สงสัยที่มาของข่าวนี้…? โดย…ขุนพิเรนทร์

สงสัยที่มาของข่าวนี้…หรือท่านอธิบดีกรมการข้าวจะไปอยู่กรมการค้าภายใน…หรือจะไปอยู่เศรษฐกิจการเกษตร…โดย “ขุนพิเรนทร์

นาย ณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ข้าว วิเคราะห์ราคาข้าวเปลือกทุกชนิดของเดือนเมษายน 2565 โดยเมื่อเทียบกับเดือนมกราคมที่ผ่านมาพบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิเพิ่มมากที่สุด รองลงมาเป็นข้าวปทุมธานี โดยเปรียบเทียบเป็นรายชนิดข้าวได้ ดังนี้

-ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตันละ 12,500-11,213 บาท เพิ่มขึ้น 1,287 บาทคิดเป็นร้อยละ 11.47

-ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิภาคกลางและภาคเหนือตันละ 12,000-10,630 บาท เพิ่มขึ้น 1,370 บาท คิดเป็นร้อยละ 12.88

-ราคาข้าวเปลือกปทุมธานีตันละ 11,000-9,816 บาท เพิ่มขึ้น 1,184 บาท คิดเป็นร้อยละ 12.06

-ราคาข้าวเปลือกเจ้าตันละ 8,500-8,156 บาท เพิ่มขึ้น 344 บาท คิดเป็นร้อยละ 4.22

-ราคาข้าวเปลือกเหนียวตันละ 10,100-9,773 บาท เพิ่มขึ้น 327 บาท คิดเป็นร้อยละ 3.34

ทั้งนี้ ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวและข้าวเปลือกเจ้าปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย โรงสีบางรายต้องการสินค้าเพื่อใช้และเก็บสต็อก พร้อมกันนี้ โรงงานอาหารสัตว์หันมารับซื้อข้าวเปลือกเจ้าเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำสีเป็นข้าวกล้องสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์แทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

อธิบดีกรมการข้าว กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการวิเคราะห์ราคาข้าวสารทุกชนิดของเดือนเมษายน 2565 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม พบว่า ข้าวหอมมะลิข้าวเจ้าและข้าวปทุมธานี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ข้าวเหนียวมีแนวโน้มลดลง ดังนี้

-ราคาข้าวสารหอมมะลิ 100% ตันละ 26,900-23,250 บาท เพิ่มขึ้น 3,650 บาท คิดเป็นร้อยละ 15.69

-ราคาข้าวสารปทุมธานีตันละ 21,900-18,710 บาท เพิ่มขึ้น 3,190 บาท คิดเป็นร้อยละ 17.05

-ราคาข้าวสารเจ้า 100% ตันละ 14,500-13,010 บาท เพิ่มขึ้น 1,490 บาท คิดเป็นร้อยละ 11.45 ส่วนข้าวสารเจ้า5% และข้าวสารเจ้า 25% ราคาเพิ่มขึ้นเช่นกัน

-ราคาข้าวสารเหนียว 10% ตันละ 19,800-20,300 บาท ลดลง 500 บาท คิดเป็นร้อยละ 2.46

สำหรับสาเหตุที่ราคาข้าวสารทั้งข้าวเจ้า ข้าวนึ่ง ปลายข้าวหอมมะลิ และปลายข้าวปทุมธานี ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการซื้อข้าวเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในการส่งมอบให้กับคู่ค้าและต่างประเทศจึงเสนอราคารับซื้อราคาสูงเพื่อให้ได้สินค้าตามปริมาณและคุณภาพข้าวที่ต้องการ โดยความต้องการรับซื้อและราคาที่เพิ่มขึ้นนี้ส่งผลดีต่อชาวนาอย่างมาก

อ่านข่าวจบ

นึกในใจอธิบดีกรมการข้าวให้ข่าวเหมือนอธิบดีกรมการค้าภายใน หรือว่าท่านย้ายกระทรวงจากภาคการผลิตไปภาคการตลาดไปพาณิชย์แล้ว

ชาวนาอยากรู้อะไร ❓

ข้าวพันธุ์ไหนดี ได้ผลผลิตสูง ปลูกแล้วได้ราคา คุ้มค่าลงทุน จะหาพันธุ์ข้าวดีๆจากไหนที่เพียงพอต่อความต้องการ จะลดต้นทุนอย่างไร รัฐมีโครงการช่วยอะไรบ้าง ปุ๋ยเคมีก็แพงสุดๆ ปุ๋ยอินทรีย์ก็เริ่มขยับตามทุกข์ของชาวนา กำลังเริ่มต้น ใกล้จะเริ่มฤดูกาลทำนาแล้ว

เรื่องวิเคราะห์ราคาข้าวเดือนมกราคม-เมษายน อ่านดูแล้วงงๆเกี่ยวกับภาคการผลิตเต็มๆเลยอย่างนั้นหรือ 

ถ้าเอาเรื่องนี้ไปถามชาวนา คำตอบที่ได้คือ…ข้าวขึ้นราคาตอนชาวนาไม่มีข้าวจะขาย ใครรวย ชาวนาได้อะไรจากข่าวนี้

ถามผู้บริโภค เอ้า…ชาวนาขายข้าวได้ถูกๆทำไมเขาซื้อข้าวแพงๆกิน

ถามกรมการค้าภายใน คงอมยิ้มและตอบมีคนให้ข่าวแทนแล้ว

ถามสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คำตอบจะว่าอย่างไรบ้างน้อ❓

ส่วนเรื่องเล่าข่าวเกษตร อยากได้ยิน…อยากได้ข่าวอะไร ❓

กรมการข้าวเตรียมพร้อมกับฤดูกาลทำนาอย่างไร ❓

อุ๊ย…ลืม…หรือว่าเรื่องเตรียมการเป็นเรื่องของชาวนาอย่างเดียว