โยนหินถามทาง “ปุ๋ยแพง” ปชป.ส่งใครมาแก้ที

เจาะกลางใจ โดยขุนพิเรนทร์

เกาะติดปัญหาปุ๋ยแพง ใครเป็นใคร เมื่อเกษตร-พาณิชย์ไร้คนขับเคลื่อนอย่างจริงจัง ภาพจำเรื่องแก้ปัญหาปุ๋ยแพง เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยดีงามในมุมมองของเกษตรกรที่มีต่อกระทรวงพาณิชย์ภายใต้การขับเคลื่อนของรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อย่างคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 

แต่ตำบลกระสุนตก เมื่อเกษตรกรเดือดร้อน พุ่งตรงมาที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลำพัง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเจ้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งพูดน้อยอยู่แล้ว ยิ่งทำให้เกษตรกรวังเวงเข้าไปอีก พอจะอาศัยที่ปรึกษาอย่างอลงกรณ์ พลบุตร ที่คุยได้ทุกเรื่อง แต่กลับไร้น้ำหนักในเรื่องการแก้ปัญหาปุ๋ยแพง

แล้วปชป.มีตัวเลือกอีกหรือไม่ ขุนพิเรนทร์ บอกชัดเลยว่ามี และเป็นคนที่ตามติดเรื่องปุ๋ยแพงมาโดยตลอดอย่างอดีตกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คุณนราพัฒน์ แก้วทอง ที่วันนี้เป็นส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์

ทำไม “ขุนพิเรนทร์” ถึงมองไปที่ นราพัฒน์ แก้วทอง ช่วงต้นปี 2564 พบว่า ราคาปุ๋ยในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามราคาแม่ปุ๋ยในตลาดโลก เนื่องจากจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกปุ๋ยสำคัญจำกัดการส่งออก ส่งผลให้วัตถุดิบหรือแม่ปุ๋ยในตลาดโลกขาดแคลน ประกอบกับผลกระทบต่อเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อระบบโลจิสติกส์และค่าขนส่งที่สูงขึ้น ได้สร้างความเดือดร้อนอย่างมากให้กับเกษตรกร ในการแก้ปัญหาปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพงนั้น คนที่รุกเรื่องนี้คือนราพัฒน์แก้วทอง ผ่านเวทีกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี 

ช่วงเดือน พ.ย. 2564 คณะกรรมการส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ที่มี “นราพัฒน์” เป็นประธานฯ นี่หละได้มีมติเห็นชอบกรอบและแนวคิดในการจัดทำแผนบริหารจัดการปุ๋ย ปี 2565-2569 เพื่อลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยและลดการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศ และนำมาสู่การสนับสนุนให้เกิดการใช้ปุ๋ยสั่งตัดผ่านศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนรวม 1.88 แสนตันการสนับสนุนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ 2.25 ล้านตัน ปุ๋ยชีวภาพ 1.02 ล้านตัน ซึ่งยอดรวมของแผน 5 ปี (2565-2569) จะผลิตปุ๋ยสั่งตัด 2.42 ล้านตัน ปุ๋ยอินทรีย์ 16.32 ล้านตัน ปุ๋ยชีวภาพ 14.19 ล้านตัน เกษตรกรได้ประโยชน์ 3.6 ล้านราย ครอบคลุมพื้นที่ 44.01 ล้านไร่…

และสิ่งที่ขุนพิเรนทร์จับตามมาโดยตลอดคือ การวางแผนระยะยาว คณะกรรมการมีแผนระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างไร

ประเด็นเรื่องการขับเคลื่อนเหมืองแร่โปแตซ ถูกพูดถึงอย่างหนาหู และ วันนั้น “ขุนพิเรนทร์” ได้สัมภาษณ์“นราพัฒน์” ถึงประเด็นนี้ 

“ผมจะนำเรื่องแก้ปัญหาปุ๋ยแพงอย่างยั่งยืนนำเสนอนายกรัฐมนตรีผ่านเวทีกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี  เราสามารถแก้ปัญหาปุ๋ยแพงได้ อย่างกรณีการใช้ทรัพยากรในประเทศให้เกิดประโยชน์จากแหล่งแร่โปแตชใหญ่ ทั้งที่จังหวัดอุดรธานี ชัยภูมิ และนครราชสีมา 

ซึ่งในเนื้อหาที่เสนอชี้ว่า ได้มีการเตรียมนำเสนอเรื่องเข้าครม. เรื่องการตั้งคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการผลิตปุ๋ยในประเทศ จากแหล่งแร่โปแตชใหญ่ ซึ่งสามารถนำมาผลิตเป็นปุ๋ยและสามารถลดการนำเข้าได้เลย เรื่องนี้เป็นเรื่องเดิม แหล่งแร่โปแตชเพื่อใช้ผลิตปุ๋ยมีอยู่แล้ว ดำเนินการโดย บริษัท อาเซียน โปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) อีกทั้งยังเสนอให้มีความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างมาเลเซีย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตปุ๋ยยูเรีย และได้มีข้อตกลงพื้นฐานที่ทำกันมาตั้งแต่ปี 2533 เป็นการร่วมทุนผลิตปุ๋ยเพื่อช่วยเหลือกันแต่ประเทศไทยไม่เคยเอาตรงนี้มาใช้ประโยชน์”

“นราพัฒน์” ใช้เวทีผู้ช่วยรัฐมนตรี แก้ปัญหาปุ๋ยแพงระยะยาว ในการประชุมคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีครั้งที่ 1/2565 ที่กระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565  เรื่องนี้มีที่มาที่ไปแบบนี้

ที่สำคัญ ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 65  ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบให้เดินหน้าเหมืองแร่โปแตซในจังหวัดอุดรธานี นับเป็นข่าวดีสำหรับเกษตรกรทั่วประเทศ เพราะเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญที่จะนำไปสู่การทำให้ปุ๋ยเคมี มีราคาลดลงได้ ด้วยแร่โปแตชนั้น เมื่อนำเข้ามาสู่กระบวนการสกัดแล้ว จะได้ปุ๋ยโพแทสเซียม ซึ่งเป็น 1 ใน 3  แม่ปุ๋ยสำคัญของการทำเกษตร เมื่อผลิตได้เอง ย่อมนำมาสู่ต้นทุนการผลิตที่ลดลงตลอดห่วงโซ่ สุดท้ายประโยชน์ จะตกอยู่กับเกษตรกร

เสียดายวันนี้ นราพัฒน์ แก้วทอง ไปเล่นบทส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เหมือนเดิม “ขุนพิเรนทร์” อยากจะบอกท่านหัวหัวหน้าปชป. ลองสลับสับเปลี่ยนให้ “นราพัฒน” มาสานต่องานแก้ปัญหาปุ๋ยต่อน่าจะเกิดประโยชน์กับประชาชนไม่น้อย

เอางัยดีครับท่านหัวหน้าจุรินทร์ ฝั่งเกษตรฯใช้งานพี่จ้อนจนเฝือแล้ว พี่จ้อนจะรู้ทุกอย่างเก่งทุกเรื่องอย่างอับดุลบ่ได้เด้อ..