กรมวิชาการเกษตรขับเคลื่อนต่อยอดผลงานวิจัย สู่โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สร้างรายได้ให้เกษตรกรกว่า 2 ล้านบาทต่อปี

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2525 เพื่อศึกษาทดลองงานพัฒนาการเกษตรต่างๆ สำหรับเป็นตัวอย่างให้ราษฎรนำไปใช้ในพื้นที่ของตัวเอง และพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ให้เป็นศูนย์ให้บริการในด้านเทคนิคและวิชาการครบวงจร เพื่อให้ราษฎรเข้ามาเรียนและมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน “สร้างน้ำเพิ่มป่า พัฒนาชีวิตที่พอเพียง”

1C6FA5C6 5A0B 47BE B579 08DA9A91CEA3

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสกลนคร กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม มี 6 กิจกรรมเด่นได้แก่ เพาะเห็ด ศึกษาและพัฒนาระบบเกษตรผสมผสาน พืชสวน พืชไร่ ยางพารา และกิจกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ผ่านการสาธิต ทดสอบ ฝึกอบรมให้ความรู้เกษตรกร และขยายผลการดำเนินงานสู่เกษตรกรในพื้นที่

กิจกรรมเพาะเห็ด พัฒนาการผลิตเชื้อเห็ดเพื่อให้บริการแก่เกษตรกรในพื้นที่ ทั้งเห็ดเศรษฐกิจและเห็ดพื้นเมืองที่สำคัญ ได้แก่เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม เห็ดขอนขาว โดยใช้เชื้อพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร และเห็ดที่คัดเลือกสายพันธุ์จากเทือกเขาภูพาน ได้แก่ เห็ดบด ซึ่งเป็นเห็ดที่ได้รับความนิยมบริโภคในพื้นที่ โดยมีราคาเฉลี่ย 150-200 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งส่งผลทำให้เกิดกลุ่มเกษตรกรทั้งหมด 5 กลุ่ม มีสมาชิกทั้งสิ้น85 คน ได้แก่  กลุ่มวิสาหกิจชุมชนธุรกิจเกษตรครบวงจร (IAC) บ้านนาขาม  กลุ่มเพาะเห็ดบ้านโนนสมบูรณ์ กลุ่มเพาะเห็ดบ้านตากแดด กลุ่มเพาะเห็ดบ้านโพนก้างปลา และ กลุ่มเพาะเห็ดบ้านนานกเค้าสามารถผลิตก้อนเชื้อเห็ดได้ 153,000 ก้อนต่อปี มูลค่ามากกกว่าปีละ 1,530,000 บาท มีเกษตรกรนำไปเปิดดอกเพื่อจำหน่าย สร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 2,544,000 บาทต่อปี

E2F02092 0BF2 4224 844A 596F6685EE9B scaled

กิจกรรมศึกษาและพัฒนาระบบเกษตรผสมผสาน  เน้นให้เกิดการพึ่งพาตนเอง สร้างความมั่นคงให้คนที่ต้องการทำอาชีพเกษตรกรรม ลดรายจ่ายด้านอาหารในครัวเรือน และเสริมรายได้ การใช้ปุ๋ย PGPR 2 ในข้าว ทำให้ลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง 25 เปอร์เซ็นต์ และยังนำแหนแดงไปเลี้ยง เป็ด ห่าน สุกร และจิ้งหรีดซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ลงได้

กิจกรรมพืชสวน สาธิตการผลิตไม้ผลพันธุ์ดี ได้แก่ ลิ้นจี่นครพนม 1 ลองกอง มังคุด เงาะ ฝรั่ง มะนาวแก้วมังกร ยกระดับการผลิตไม้ผล โดยการขอรับรองมาตรฐานแหล่งผลิต GAP พืช ชนิดพืชที่ผ่านการรีบรองแล้ว ได้แก่  ลิ้นจี่ ลองกอง มังคุด และ เงาะ  นำไม้ผลแปรรูป ได้แก่ มะขามเปรี้ยว มะขามป้อม กล้วยเสาวรส  นอกจากนี้ยังมีแปลงสาธิตการผลิตไม้ดอกไม้ประดับ เช่น ปทุมมา แพงพวย ดาวเรืองเพื่อการตัดดอก มีการขยายพันธุ์พืชสวนพันธุ์ดี กว่า 5,400 ต้น ประกอบด้วย ลิ้นจี่ 500 ต้น ลำไย 200 ต้น มะม่วง200 ต้น กล้วย 200 หน่อ เสาวรส 300 ต้น มะละกอ 1,000 ต้น และต้นกล้าผักต่างๆ 3,000 ต้น และผลิตเมล็ดพันธุ์พืชผักพระราชทาน ได้แก่ พริก มะเขือเปาะ มะเขือยาว มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว กะเพรา แมงลักเพื่อสำรองกรณีภัยพิบัติฉุกเฉิน

กิจกรรมพืชไร่ สาธิตการผลิตพืชไร่พันธุ์ดี บนพื้นที่ลาดเอียง แปลงตัวอย่างใช้หญ้าแฝกป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน การผลิตพืชไร่อินทรีย์เพื่อการแปรรูป การผลิตเมล็ดพันธุ์พืชไร่ การปลูกพืชไร่เพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  ได้แก่  ข้าวโพดเทียนพันธุ์สุโขทัย 1 ข้าวโพดพื้นเมืองพันธุ์ตักหงาย  ข้าวฟ่าง งา ถั่วพุ่มดำ ถั่วลิสง มันเทศ ปอโมโรเฮยะ กระเจี๊ยบ อ้อยคั้นน้ำ ทานตะวัน เป็นต้น ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชไร่พระราชทาน และกระจายพืชไร่พันธุ์ดีแก่เกษตรกร ได้แก่ ข้าวโพดเทียน และถั่วพุ่ม เพื่อสำรองภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน

72C2E60B 1C58 4366 B521 B40D41A6AFB4

กิจกรรมยางพารา ส่วนแปลงแสดงพันธุ์ยางและเทคโนโลยีการปลูกสร้างสวนยาง  7 สายพันธุ์ พื้นที่ 15 ไร่โดยปลูกในปี 2543 ปี 2564 มีผลผลิตยางแผ่นชั้น 3 รวม 1,915 กิโลกรัม นอกจากนั้นยังมีการเพาะเห็ดและเลี้ยงปลาดุกในสวนยาง มีแปลงสาธิตการปลูกแซม และพืชร่วมกับยางพารา เช่น กระชายขาว พริกไทย ดีปลี กาแฟ เหลียง สละสายพันธุ์อินโด และคอนแคน ซึ่งคอนแคนเป็นพืชท้องถิ่นในเขตเทือกเขาภูพาน ใช้ดอกและยอดเป็นอาหาร ผลผลิตมีมูลค่าสูง

กิจกรรมแปรรูปเพิ่มมูลค่า ผลผลิตทางการเกษตร เป็นกิจกรรมที่สาธิต การแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตทางการเกษตร ที่มีในพื้นที่ให้มีมูลค่าสูงขึ้น ได้แก่ การผลิตน้ำตาลแดงจากอ้อย การแปรรูปเห็ดการแปรรูปกล้วย การแปรรูปผลไม้ตามฤดูกาล เช่น มะม่วง มะขาม กระท้อน เป็นต้น

ในการนี้ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ ยังได้ให้คำแนะนำ สนับสนุน แนวทางในการทดสอบพืชทางเลือกใหม่ มูลค่าสูงไปทดสอบการปรับตัวในพื้นที่โครงการ เช่น มะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ และสนับสนุนการใช้สารชีวภัณฑ์  เพื่อลดเลิก การใช้สารเคมีในโครงการให้มากขึ้น

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวในตอนท้ายว่า กรมวิชาการเกษตรจะสนองตอบพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 และในหลวงรัชกาลที่ 10 สืบสาน รักษา ต่อยอด เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ให้เป็นศูนย์ให้บริการในด้านเทคนิคและวิชาการครบวงจร เพื่อให้ราษฎรเข้ามาเรียนรู้และมีส่วนร่วมในการดำเนินงานต่อไป