ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ภาพรวมรายได้เกษตรกรปี 66 อาจหดตัวราว 0.8% เมื่อเทียบกับปี 65 จากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะตลาดส่งออกหลักของไทยอย่างจีน ซึ่งจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งความต้องการสินค้าเกษตรจากไทย และอาจกดดันให้ราคาปรับตัวลดลงราว 1.0% (YoY) จากราคาสินค้าเกษตรหลักอย่างยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน อ้อย ทุเรียน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปรับลดลง
สอดคล้องกับแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรในตลาดโลกที่น่าจะย่อลงจากฐานที่พุ่งสูงในปี 65 สำหรับในส่วนของต้นทุนการผลิต แม้คาดว่าจะย่อลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลกและราคาปุ๋ยเคมีนำเข้าที่ลดลง แต่นับว่ายังอยู่ในระดับสูง จากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งจะทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ยังต้องเผชิญปัญหาในด้านต้นทุนการผลิต
เมื่อจำแนกตามประเภทสินค้าที่เกษตรที่จะส่งผลต่อรายได้สุทธิของเกษตรในระดับที่แตกต่างกัน จะสามารถแบ่งสินค้าออกเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ
1. กลุ่มที่เผชิญความท้าทายสูง ได้แก่ ยางพารา และทุเรียน เนื่องจากพึ่งพาตลาดจีนสูง ทำให้ได้รับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีน นอกเหนือจากต้นทุนในด้านแรงงานและปุ๋ยเคมี
2. กลุ่มที่สามารถประคองตัวได้ ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่พึ่งพาตลาดในประเทศเป็นหลัก และมีราคาอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี สอดคล้องกับราคาพืชพลังงานและอาหารสัตว์ที่ยังยืนสูงจากปริมาณสินค้าในตลาดโลกที่ตึงตัว แต่อ้อยต้องติดตามประเด็นร่างกฎหมายฉบับใหม่
3. กลุ่มที่เผชิญความท้าทายน้อย ได้แก่ ข้าว และมันสำปะหลัง เนื่องจากมีราคาอยู่ในเกณฑ์ดี จากความต้องการที่มีรองรับทั้งในและต่างประเทศ แต่อาจต้องเผชิญต้นทุนปุ๋ยเคมีในระดับสูง และยังต้องจับตาอิทธิพลของลานีญาที่มีผลต่อการเพาะปลูก ซึ่งอาจกระทบต่อปริมาณผลผลิต โดยเฉพาะข้าว
ทั้งนี้ คงต้องจับตาประเด็นความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะนโยบาย Dynamic Zero-COVID หลังเดือน มี.ค. 66 ซึ่งในกรณีที่เศรษฐกิจจีนปรับตัวดีขึ้นเร็ว ก็อาจหนุนความต้องการสินค้าเกษตรจากจีนให้ฟื้นตัวได้มากกว่าที่ประเมินไว้
นอกจากนี้ ยังต้องติดตามประเด็นภูมิรัฐศาสตร์โลก ทั้งเหตุการณ์ในยูเครน และพื้นที่อื่นๆ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาจมีผลต่อสมดุลอุปสงค์และอุปทานของสินค้าเกษตรทั่วโลก และจะส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกรสุทธิของไทยในท้ายที่สุด