ควายดำทำเกษตร แย้งแนวคิดพรรคกล้า ทำให้ตายอย่างไร เกษตรกรไทยก็ไม่หายจน

ควายดำทำเกษตร แจงนโนบายพรรคกล้า ทำแทบตาย เกษตรกรก็ไม่หายจน แนะควรทำนโยบายที่จับต้องได้

จากกรณี นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรค ในฐานะประธานทีมเศรษฐกิจ พรรคกล้า โพสต์ FB ระบุว่า แนวคิด พัฒนาเกษตรกรให้พ้นจากความ “ยากจน” โดยนำเสนอแนวคิด เกษตรกรไทยจะพ้นความยากจน ต้องทำ 2 สิ่งนี้คือ

ประเทศไทย มีเกษตรกรยากจนอยู่เต็มประเทศ วิธีแก้คือ ต้องพัฒนาเกษตรกรธรรมดาให้เป็น..

1) เกษตรพรีเมี่ยม (Premium agriculture)หรือสินค้าเกษตรคุณภาพสูง ขายได้ราคา ที่มีความต้องการในตลาดสูงทั้งในและต่างประเทศ

2) ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร (Agripreneur) คือเปลี่ยนจากผู้ทำการเกษตร มาเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรแปรรูปนั่นเอง

ทั้ง 2 ข้อข้างต้น ต้องการรัฐบาลที่เข้าใจ และมีนโยบายสนับสนุนส่งเสริม เพื่อสร้าง ecosystem ทั้ง 2 ด้านให้เข้มแข็งและยั่งยืนครับ

ควายดำทำเกษตร โพสต์ FB ระบุว่า …ถ้าอ่านแล้วคิดตามแบบไม่ได้ศึกษาเรื่อง เกษตรกร บ้านเรา อ่านแล้วนี่แนวคิดดีเลยนะ ดูเป็นนักธุรกิจเลย แต่ในฐานะที่ทำงานอยู่ในภาคเกษตรก็ขอแย้งพี่เค้าหน่อยและคงต้องตอบตรงๆว่า ถ้าทำ 2 แบบที่พี่เสนอแนวคิดมา ทำให้ตายยังไงเกษตรกรไทยก็ไม่มีทางหายจากความยากจนครับ

ทำไมควายดำถึงแย้งแบบนี้ ?
ค่อยๆอ่านแล้วคิดตามก็ได้ครับ คิดว่าน่าจะเป็นความจริงของเกษตรกรบ้านเรา ลองนั่งลงแล้วเอาสายตามองอาชีพเกษตรกรบ้านเราก่อนว่าเค้าทำกันยังไง

เกษตรกร บ้านเราเปรียบเทียบในห่วงโซ่คือคนอยู่ล่างสุด ถ้าเป็นอาหารที่ผลิตมาถึงคนกินเกษตรกรจะเป็น จุดเริ่มต้น ของทั้งหมดคือ

  • ผู้ลงทุนปลูก ทั้งลงทุนที่ดิน ปัจจัยการผลิต ปุ๋ย ยา การเก็บเกี่ยว
  • มีความไม่แน่นอนในการขายผลผลิต คือ ลงทุนปลูกแล้ว ไม่เคยรู้ราคาขายจนกว่าจะถึงวันเก็บเกี่ยว ซึ่งทำให้ไม่รู้ขาดทุน กำไร จะได้หรือขาดทุน และที่สำคัญคือ เกษตรกร กำหนดราคาขายเองไม่ได้

ณ วันนี้เกษตรกรประเทศไทย มีต้นทุนการผลิตที่สูงมาก เพราะปัจจัยการผลิตไล่ตั้งแต่ เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยา สารเคมี น้ำมัน เครื่องจักรกลที่ใช้ทางการเกษตร ประเทศไทยล้วนนำเข้ามาเกือบ 100 % ต้นทุนการผลิตของบ้านเรามีต้นทุนสูงกว่าประเทศคู่แข่งทางการค้า เช่น เวียดนาม อินเดีย รวมถึงปัญหาใหญ่ตอนนี้อีกเรื่องคือ แรงงาน ที่หาแรงงานยากและค่าแรงสูง ทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกร

อย่ามาบอกว่าให้มาทำเกษตรอินทรีย์ นะครับ เพราะประเทศเราการทำเกษตรคือการทำแบบอุตสาหกรรมเพื่อเน้นการส่งออก เกษตรกรจึงต้องลงทุนปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตมากที่สุดเพื่อขายได้เงินมาเลี้ยงตัวเองและเหลือกำไรที่ลงทุนในการปลูกรอบต่อไป

ที่เกษตรกรไทยยังยากจน ก็เพราะเค้าทำแล้วขาดทุน ปัจจัยการผลิตแพงขึ้น แต่ราคาผลผลิตเท่าเดิม หรือ ตกต่ำกว่าเดิม เค้าจะเอาเงินจากไหนไปลงทุนต่อ สุดท้ายก็วนมาไม่พ้นเป็นหนี้ ธกส. เหมือนเดิม
เกษตรพรีเมียม ไม่ใช่คำตอบในการทำให้เกษตรกรไทยหายยากจนครับ

คำว่า เกษตรพรีเมียม เป็นคำที่ใช้กันมานานมากกกกกกกกกกก ใช้กันจนเกลื่อน ใช้กันจนเวลามาที่ใครมาบอกว่า เกษตรพรีเมียม กับเกษตรกร เชื่อว่าเกษตรกรเบือนหน้าหนีแน่ๆ เพราะเป็นแค่คำพูดสวยหรู เกษตรกรที่เคยได้ยินคำนี้คงบอกว่า เกษตรพรีเมียม แต่ขอราคา พรีเมียม ด้วยได้ไหม เพราะเวลาผู้รับซื้อไปซื้อผลผลิตเกษตรพรีเมียม มักอยากได้แต่ของดีๆ พรีเมียม แต่ราคาซื้อไม่ได้ พรีเมียม เลย มีแต่อยากได้ของดีราคาถูก และอีกอย่างตลาดที่ขายสินค้าเกษตรพรีเมียมไม่ได้เยอะมากจนสร้างรายได้ให้เกษตรกรจนเป็นแรงจูงใจที่ทำให้เค้ามาทำ

ย้อนถามกลับทางพรรคว่า ก่อนจะให้เกษตรพรีเมียม ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อของเกษตรพรีเมียมมีมากแค่ไหน เอาแค่ชาวนาปลูกข้าวเอง ขายข้าวเอง ขายแพงกว่าข้าวตามตลาด ผู้บริโภคยังบ่นแพงเลย จนสุดท้ายชาวนาก็ขายข้าวให้โรงสีเหมือนเดิม


มาต่อเรื่อง ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร (Agripreneur) คือเปลี่ยนจากผู้ทำการเกษตร มาเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรแปรรูปนั่นเอง

อันนี้ตอบได้ว่า ไม่ใช่ทำไม่ได้ แต่เกษตรกรทุกคนไม่ใช่ว่าจะทำแบบนี้ได้ ขอยกตัวอย่างที่งานส่วนตัวกำลังทำอยู่แล้วกัน คือ กำลังทำโปรเจคยกระดับชาวสวนทุเรียนที่มีแบรนด์เอง ขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการส่งออก คงใช้คำว่าผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร ได้อย่างเต็มปาก เพราะจะพัฒนาให้ชาวสวนทุเรียนทำแบรนด์แล้วส่งออกเอง โดยลดการขายผ่านล้ง เอาแค่รายละเอียดต่างๆ ก็ยุ่งยากมาก แล้วเกษตรกรต้องทำสวน ทำไร่ ทำนา เค้าจะเอาเวลาไหนไปทำเรื่อง ไปจ้างคนทำให้หรอ แค่ทำเกษตรก็หมดเวลาแล้วครับ

ไหนๆก็พูดถึงเรื่องการแปรรูป
ขอยกโพสที่เคยเขียนไว้ในเพจ The Durian มาให้อ่านกัน
ชาวสวนทุเรียน กับ การแปรรูปเพิ่มมูลค่า?

การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า จริงๆมันก็คือการถนอมอาหาร เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา สถาณการณ์นั้นจะเกิดต่อเมื่อ สินค้าเกษตรนั้นๆล้นตลาด หรือความต้องการต่ำลงจนขายไม่ได้
หลายเดือนก่อนนู้นนนนนน เคยได้พูดคุยกับชาวสวนทุเรียนคนนึง เรื่องการแปรรูปทุเรียนหล่นในสวน เพื่อเพิ่มมูลค่านำขายเอง ซึ่งจากที่ติดตามมา เค้าขายค่อยข้างดีเลยนะ 1 คืน สามารถขายได้ 300-400 กก สบายๆ ว่าทำไมไม่ทำจริงจัง คำตอบที่ได้รับคือ

  1. เค้าไม่มีเวลามากพอที่จะทำ พ่อ กับ แม่เค้าแกะเนื้อเก็บไว้กันเองช่วงค่ำหลังเลิกงานสวน และจ้างคนทำไม่ไหวหรอก เพราะมันใช้เวลาแกะต่อวัน 2-3 ชั่วโมง มากกว่านั้นคือคุณต้องมีทุเรียนหล่นเยอะมากๆ หมายถึงทำสวนเจ๊งแน่ๆ
  2. เครื่องกวนทุเรียน ราคาหลายๆหมื่นบาท มันใช้แค่เวลาสั้นๆ 2 เดือน ลงทุนคงไม่คุ้ม แค่ลงทุนเครื่องซีล 19,000 บาท มาเพื่อซีลปีละ 300 ถุงยังไม่ว่าไม่คุ้มเลย แต่จำเป็นเพราะเครื่องครัวเรือนทั่วไปมันรับไม่ไหว
  3. ตั้งเป็นโรงงาน คุ้มมั้ย มีผลผลิตทำแค่ 3 เดือน จากนั้นจะรวบรวมทุเรียนที่ไหนมาขาย แต่เค้าพูดมาคำนึงมันก็น่าจะจริง
    “โลกนี้ถูกแบ่งหน้าที่กัน เราไม่สามารถทำทุกอย่างเองได้”
    อีกเคสนึง อย่างทุเรียนทอดนี่ ก็เคยถามมานะ
    การทอดทุเรียนสามารถ นำทุเรียนไปให้เค้าแกะ และจ้างทอดได้เลย แต่ไม่ใช่ไปรับมาแล้วนำมาแพคขายได้เลย เพราะมันอมน้ำมัน

ต้องนำมาแผ่ๆ ใส่เครื่องอบไล่น้ำมันออก และทำได้ทีละนิดๆ ถ้าอยากทำเยอะๆ ต้องซื้อเครื่องอบขนมปัง แค่คิดก็จุกแล้วครับ
ทีนี้เรามาคิดตาม เกษตรกรทำเองได้มั้ย แค่การลงทุนผมก็มองว่ามันไม่คุ้มจริงๆนั่นล่ะ ลงทุนตั้งโรงงานเล็กๆ เพื่อแปรรูปขาย ไหนจะงานในสวนอีก มันแทบไม่มีทางเป็นไปได้เลย

ส่วนตัวนะ ก็ยังเชื่อว่า พืชทุกชนิดที่กินสดๆได้ดี ควรจะคิดหาวิธีการ รูปแบบการขาย เพื่อให้ขายผลสดได้มาก เร็วๆ และคุ้มทุนที่สุดน่าจะดี เพราะ ยกตัวอย่างการจะขายผลผลิตเข้าโรงงานแปรรูป เค้าก็คงไม่ยินดีหรอกนะที่จะซื้อราคาปกติมาทำ อย่างทุเรียนนี่ ต่อให้ปลายทางชอบแค่ไหน แค่คิดจะซื้อทุเรียนราคาปกติมาทำก็ร้องแล้ว แค่ราคาตกไซด์ปกติตอนนี้ เค้าก็บอกว่าแทบจะไม่ไหวแล้วจริงๆ

ที่ยกตัวอย่างทุเรียนเพราะขนาดว่าตอนนี้เป็นพืชที่ราคาดีที่สุดในบรรดาพืชในประเทศ ยังทำยากแล้วจะให้พืชอื่นที่ราคาต่ำเตี้ยเรี่ยดินไปทำแปรรูป เกษตรกรจะเอาเงินที่ไหนมาลงทุนครับ
แล้วทำยังไงเกษตรกรไทยจะหายากจน ?

เดี๋ยวจะว่าแย้งอย่างเดียวไม่มีเสนอบ้างจะให้เกษตรกรไทย หายยากจน สิ่งที่รัฐต้องทำอันดับแรกเลยคือ

  1. ลดต้นทุนปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยา สารเคมี สารชีวภัณฑ์ เครื่องจักรกลทางการเกษตร น้ำมัน แรงงาน คืออะไรที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนการผลิต รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรไม่สูงจนเกินไปแข่งขันกับเค้าลำบาก เพราะถ้าราคาผลผลิตไม่สูงมาก แต่ต้นทุนการผลิตต่ำ เกษตรกรยังพอมีเงินในการลงทุนทำเกษตรต่อไปได้ ไม่ต้องไปเป็นหนี้ ธกส. เป็นหนี้นายทุน ไม่ใช่ทำมาแล้วขาดทุนทุกปี จะเอาเงินไหนไปต่อยอด
  2. กำหนดปริมาณผลผลิตในพืชแต่ละปี มีการวางแผนตลาดให้เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรผลิตของออกมาไม่ล้นตลาด เพื่อดึงราคาผลผลิตขึ้นมา โดยการช่วยเกษตรกรวางแผนการตลาด เพราะต้องเข้าใจว่า เกษตรกร คือผู้ผลิต ความรู้เรื่องการตลาดเค้าน้อย ยิ่งชาวบ้านด้วยยิ่งไม่รู้อะไรเลย ภาครัฐต้องลงมาช่วยเรื่องตลาดที่ทำได้จริง ไม่ใช่แค่มาเอาหน้าถ่ายรูปแล้วกลับแบบที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งบอกตรงๆเรื่องนี้ทำได้ยากมาก และไม่มีรัฐบาลไหนเคยทำได้ด้วยเรื่องการกำหนดปริมาณผลผลิตในแต่ละปี เพราะการไปห้ามเกษตรกรทำนา ทำไร่ ทำสวน คงไม่มีใครกล้าทำ หรือว่า พรรคที่เสนอแนวคิดจะกล้าทำครับ เอาแค่เรื่องการจัดโซนนิ่ง ทุกวันนี้ยังไม่มีรัฐบาลไหนทำได้เลย
  3. สร้างการค้าที่เป็นธรรมให้เกษตรกร ไม่ใช่ของถูกตอนอยู่ในแปลง แต่พอของอยู่ในมือพ่อค้า นายทุน ของมีราคาแพง คนได้ประโยชน์มีแต่นายทุน พ่อค้า ไม่ใช่เกษตรกร

คิดว่า 3 ข้อหนี้ถ้าแก้ได้ จะทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น หลุดพ้นจากกับดักความยากจนได้บ้างไม่มากก็น้อย
ถ้ายังแก้ 3 เรื่องนี้ไม่ได้ เกษตรกรที่ไหนจะมาทำสินค้าพรีเมียม จะเอาเงินที่ไหนมาทำโรงงานแปรรูป บลา ๆ ๆ
เพราะไอ้ที่ว่ามานั้น มันต้องใช้ ” เงินทุน ” ทั้งนั้นครับ
เกษตรกรยังเหนื่อยกับต้นทุนการผลิต จะให้เค้าเอาเงินมาทำโรงงานแปรรูป มาทำเกษตรกพรีเมียม เค้าจะเอาแรง เอาทุน ที่ไหนมาทำ

อาจจะขัดใจพี่ๆเค้า แต่อยากให้บรรดาพรรคการเมืองที่ชอบเสนอนโยบายได้รู้โครงสร้างของเกษตรกรจริงๆ
ไม่ใช่วาดฝันไปเรื่อยครับ

ด้วยรักจากควายดำทำเกษตร เพจเกษตรอันดับหนึ่งในจักรวาล