อธิบดีกรมการข้าว ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ เดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพการทำนา เพื่อส่งเสริมเกษตรกรแปลงใหญ่ ลดต้นต้นทุนและเพิ่มผลิตอย่างยั่งยืน
นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า กรมการข้าวมุ่งหวังยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยเฉพาะกลุ่มนาแปลงใหญ่ให้ดีขึ้นด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสนับสนุนกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว เพิ่มผลผลิต และลดต้นทุน ซึ่งจากการดำเนินงานทำแปลงเรียนรู้มาเป็นเวลา 2 ปี พบว่า ต้นทุนการผลิตลดลง 29-37% ลดจำนวนครั้งในการให้น้ำในนาข้าว 42% ประหยัดเวลาในการฉีดพ่นสารเคมีถึง 80% เกษตรกรในพื้นที่ให้ความสนใจและตอบรับเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะเป็นอย่างดี
สำหรับการทำนาโดยใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ มีดังนี้
1. การปรับระดับดินโดยการใช้เครื่องจักรกลปรับดินด้วยเลเซอร์ (Laser land levelling) เป็นการใช้เครื่องจักรกลในการเตรียมดิน ซึ่งควบคุมระดับด้วยระบบแสงเลเซอร์ เพื่อปรับระดับความลาดชันให้ผิวดินให้เรียบ สม่ำเสมอ มีความแม่นยำสูง สามารถจัดการน้ำในแปลงได้อย่างทั่วถึง กระจายทั่วทั้งแปลงนา
2. การปลูกข้าวโดยใช้รถหยอดข้าวงอก โดยใช้พวงมาลัยไร้คนขับ เป็นการใช้รถหยอดข้าวงอก โดยใช้พวงมาลัยอัตโนมัติ เพื่อบังคับทิศทางด้วยระบบ GPS ให้แถวของต้นข้าวเป็นเส้นตรง เป็นวิธีการที่สะดวกและสามารถลดต้นทุนได้กว่า 20%
3. การหว่านข้าวด้วยโดรนการเกษตร เป็นการหว่านข้าวที่ให้ความสม่ำเสมอ โดยลดแรงงาน ลดเวลาในการทำงานและลดอัตราเมล็ดพันธุ์
4. การติดตามระดับน้ำในนาข้าวด้วยท่อวัดน้ำอัจฉริยะ ท่อวัดระดับน้ำ เป็นท่อที่สามารถแสดงผลปริมาณระดับน้ำทุกชั่วโมงผ่านทาง Line Application บนมือถือของเกษตรกร โดยใช้ Solar Cell เป็นแหล่งให้พลังงาน
5. การฉีดพ่นสารควบคุมกำจัดวัชพืช โรค และแมลง ด้วยโดรนฉีดพ่นสาร เป็นวิธีที่มีจุดเด่นสำคัญที่ลดความเสียหายของต้นข้าวจากการเหยียบย่ำแปลงนา และลดความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้ฉีดพ่น อีกทั้งยังสามารถตั้งโปรแกรมฉีดพ่นอัตโนมัติ ลดปริมาณน้ำที่ใช้ประมาณ 85%
6.การสำรวจสุขภาพข้าวในแปลงนาโดยใช้โดรนสำรวจ ติดตั้งกล้องมัลติเสปกตรัม เป็นเทคโนโลยีที่สามารถช่วยเหลือให้เกษตรกรให้ความสำคัญในด้านการดูแลรักษาได้อย่างตรงจุด สามารถวิเคราะห์และประเมินความเสียหายจากการเข้าทำลายของโรคและแมลง และการระบาดของวัชพืช ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว
7. การติดตามสภาพแวดล้อม ด้วยการติดตั้งสถานีตรวจวัดสภาพอากาศ สำหรับการตรวจวัดข้อมูลทางเคมีและฟิสิกส์ต่างๆ เช่น อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ปริมาณน้ำฝน ความเร็วลม และความเข้มแสงเป็นต้นซึ่งสามารถส่งข้อมูล แบบ real time เข้าระบบ IOT เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำเอาไปประยุกต์ใช้
8. platform เป็นหน้าจอแสดงผลจากเซนเซอร์ต่างๆ ภายในแปลงนา โดยแสดงข้อมูลแบบ real time เกษตรกรสามารถดูข้อมูลสภาพแปลง ระดับน้ำ สภาพภูมิอากาศภายในแปลง ระยะการเจริญเติบโตของข้าวที่ปลูกเป็นรายแปลง ทำให้เกษตรกรสามารถได้รับข่าวสาร เพื่อช่วยในการตัดสินในการบริหารจัดการแปลงให้มีประสิทธิภาพ
“เมื่อมีการเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตรและนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ สนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ระบบเครื่องจักรกลการเกษตรบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม ส่งผลให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกวางแผนการเพาะปลูกได้อย่างแม่นยำ นำไปสู่การทำการเกษตรเพื่อความยั่งยืน สร้างรายได้มั่นคงแก่เกษตรกรไทย” นายณัฏฐกิตติ์ กล่าว