วันที่ 12 พฤษภาคม 2566 พันจ่าเอกประเสริฐ มาลัย หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมการสนับสนุนโครงการสร้างอาชีพผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูงเพื่อขับเคลื่อนแผนธุรกิจเกษตรรายสินค้าของหมู่บ้านผ่านแหล่งเงินทุนจากการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ภายใต้โครงการขับเคลื่อนการเกษตรระดับหมู่บ้านสู่การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานทั้งในและนอกสังกัดที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โดยในที่ประชุมมีการติดตามความก้าวหน้าโครงการสร้างอาชีพผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูงเพื่อขับเคลื่อนแผนธุรกิจเกษตรรายสินค้าของหมู่บ้านผ่านแหล่งเงินทุนจากการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จำนวน 6 โครงการ อาทิ1) โครงการแปลงใหญ่ผลิตเมล็ดข้าวพันธุ์ดี 2) โครงการแปลงใหญ่ผลิตมันสำปะหลังระบบน้ำหยด 3) โครงการแปลงใหญ่ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ธาตุอาหารสูง 4) โครงการแปลงใหญ่หมู่บ้านผลิตอาหารสัตว์ 5) โครงการแปลงใหญ่หมู่บ้านโคบาลไทย และ 6) โครงการแปลงใหญ่หมู่บ้านเลี้ยงไก่ไข่
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ มอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการฯ ดังกล่าวและพิจารณาแหล่งเงินทุน เพื่อสนับสนุนแผนธุรกิจเกษตรรายสินค้าของหมู่บ้านตามภารกิจที่รับผิดชอบ รวมทั้งขับเคลื่อนโครงการฯ ดังกล่าว ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า งานวิจัยและประสบการณ์จากหลายประเทศได้แสดงให้เห็นถึงคุณลักษณะร่วมหลายประการของคลัสเตอร์เกษตรมูลค่าสูงที่ประสบความสำเร็จ ประการแรก สินค้าเกษตรมูลค่าสูงส่วนใหญ่จะเน้นผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก เพราะขนาดตลาดที่ใหญ่กว่าในประเทศจะทำให้เกิดแรงจูงใจในการร่วมมือกัน ประการที่สอง เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยมีความเป็นผู้ประกอบการ กล่าวคือ นอกจากมีทักษะในเรื่องการปลูกและแปรรูปแล้ว ยังมีทักษะในเรื่องการบริหารจัดการและการตลาดที่ดีอีกด้วย ประการที่สาม ภาครัฐมีการลงทุนพัฒนาสายพันธุ์พืชให้ตรงกับความต้องการของตลาดและมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ระบบชลประทานในคลัสเตอร์ ประการต่อมา คือ การสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรอยากเข้าร่วมในคลัสเตอร์ ผ่านการออกแบบโครงสร้างสิ่งจูงใจที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการเลือกทำเกษตรมูลค่าสูงของเกษตรกรและพฤติกรรมการเลือกลงทุนของผู้ประกอบการในพื้นที่ พร้อมทั้งมีกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เกิดความไว้วางใจระหว่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ ในคลัสเตอร์ และประการสุดท้าย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาคลัสเตอร์ด้วย
อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่พืชชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป จะนำไปสู่ปัญหาผลผลิตล้นตลาดได้ ดังนั้น การพัฒนาคลัสเตอร์เกษตรมูลค่าสูงจะต้องทำในระดับที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
นอกจากนั้น การวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เกิดการแปรรูปสินค้าเกษตรมูลค่าสูง การเพิ่มมูลค่าผลผลิตต่อไร่ของพืชเศรษฐกิจมูลค่าต่ำ ผ่านการยกระดับผลิตคุณภาพและการแปรรูปยังเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องดำเนินการควบคู่กันไปด้วย