‘กับดักไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทย’ กำราบ ‘เสี้ยนดิน’ ในมันแกว

เทคโนโลยีชีวภัณฑ์ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทย ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของสำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพกรมวิชาการเกษตร ไปถ่ายทอดให้เกษตรกรผู้ปลูกมันแกวอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งประสบปัญหาเสี้ยนดินเข้าทำลายผลผลิต 

IMG 4370

โดยใช้เนื้อมะพร้าวแก่คลุกกับไส้เดือนฝอยใส่กระปุกเจาะรูทำเป็นกับดักอาหารเหยื่อล่อเสี้ยนดินฝังไว้ในดินบริเวณแปลงปลูกมันแกวเมื่อมันแกวอายุประมาณ 45-60 วัน เสี้ยนดินได้เข้ามากินอาหารในกับดักอาหารเหยื่อล่อที่คลุกไส้เดือนฝอยไว้ ส่งผลให้เสี้ยนดินที่กินอาหารในกับดักตายภายใน 1 วัน 

และจากผลการดำเนินงานในแปลงของเกษตรกรโดยการปลูกแบบเกษตรกรทั่วไป พบว่าการฝังกับดักอาหารเหยื่อล่อร่วมกับไส้เดือนฝอย จำนวน 4 จุด ต่อพื้นที่ 42 ตร.ม. สามารถลดความเสียหายของผลผลิตมันแกวได้ 35% 

IMG 4369

เมื่อเทียบกับการที่ไม่มีการป้องกันกำจัด และให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 3,989-4,080 กก.ต่อไร่ ในขณะที่ไม่ใช้ไส้เดือนฝอยเกษตรกรจะได้รับผลผลิตเพียง 2,593-2,652 กก.ต่อไร่เท่านั้น โดยคิดเป็นเงินที่ลดความเสียหายได้ถึง 2,268-5,016 บาทต่อไร่  

การใช้เทคโนโลยีชีวภัณฑ์ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทยในการควบคุมเสี้ยนดินจึงเป็นวิธีที่สามารถปรับใช้กำจัดและควบคุมเสี้ยนดินได้ได้อย่างเหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสียหายของผลผลิตมันแกว

IMG 4368

ชีวภัณฑ์ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทยผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรสามารถนำไปใช้ป้องกันกำจัดเสี้ยนดินที่เข้าทำลายผลผลิตมันแกวได้อย่างมีประสิทธิภาพช่วยลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ 

นอกจากนี้ ยังพบว่าการนำเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรมาผลิตมันแกวทั้งระบบ ได้แก่ การจัดการเตรียมแปลงปลูก ระยะปลูกที่เหมาะสม การใส่ปุ๋ยเคมีตามคำแนะนำ การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมอัตรา 1,000 กก.ต่อไร่ ยังสามารถเพิ่มผลผลิตมันแกวได้สูงถึง 7,776 กก.ต่อไร่ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากวิธีการเดิมของเกษตรกรที่ไม่ใช้ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม 16 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้น 10,232 บาทต่อไร่

IMG 4367