารี 3 โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา อธิบการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ศาสตราจารย์ ดร.หนึ่ง เตียอำรุง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และคณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พร้อมคณะรับมอบ ณ ห้องสารนิเทศ อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

IMG 2925

รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในความสำเร็จของการพัฒนาสายพันธุ์กัญชาจนได้รับรองเป็นพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช (พ.ศ. 2518) ถึง 3 สายพันธุ์ ได้แก่ กัญชาพันธุ์ฝอยทองสุรนารี 1 ที่มีลักษณะเด่นคือ ติดดอกและเมล็ดในช่วง 80-120 วัน ช่อดอกแห้งมีปริมาณสารสำคัญ ∆9-tetrahydrocannabinol (THC) ประมาณ 8–12 %% และCannabidiol (CBD) ประมาณ 0.3–0.5 

ส่วนกัญชาพันธุ์สุรนารี 2 มีการออกดอกและติดเมล็ดในช่วง 80-120 วัน ซึ่งช่อดอกแห้งมีปริมาณสารสำคัญ ∆ 9 -tetrahydrocannabinol (THC) ประมาณ 8– 12 % และCannabidiol (CBD) ประมาณ 0.3–0.6 % ปลูกในโรงเรือนได้ผลผลิตช่อดอกแห้งประมาณ 180 กิโลกรัมต่อไร และกัญชาพันธุ์สุรนารี 3 ที่มีอายุ 120 วัน ซึ่งการปลูกในโรงเรือนได้ผลผลิตช่อดอกแห้ง 190-198 กิโลกรัมต่อไร่ ช่อดอกแห้งมีปริมาณสารสำคัญ ∆ 9 -tetrahydrocannabinol (THC) ประมาณ 6– 12 % และ Cannabidiol (CBD) ประมาณ 6 – 12 % โดยมีอัตราส่วน THC : CBD เท่ากับหรือใกล้เคียงอัตราส่วน 1:1.

IMG 2920

กรมวิชาการเกษตรขอเชิญชวนให้เกษตรกรผู้ปลูก นักปรับปรุงพันธุ์พืชกัญชา กัญชง ที่มีสายพันธุ์ดี ยื่นขอหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียน ตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช 2518 ได้ที่ สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร

“การลงพื้นที่ครั้งนี้ นอกจากมีการติดตามความก้าวหน้าของการศึกษา วิจัย และพัฒนาพืชกัญชา กัญชงภายใต้บันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุน ส่งเสริมการใช้ประโยชน์พืชชนิดกัญชา กัญชง ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมแล้ว ที่ประชุมยังได้ร่วมกันหารือ และแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการในด้านพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของพื้นที่ เช่น ไข่ผำ มันสำปะหลัง และพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ เพื่อจะได้หาแนวทางในการร่วมกันศึกษาวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมสำหรับพัฒนาให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในอนาคตต่อไป” รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว