เกษตรกรเมืองแพร่ ปลูกทุเรียนมูซังคิง-ไผ่กิมซุง รูปแบบผสมผสานจนสำเร็จ

“ดิลก ชมพูมิ่ง” เนรมิตที่ดิน 4 ไร่ ในจ.แพร่ ทำเกษตรผสมผสาน สหกรณ์สานฝันโครงการนำลูกหลานสานต่ออาชีพเกษตร ควบคู่ไปกับการทำงานประจำ

   การลงพื้นที่เยี่ยมชมแปลงเกษตรผสมผสานของเกษตรกรรุ่นใหม่ ”นาย ดิลก ชมพูมิ่ง” ภายใต้โครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร ของรองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ “นายอัชฌา สุวรรณนิตย์”สหกรณ์จังหวัดแพร่ “นายเฉลิมพล ชัยศิลบุญ” และคณะเมื่อเร็ว ๆ นี้ พร้อมทั้งให้คำแนะนำแนวทางการทำเกษตรแบบผสมผสาน การบริหารจัดการพื้นที่ ระบบน้ำและจัดการผลผลิตภายในสวนที่บ้านแม่คำมี อ.หนองม่วงไข่ จ.แพร่  นอกจากการสร้างขวัญและกำลังใจให้เกษตรกรมีความเชื่อมั่นในวิถีเกษตรกรรมอย่างเต็มเปี่ยมแล้วยังให้คำแนะนำองค์ความรู้ด้านการจัดการแปลงที่มิอาจประเมินค่าได้

   นาย ดิลก ชมพูมิ่ง เกษตรกรรุ่นใหม่ในวัย 31 ปี ได้เริ่มต้นทำสวนเกษตรผสมผสานอย่างจริงจังเมื่อปลายปี 2562 ด้วยเหตุอยากมีรายได้เสริมควบคู่กับรายได้จากงานประจำ แม้ปัจจุบันเขายังรั้งตำแหน่งพนักงานฝ่ายขายอาหารสัตว์บก บริษัทธุรกิจเกษตรยักษ์ใหญ่ที่ จ.สระบุรี หลังจบปริญญาตรีสาขาสัตว์ศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ ม.เชียงใหม่ แต่มีแนวคิดอยากทำอาชีพเกษตรควบคู่ไปด้วย หลังได้เนรมิตเนื้อที่ 4 ไร่ 2 งานที่บ้านแม่คำมี อ.หนองม่วงไข่ จ.แพร่ เป็นสวนเกษตรผสมผสาน 

48D257F2 C582 40C4 BE53 4919358B1914

    โดยมีพืชเศรษฐกิจอย่างทุเรียนพันธุ์มูซังคิงและไผ่กิมซุง เป็นตัวชูโรง โดยทุเรียนลงไว้จำนวน 147 ต้น  ส่วนไผ่กิมซุง จำนวน 110  ต้น พร้อมปลูกแซมด้วยพืชผัก สมุนไพรและไม้ผล อาทิ กล้วย น้อยหน่า มะม่วง  ฝรั่งกิมจู ชมพู่ มะละกอแขกดำ  พืชสมุนไพรและผักสวนครัว  จำพวก ขิง ข่า ตะไคร้ ใบ้มะกรูด หวังให้มีรายได้ตลอดทั้งปี 

    “ตอนนี้งานประจำก็ยังทำอยู่ แต่อยากจะทำอะไรที่เป็นของตัวเองจะได้มีรายได้ เมื่อเกษียณจากงานประจำ บังเอิญได้ซื้อที่มาจากญาติจำนวน 4ไร่กับ 2ไร่ เมื่อก่อนที่ตรงนี้ปลูกข้าวโพด(เลี้ยงสัตว์) แต่พอไม่มีใครทำก็ปล่อยทิ้งให้รกร้าง ผมก็เลยซื้อต่อเพื่อเอามาทำสวนเกษตรผสมผสาน อย่างที่เห็นทุกวันนี้” ดิลก ชมพูมิ่ง พนักงานฝ่ายขายอาหารสัตว์บก บริษัทธุรกิจเกษตรยักษ์ใหญ่ที่หันมาสวมหมวกเกษตรกรเต็มขั้นควบคู่กันไปด้วย โดยมุ่งเป้าไปที่ทุเรียน ราชาแห่งผลไม้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นไม้ผลที่มีความต้องการของตลาดสูง โดยเฉพาะตลาดจีน  

D89B297A 1479 4766 90F3 07705B74C67D

     “เหตุที่คิดปลูกมูซังคิง มองว่า ตอนนี้ตลาดหมอนทองกำลังจะเริ่มจะถดถอย เพราะปลูกกันมาก ราคาก็เริ่มลง แต่มูซังคิงราคาไม่ตกเลย ตอนนี้ราคาหน้าสวนตกกิโล 500 บาท ผลผลิตออกมาเท่าไหร่ส่งออกหมด มาเลเซียทำตลาดไว้ให้แล้วส่งไปจีน ฮ่องกงและใต้หวันได้ราคาสูงมาก” เกษตรกรคนเดิมเผยถึงสาเหตุที่ปลูกทุเรียนพันธุ์มูซังคิง โดยมองเรื่องตลาดและราคาเป็นจุดเด่น เมื่อเทียบกับทุเรียนสายพันธุ์อื่นๆ 

   นอกจากนี้ยังข้อดีเป็นพันธุ์ที่ปลูกง่าย ทนต่อโรค และเติบโตได้ดีในพื้นที่ราบเชิงเขาและมีสภาพภูมิอากาศหนาวเย็นอย่างจ.แพร่ ที่สำคัญใช้เวลาเพียงแค่ 4 ปีก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ โดยปกติมูลซังคิงจะให้ผลผลิตเฉลี่ย 50 ลูก/ต้น  โดยแต่ละลูกจะมีน้ำหนักเฉลี่ย 2.5 กิโลกรัม

    “ของผมที่ปลูก มี 2 รุ่น รุ่นแรกอายุ 3 ปีกว่าบางต้นเริ่มให้ผลผลิตบ้างแล้ว แต่ก็จะปลิดทิ้งให้เหลือต้นละ2-3ลูก  อีกรุ่นสองมีอายุเกือบ 2 ปีแล้ว  ส่วนการให้น้ำจะนำระบบโซล่าเซลล์มาใช้วางระบบในสวนเพื่อประหยัดไฟฟ้า”ดิลกเผย  

1FA071B2 7952 450A 969A 7C145BFEE6A3

    นอกจากทุเรียนแล้ว เขายังนำไผ่กิมซุง มาปลูกไว้เป็นแนวรั้วเพื่อกันลมพัดทำลายต้นทุเรียน ทั้งยังป้องกันตลิ่ง เนื่องจากรากไผ่จะยึดดินไว้ป้องกันตลิ่งพัง ขณะเดียวกันผลผลิตหน่อไผ่ก็ยังสร้างรายได้อีกด้วย ส่วนสาเหตุที่ปลูกไผ่ชนิดนี้ เพราะเหตุว่าให้หน่อเกือบตลอดทั้งปี ซึ่งต่างจากไผ่หวานที่ให้ผลผลิตหน่อเฉลี่ยปีละ 2 เดือน ที่สำคัญยังออกมาตรงกับหน่อไม้ไผ่ป่าที่หาได้ไม่ยากนักในเขตพื้นที่จ.แพร่ ส่งผลทำให้ราคาจำหน่ายลดลง  เนื่องจากหน่อไม้ไผ่ป่ามาตีตลาด

    ขณะเดียวกัน ภายในสวนก็ยังปลูกพืชผัก สมุนไพร ผลไม้นานาชนิดเน้นพืชอายุสั้นที่สร้างรายได้รายวัน  อาทิ ผักหวานป่า   กล้วย น้อยหน่า มะม่วง ชมพู่ ฝรั่งกิมจู มะละกอแขกดำ พืชสมุนไพรและผักสวนครัว  เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด มะเขือ พริก เป็นต้น โดยมีตลาดตลาดชุมชนอำเภอหนองม่วงไข่ รองรับผลผลิต  อีกทั้งยังมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงหน้าสวนและบางส่วนจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์  

87839C06 0303 4132 87E2 A4BEE719C8CE

    เกษตรกรคนเดิมยังได้ตั้งเป้าหมายวางแผนการผลิตภายในสวน เพื่อให้มีเงินหมุนเวียน และสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวตลอดทั้งปี ตั้งแต่ 3 เดือนแรก ซึ่งเป็นรายได้จากการจำหน่ายผักสวนครัวประมาณ 1,000-2,000 บาทต่อเดือน จากนั้นใน 1 ปีแรก มีรายได้จากการจำหน่ายกล้วย และพืชผักสวนครัว  2,000-3,000 บาทต่อเดือน และช่วง 1 ปีครึ่งถึง 4 ปี มีรายได้จากการขายหน่อไม้ กล้วย และพืชผักสวนครัว 7,000-9,000 พันบาทต่อเดือน ปัจจุบันทำเกษตรผสมผสานมาแล้ว 4 ปี คาดว่าถ้าทุเรียนให้ผลผลิต จะมีรายได้จากการจำหน่ายทุเรียน และหน่อไม้ประมาณ 30,000 – 70,000 บาทต่อเดือน

    “ที่สวนจะไม่มีจ้างแรงงาน แต่จะให้พ่อแม่และญาติ ๆ ช่วยกันดูแลสวนทุเรียน ส่วนการปลูกไผ่ ผลไม้พืชผักสวนครัวก็เพื่อให้พวกเขามีรายได้แทนที่จะจ้างแรงงานมาดูแลสวน   ส่วนเราจะมุ่งเป้าที่ทุเรียนอย่างเดียว  คาดว่าปีหน้าทุเรียนชุดแรกก็จะให้ผลผลิตแล้วจากนั้นต่อด้วยชุดที่สอง หากทุเรียนให้ผลผลิตทั้งสองชุด คำนวณจากราคามูซังคิงขั้นต่ำกิโลละ 200 คาดว่าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 4 ล้านบาทต่อปี ส่วนตลาดไม่กังวล มีบริษัทส่งออกพร้อมรับซื้ออยู่แล้ว”เจ้าของสวนทุเรียนมูซังคิงกล่าวย้ำ

0285FD36 7D3A 4514 9D51 478F95072893

    ทั้งนี้ ปีงบประมาณ 2565 สำนักงานสหกรณ์จังหวัดแพร่ ได้ดำเนินโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร มีเกษตรกรรุ่นใหม่สมัครเข้าร่วม จำนวน 38 ราย ซึ่งสำนักงานสหกรณ์จังหวัดแพร่ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีองค์ความรู้ด้านการผลิต สามารถสร้างอาชีพการเกษตรอย่างยั่งยืน เกิดความมั่นคงในการประกอบอาชีพ มีเครือข่ายด้านอาชีพเพิ่มมากขึ้น เกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดแพร่มีการติดตามผลการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้และขยายผลไปสู่เกษตรกรรุ่นใหม่ต่อไป