นักวิจัยสถาบันรุกขเวชและ ม.มหาสารคาม ค้นพบพืชสกุลขมิ้นชนิดใหม่ของโลก ตั้งชื่อ”กระเจียวบุณฑริก”

นักพฤกษศาสตร์ไทย นักวิจัยสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช ร่วมกับนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) ค้นพบพืชสกุลขมิ้นชนิดใหม่ของโลก “กระเจียวบุณฑริก” ชื่อวิทยาศาสตร์“Curcuma pulcherrima Boonma, Saensouk & P. Saensouk”

ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) ร่วมกันศึกษาอนุกรมวิธานพืชชนิดนี้ โดย รศ.ดร.สุรพลแสนสุข นักวิจัยจากสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, รศ.ดร.ปิยะพร แสนสุข นักวิจัยจากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, และนายธวัชพงศ์ บุญมา นิสิตระดับปริญญาเอก หลักสูตรความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ สนับสนุนโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช). พบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก และยังไม่เคยมีการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์มาก่อน 

ทีมผู้วิจัยจึงได้ร่วมกันตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้กับพืชชนิดใหม่นี้ว่าCurcuma pulcherrima Boonma, Saensouk & P. Saensouk 

โดยพืชชนิดใหม่นี้ได้รับการตอบรับตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ Biodiversitas ปีที่ 23 ฉบับที่ 12 หน้า 6635–6644. ซึ่งชื่อชนิด “pulcherrima” เป็นภาษาละตินแปลเป็นภาษาไทยว่า “สวยงามที่สุด” ตามลักษณะของดอกและช่อดอกที่มีความสวยงามมาก 

พืชชนิดนี้ถูกพบครั้งแรกโดยคุณอนุพงษ์ สุขเพ็งและคุณธวัฒน์ สายสังข์ และมีการเรียกชื่อต้นที่มีใบประดับโทนสีแดงว่า “ว่านมหาอุดมพญาไพร” ในขณะที่ใบประดับสีเขียวเรียกว่า “ว่านมหาอุดมสไบแก้ว”. …ในขณะที่ชื่อ “กระเจียวบุณฑริก” ถูกตั้งขึ้นตามชื่อแหล่งที่พบในเขตพื้นที่อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี เขตพรรณพฤกษชาติภาคตะวันออกของไทย(อ้างอิงตาม The Flora of Thailand) โดยทั้งคำว่า “บุณฑริก” และ “อุบล” มีความหมายเดียวกันว่า”ดอกบัว” ซึ่งช่อดอกของพืชชนิดนี้มีลักษณะคล้ายกับดอกบัวด้วยเช่นกัน 

CDC1E084 522E 44BE AC0F 7BB0F10BD6B9

 กระเจียวบุณฑริก หรือว่านมหาอุดมชนิดนี้เป็นพืชหายากชนิดใหม่ของโลก จัดอยู่ในวงศ์ขิง(Zingiberaceae); เผ่า​ขิง (Zingibereae); สกุลขมิ้น (Curcuma); และในสกุลย่อย Ecomata. เป็นพืชล้มลุกที่มีเหง้าใต้ดินแบบ rhizome มีลักษณะสีดอกคล้ายกับมหาอุดมแดง (Curcuma pierreana Gagnep.)  

นอกจากนี้ยังมีลักษณะของอับเรณูและเดือยอับเรณูคล้ายกับขมิ้นสยาม (Curcuma siamensis Saensouk & Boonma)

อย่างไรก็ตามพบว่ามีลักษณะทางสัณฐานวิทยาแตกต่างกันหลายประการกับทั้งสองชนิดข้างต้น โดยมีลักษณะเด่นคือ มีโคนใบรูปลิ่มถึงรูปกลม มีร่องกลางใบสีแดง หลังใบแดงเข้ม, ช่อดอกเกิดอยู่ระหว่างกาบใบที่โคนของลำต้นไม่สูงจากพื้นดินมากนัก, ก้านช่อดอกสั้น, ใบประดับมีขน, กลีบดอกสีขาวปลายอมชมพู, กลีบปากรูปไข่กลับ ปลายแฉก สีขาว มีแถบสีเหลืองตรงกลางจากปลายกลีบจนถึงฐานของกลีบ, เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันรูปรีแคบแบบไม่สมมาตร ปลายแหลม สีขาวปนชมพู มีเส้นสีเหลืองอ่อนอยู่ตรงกลางกลีบด้านในจากฐานยาวประมาณ 1/3 ของความยาวกลีบ 

65B87F79 7D0D 4EE2 A2C7 E51616B76F5B

ส่วนด้านนอกเป็นสีขาวปนชมพู ขอบขาว, ก้านชูอับเรณูสีขาว มีขน, อับเรณูสีขาวมีสีชมพูอ่อนปนเล็กน้อย, เดือยอับเรณูชี้ออกด้านข้าง, ออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม ดอกบานพร้อมผสมในเวลาเช้าและเริ่มพักตัวในช่วงปลายเดือนตุลาคม และจะเริ่มเกิดเป็นต้นใหม่ในช่วงเดือนเมษายน อาจจะช้าหรือเร็วกว่าระยะเวลาดังกล่าวเล็กน้อยขึ้นอยู่กับฝนแรกและสภาพภูมิอากาศในแต่ละปี

เนื่องจากพบการกระจายพันธุ์แค่ในพื้นที่ป่าเขตจังหวัดอุบลราชธานี และยังไม่เคยมีรายงานการค้นพบในพื้นที่อื่น ๆ หรือประเทศอื่นมาก่อนทำให้มีสถานะเป็นพืชถิ่นเดียว (Endemic species) และหายากของไทย (Rare species) 

จากการสำรวจการใช้ประโยชน์พืชชนิดนี้ เบื้องต้นพบว่าใช้ปลูกเป็นไม้มงคลตามความเชื่อ แต่เนื่องจากเป็นพืชหายากและใช้ปลูกเป็นไม้มงคลตามความเชื่อดังกล่าว จึงไม่นำมารับประทานเหมือนกับชนิดอื่น ๆในสกุลเดียวกัน เช่น กระเจียวขาว (Curcuma singularis Gagnep.), และกระเจียวแดง (Curcuma angustifolia Roxb.) ที่นิยมนำช่อดอกอ่อนมารับประทานสด หรือลวกทานกับน้ำพริก

DE244397 F534 4710 82DE 3854D8A77090

ปัจจุบันในประเทศไทยมีความหลากชนิดของพืชสกุลขมิ้นมากกว่า 70 ชนิด และมีการค้นพบพืชชนิดใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง พืชหลายชนิดยังคงรอการค้นพบ ในขณะที่ป่าธรรมชาติในหลายพื้นที่กำลังถูกทำลายทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้พืชหลายชนิดในประเทศไทยมีสถานะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในเวลาอันใกล้ 

การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ อนุกรมวิธานพืช และการใช้ประโยชน์พืชในประเทศไทย จึงเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญในการนำไปต่อยอดในการศึกษาต่อในด้านอื่น ๆ และใช้เป็นแนวทางในการวางแผนอนุรักษ์เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต