ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับจีดีพีปี 2566 มาที่ร้อยละ 3.2 ผลจากเศรษฐกิจโลกถดถอย ในขณะที่จีนมีแนวโน้มเปิดประเทศเร็วแต่ยังต้องติดตามสถานการณ์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับตัวเลขประมาณการจีดีพีปี 2566 มาที่ร้อยละ 3.2 จากเดิมที่อยู่ในกรอบร้อยละ3.2-4.2 แม้ว่าจะปรับเพิ่มประมาณการจีดีพีสำหรับทั้งปี 2565 จากร้อยละ 2.9 มาที่ร้อยละ 3.2 ก็ตาม

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในปี 2566 ซึ่งจะกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยูโรโซนมีแนวโน้มที่จะไม่เติบโต เป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบจากวิกฤตพลังงานในยุโรปด้วย 

ในขณะที่ แนวโน้มที่จีนจะเปิดประเทศในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2566 มีมากขึ้น แต่ก็ยังต้องติดตามสถานการณ์ในจีนหลังจากนี้ ทั้งจำนวนผู้ป่วย ผู้เสียชีวิต และความเพียงพอของระบบสาธารณสุขเนื่องจากยังมีความเป็นไปได้ที่จีนจะเผชิญการแพร่ระบาดระลอกใหม่ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อเนื่องมายังกิจกรรมทางเศรษฐกิจจีน ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อสถานการณ์การเปิดประเทศของจีนดังกล่าว โดยยังคงจำนวนนักท่องเที่ยวที่ 22 ล้านคน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ไว้ที่ร้อยละ 3.2

ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยนั้น มองว่าเฟดคงจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรกของปี2566 ไปแตะระดับร้อยละ 5.0 หรืออาจสูงกว่านั้น ก่อนที่จะมีโอกาสคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงตลอดทั้งปี2566 ขณะที่ กนง.มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในการประชุมอีก 2 ครั้งๆ ละร้อยละ0.25 ซึ่งย้ำว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศยังอยู่ในจังหวะขาขึ้นเช่นเดียวกัน ด้านแนวโน้มเงินบาทในช่วงไตรมาสแรกของปี มีโอกาสแข็งค่าขึ้น หากเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยตามแผนที่วางไว้ เนื่องจากตลาดรับรู้ความเป็นไปได้ดังกล่าวแล้ว 

สำหรับภาคการเงิน ภาพแนวโน้มสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยปี 2566 คาดว่าจะเติบโตในกรอบจำกัด ราวร้อยละ 4.2-5.2 (ค่ากลางร้อยละ 4.7) เทียบกับปีนี้ที่คาดว่าจะโตร้อยละ 5.0 ตามผลของเศรษฐกิจที่เผชิญหลายปัจจัยเสี่ยง อีกทั้งธุรกิจมีการฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึง ขณะที่ ทิศทางที่ระมัดระวังดังกล่าว ยังสะท้อนผ่านมุมมองต่อคุณภาพสินทรัพย์ของระบบธนาคารพาณิชย์ ที่คาดการณ์ว่าสัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวม น่าจะยังไม่ได้ดีขึ้นจากปี 2565 นัก โดยเอ็นพีแอล ณ สิ้นปี 2566 คาดว่าจะอยู่ในกรอบร้อยละ 2.55-2.80 เทียบกับร้อยละ 2.65-2.75 ที่คาด ณ สิ้นปี 2565

สำหรับแนวโน้มธุรกิจไทยปี 2566 นั้น นางสาวเกวลิน รองกรรมการผู้จัดการ มองว่ายังเผชิญหลายโจทย์รุมเร้า โดยฝั่งต้นทุน จะมีต้นทุนค่าไฟฟ้า ค่าแรง และดอกเบี้ยที่ขยับขึ้น ขณะที่ ฝั่งรายได้จะถูกกระทบจากการที่เศรษฐกิจแกนหลักของโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยและเงินบาทแข็งค่า จนฉุดความต้องการสินค้าส่งออกไทย นอกจากนี้ เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อธุรกิจแต่ละประเภทแตกต่างกัน จึงทำให้การฟื้นตัวของรายได้ธุรกิจในปี 2566 ยังมีลักษณะเป็น K-Shaped โดยธุรกิจที่นำการฟื้นตัว จะเป็นโรงแรมและร้านอาหาร โรงพยาบาลเอกชน รวมถึงค้าปลีก ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่ฟื้นตัวช้า หรือหดตัว ได้แก่อสังหาริมทรัพย์ และส่งออกในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

A9AFE0DB 5040 4096 A984 658637CEEB09

นอกเหนือจากนั้นในปี 2566 ธุรกิจไทยจะเห็นโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ชัดขึ้น โดยคู่ค้าของไทยจะเข้มงวดเรื่องเกณฑ์ต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism  (CBAM) จากฝั่งยุโรป และความพยายามของไทยที่ทำให้คำนิยามกลางและแนวทางขับเคลื่อน (Green Taxonomy) มีความชัดเจนขึ้น ซึ่งธุรกิจไทยต้องเร่งศึกษาและปรับตัว เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว