คณะนักบรรพชีวินวิทยาของจีน ใช้เทคนิคการทดลองขั้นสูงจนสามารถยืนยันได้ว่า “ยูนนานโอโซอัน”(yunnanozoans) สัตว์รูปร่างคล้ายปลาลึกลับที่เคยมีชีวิตอยู่เมื่อ 518 ล้านปีก่อน เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังเก่าแก่ที่สุดของโลก
เฉิงเจียง เฟานา (Chengjiang fauna) แหล่งฟอสซิลสัตว์ดึกดำบรรพ์ยุคแคมเบรียนในมณฑลอวิ๋นหนาน(ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เก็บรักษากลุ่มซากบรรพบุรุษของสัตว์มีกระดูกสันหลังไว้เป็นจำนวนมาก โดยนักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่าจะสามารถไขปริศนาต้นตอของสัตว์มีกระดูกสันหลังจากการศึกษาแหล่งฟอสซิลแห่งนี้ได้
คณะนักวิจัยจากสถาบันธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาหนานจิง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ได้ตรวจสอบตัวอย่างของยูนนานโอโซอันจากเฉิงเจียง เฟานา ด้วยเทคนิคที่ยังไม่เคยใช้มาก่อน อาทิเอกซเรย์ไมโครโทโมกราฟี การสแกนและกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องผ่าน และการทำแผนที่องค์ประกอบด้วยเทคนิคสเปกโทรเมตรีแบบกระจายพลังงาน
คณะนักวิจัยพบว่าโครงสร้างกระดูกเหงือก (branchial arch) ของยูนนานโอโซอัน ประกอบด้วยเซลล์กระดูกอ่อนที่มีสารประกอบที่อยู่ภายนอกเซลล์ (extracellular matrix) ซึ่งเต็มไปด้วยไมโครไฟบริล อันเป็นลักษณะเฉพาะของสัตว์มีกระดูกสันหลัง
จ้าวฟางเฉิน นักวิจัยจากสถาบันฯ ระบุว่าลักษณะอันดึกดำบรรพ์หลายอย่างของยูนนานโอโซอันอาจให้ข้อมูลด้านวิวัฒนาการเชิงลึกที่สำคัญ ซึ่งสามารถไขปริศนาต้นตอของสัตว์มีกระดูกสันหลังได้
การค้นพบครั้งนี้ได้รับการเผยแพร่ลงในนิตยสารไซเอนซ์ ในวันวานนี้ (8 ก.ค.)
ขอบคุณข้อมูล/ภาพ จาก : สำนักข่าวซินหัว (XinhuaThai)