EP 2 : สวมสิทธิ์ทุเรียนไทย…(วิธีเปลี่ยนทุเรียนนอกพื้นที่)

แทบไม่น่าเชื่อว่า ผลไม้ไทย ที่ขึ้นแท่นส่งออกอันดับ 1 ของปีนี้ อย่าง ทุเรียน จะกลายเป็นผลไม้ที่ทำให้คนบางกลุ่ม หาประโยชน์ทุกช่องทาง โดยเฉพาะการสวมสิทธิ์ทั้งในและนอกประเทศไทย

…การสวมสิทธิ์ทุเรียนไทยในภาคตะวันออก เริ่มพบเมื่อราว 3 ปีที่แล้ว… 

ครั้งแรกที่ตรวจพบและจับกุมเป็นการนำเข้าทุเรียนเป็นผล โดยใส่รถบรรทุกข้ามแดนเข้าไทยด้าน จ.จันทบุรี ต่อมาตรวจพบอีกครั้งแต่คนละปี แจ้งนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามมาเป็นตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อนำไปแปรรูป แต่กลับนำมาลงที่ล้ง ต.คลองนารายณ์ อ.เมือง จ.จันทบุรี แล้วกำลังจะรีแพ็คเปลี่ยนกล่องใหม่ แต่ถูกเจ้าหน้าที่ สวพ.6 และด่านตรวจพืชฯ เข้าจับกุมเสียก่อน

นาย ชลธี นุ่มหนู ผอ.สวพ.6 ให้ข้อมูลว่า เมื่อราว 3 ปี ที่แล้ว ช่วงที่ทุเรียนในไทยราคาเกิน 100 บาท/กิโลกรัม เริ่มมีการตรวจพบนำทุเรียนเวียดนามเข้ามาสวมเป็นทุเรียนไทยด้วยการข้ามแดนทางบก ที่จ.จันทบุรี เพราะพื้นที่ปลูกทุเรียนของเวียดนามอยู่ทางตอนใต้ สามารถนำใส่รถย้อนเข้าไทยด้วยการข้ามแดนเข้ามา และยังพบข้อมูลในทางลับมีการนำเข้าข้ามแดนที่ จ.สระแก้ว และตราดด้วย แต่ภายหลังถูกตรวจเข้มมาก จึงมีการเปลี่ยนวิธีขอนำเข้ามาทางเรือเพื่อแปรรูป เนื่องจากไม่ได้มีกฎหมายห้ามนำเข้า แต่อนุญาตให้เฉพาะนำเข้ามาแปรรูปเท่านั้น นี่จึงเป็นช่องว่างที่ทำให้คนบางกลุ่มฉวยโอกาส

การตรวจสอบ ค่อนข้างยากถ้าสายข่าวไม่แม่นพอ เพราะผู้ประกอบการ(บางราย) ที่จ้องแต่จะทำในลักษณะนี้ จะสวมสิทธิ์ทุเรียน หรือเปลี่ยนทุเรียนในช่วงกลางคืน ถ้าหลักฐานไม่แน่นพอเอาผิดยาก เพราะทุเรียนคือทุเรียน

“เราเคยได้เบาะแสมาครั้งหนึ่งว่ามีการนำทุเรียนเข้ามาสวมสิทธิ์เป็นทุเรียนไทยที่ล้งแห่งหนึ่ง เมื่อเข้าตรวจเราไม่เจอทุเรียนเวียดนาม เจอแต่กล่องบรรจุที่เป็นของเวียดนาม เราก็เอาผิดเค้าไม่ได้ เพราะเราไม่เจอทุเรียน” ผอ.ชลธี กล่าว

นาย ณัฐกฤษฎ์ โอฬารหิรัญรักษ์ รองนายกสมาคมการค้าธุรกิจเกษตรไทย-จีน เปิดเผยว่า การสวมสิทธิ์ทุเรียน เกิดขึ้นมา 2-3 ปี แล้ว สาเหตุเพราะราคาทุเรียนต่างประเทศถูกกว่าไทยเกือบครึ่ง เดิมจะมีการนำเข้ามาเป็นตู้คอนเทนเนอร์โดยแสดงเอกสารเพื่อแปรรูป แต่พอมาถึงฝั่งไทยก็มาที่ล้ง เปลี่ยนกล่องส่งออกไปใหม่ หรือบางรายเข้าโรงงานแปรรูป แล้วก็ไปเปลี่ยนกล่องในโรงงานแปรรูปส่งออกเป็นผลสด อันนี้คนในวงการทุเรียนรู้ดีว่าอยู่ที่ใหน เพราะที่ผ่านมาขบวนการนี้อาศัยช่องว่างที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ตามไปดูยันโรงงาน ว่า ทุเรียนถูกน้ำไปแปรรูปจริงหรือไม่ จึงนำออกไปเวียนขายเป็นผลสด

“ราคาทุเรียนต่างชาติ ที่ถูกกว่าไทยครึ่งต่อครึ่ง คือ แรงจูงใจที่ทำให้ผู้ส่งออกบางคน ยังทำเพราะส่วนต่างที่จะได้สูงมาก แต่ไม่ได้คำนึงถึงผลเสียหายของทุเรียนทั้งระบบ การนำทุเรียนต่างชาติมาสวมสิทธิ์ทุเรียนตั้งแต่ซื้อมาจนถึงรีแพ็คใหม่และส่งออก เบ็ดเสร็จราคาอยู่ที่ 100 บาท/ก.ก. รวมส่วนต่างต่อตู้คอนเทนเนอร์ได้เงินราว 1,000,000 บาท นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คนโลภถึงอยากได้ เพราะทำแค่ปีละ 5 ตู้ได้เงิน 5,000,000 บาท/ปี ก็อยู่ได้แล้ว” 

“ส่วนกรณีตรวจพบทุเรียน 2 ตู้ที่ถูกตีกลับจากมุกดาหาร ต้องสงสัยว่าจะเป็นการสวมสิทธิ์ทุเรียน เป็นรูปแบบที่มีการปรับเปลี่ยนการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่หรือเรียกง่ายๆ จะเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ” ณัฐกฤษฎ์ กล่าว

น.ส.ญาณธิชา บัวเผื่อน ส.ส.จันทบุรี เขต 3 พรรคก้าวไกลและโฆษก กมธ.แก้ไขราคาผลผลิตเกษตรกรรม กล่าวว่า กรรมาธิการแก้ไขราคาผลผลิตเกษตรกรรม จะหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาจริงจังเสียทีกรณีการสวมสิทธิ์ทุเรียนไทย โดยเฉพาะการเพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้กระทำผิดให้หนักกว่าเดิม เพราะปัจจุบันใช้แค่ พรบ.ว่าด้วยราคาสินค้าฯ และพรบ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ และบทลงโทษทั้ง 2 พรบ. ไม่ได้รุนแรงมากพอที่จะทำให้ผู้ที่คิดจะกระทำผิดหวาดกลัว สิ่งสำคัญ พรบ.นี้ ออกมานานแล้ว ควรต้องปรับปรุงในบางเรื่องให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน

“การสวมสิทธิ์ทุเรียนไทย เป็นปัญหาระดับชาติที่หน่วยงานภาครัฐ จะต้องลงมาแก้ปัญหาจริงจังเสียทีเพราะผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เกิดกับชาวสวนทุเรียนจันทบุรี แต่เกิดขึ้นกับทุเรียนส่งออกประเทศไทยทุกภาค” น.ส.ญาณธิชาฯ กล่าว

การสวมสิทธิ์ทุเรียนในปีนี้ มีข้อมูลในทางลับของเจ้าหน้าที่ว่า จะไม่ทำในประเทศไทยแล้ว เพราะถูกตรวจสอบหนัก แต่จะใช้วิธีบรรจุทุเรียนดีท้ายตู้เพียงแค่ 2–3 แถว แล้วใช้กล่องหรือทุเรียนด้อยคุณภาพวางในแถวถัดไปเพื่อให้ด้านในโล่ง เหมือนที่ด่านตรวจพืชมุกดาหารตรวจพบ จากนั้นเมื่อข้ามแดนไทย ไปแล้วกระบวนการสวมสิทธิ์ทุเรียนระหว่างทาง จึงจะเริ่มขึ้น 

บางรายตัดหูช้างฝาตู้ เพื่อไม่ให้สายรัดฝาตู้ชำรุด 

บางราย เจาะหลังคาตู้

บางรายเจาะหน้าตู้ด้านติดกับตัวรถ

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น บางรายแกะสายรัดก่อนถึงด่านจีน ถามว่าทำไมต้องทำถึงขนาดนี้ ก็เพราะเงิน ที่มีมูลค่าสูงมาก จึงยอมเสี่ยงทำ

แล้วลำเลียงทุเรียนเข้าไปที่ประเทศปลายทาง

ทุเรียนไทย ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนบางคน ที่เป็นตัวการใหญ่ดำเนินการเพียงคนเดียว แต่ในทางลับของเจ้าหน้าที่ยังพบว่า มีกลุ่มทุนต่างประเทศอีกไม่ต่ำกว่า 5 กลุ่ม รู้เห็นเป็นใจให้ดำเนินการด้วย 

เพราะส่วนต่างที่จะได้รับมหาศาล ยิ่งใครมีออเดอร์เยอะและมากสุด หรือกุมตลาดซื้อ-ขายทุเรียนได้มากสุด นั่นหมายความว่า เป็นผู้กำหนดทิศทางราคา และความเป็นไปของทุเรียนในตลาดปลายทางได้

และหากเป็นเช่นนั้นจริง ไม่แคล้วที่ทุเรียนไทย จะมีชะตากรรมเช่นเดียวกับ ลำไย และมังคุด

….โปรดติดตาม EP ต่อไป