ไทยจัดอบรม ‘พลาสมา-นิวเคลียร์ฟิวชัน’ แห่งอาเซียน ครั้งที่ 8

คณะผู้เชี่ยวชาญจาก 7 ประเทศ ซึ่งรวมถึงจีน เข้าร่วมการฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีพลาสมาและนิวเคลียร์ฟิวชันในสัปดาห์นี้ ซึ่งจัดขึ้นสำหรับนักวิจัยและนักศึกษาจากประเทศสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน (ASEAN) และประเทศเพื่อนบ้าน ในจังหวัดนครนายกทางตอนกลางของไทย

โครงการการอบรมทางด้านพลาสมาและนิวเคลียร์ฟิวชันแห่งอาเซียน ครั้งที่ 8 ประจำปี 2023 ซึ่งเปิดฉากในวันจันทร์ (29 พ.ค.) เป็นโครงการระยะ 5 วันที่จัดโดยสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติของไทย(TINT)

ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีฯ กล่าวในพิธีเปิดว่าโครงการการฝึกอบรมฯ เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะเพิ่มจำนวนผู้มีความสามารถรุ่นใหม่ให้มีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์จากพลังงานฟิวชันโดยสถาบันเทคโนโลยีฯ วางแผนเตรียมเป็นประตูสู่การฝึกงานแก่สถาบันการศึกษาภายใต้ความร่วมมือและเป็นศูนย์กลางของอาเซียนด้านการวิจัยและพัฒนาเตาปฏิกรณ์โทคาแมคขั้นสูง

เตาปฏิกรณ์โทคาแมคขนาดยักษ์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ทดลองที่สามารถสร้างพลาสมาอุณหภูมิสูงพิเศษเพื่อจำลองสภาวะปฏิกิริยาฟิวชัน จัดส่งถึงไทยจากนครเหอเฝย เมืองเอกของมณฑลอันฮุยทางตะวันออกของจีนในเดือนมกราคม

สมศักดิ์ แดงติ๊บ ผู้จัดการศูนย์วิศวกรรมและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ชั้นสูงของสถาบันเทคโนโลยีฯ กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า “ไทยแลนด์ โทคาแมค-1” หรือทีที-1 (TT-1) เตาปฏิกรณ์โทคาแมคเครื่องแรกในไทยเพิ่งดำเนินการติดตั้งเสร็จสิ้นด้วยความพยายามร่วมกันระหว่างสถาบันเทคโนโลยีฯ และสถาบันฟิสิกส์พลาสมา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (ASIPP)

IMG 3971

ข้อตกลงความร่วมมือที่ลงนามในปี 2017 ระบุว่าสถาบันฟิสิกส์พลาสมาจะบริจาคเตาปฏิกรณ์โทคาแมคแก่สถาบันเทคโนโลยีฯ ช่วยไทยติดตั้งและดำเนินการเตาปฏิกรณ์ ตลอดจนบ่มเพาะผู้มีความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนาพลังงานฟิวชัน

หูเจี้ยนเซิง รองผู้อำนวยการสถาบันฟิสิกส์พลาสมา ให้สัมภาษณ์กับซินหัวว่าสถาบันฟิสิกส์พลาสมาตั้งใจจะร่วมมือและร่วมพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพลังงานฟิวชันอย่างสันติกับกลุ่มประเทศอาเซียนต่อไปในอนาคต

รายงานระบุว่าโครงการฝึกอบรมนี้มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 80 คนจาก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย เนปาล ญี่ปุ่นอินโดนีเซีย และเวียดนาม โดยโครงการฝึกอบรมฯ ครั้งที่ 1 ถูกจัดขึ้นในจังหวัดปทุมธานีทางตอนกลางของไทยในเดือนมกราคม 2015

IMG 3969