คิดสักนิด…ก่อนทำนาปรัง…ทำนาปีมีแต่หนี้กับซัง…ทำนาปรังมีแต่ซังกับหนี้…ไม่ทำนาปรังแล้วให้ทำอะไร…เจาะกลางใจ…โดย”ขุนพิเรนทร์”

ปีนี้น้ำดีกว่าทุกปี ทั้งพื้นที่ทำนาปรังในพื้นที่ภาคกลาง และพื้นที่ภาคอีสานอย่าง ขอนแก่น สารคาม กาฬสินธ์ ร้อยเอ็ด ที่รับน้ำจากชลประทาน บ้านไอ้ขุนก็เช่นกัน ปีนี้มหาสารคามน้ำท่วม น้ำเขื่อนอุบลรัตน์น้ำเกินความจุ ชาวนามั่นใจว่ามีน้ำเพียงพอต่อการปลูกข้าวนาปรัง บางคนตั้งมั่นจะลงข้าวนาปรัง 2 รอบ ด้วยซ้ำ

และนี่คือคำเตือนจากขุนพิเรนทร์ คิดสักนิดก่อนทำนาปรัง 

วันนี้ราคาข้าวเริ่มดำดิ่ง หลายพื้นที่ราคาข้าวลดฮวบฮาบ ราคาแบบนี้ระยะยาวไปถึงนาปรังไม่คุ้มค่าลงทุนแน่ ข้าวนาปรัง จุดที่พอเริ่มเห็นกำไรบ้างอยู่ที่8,000 บาท/ตัน++ ในขณะที่ต้นทุนการทำนาแพงไม่ใช่น้อย น้ำดีก็แห่กันปลูกข้าวนาปรัง ได้เดือดร้อนกันอีกรอบแน่

ถ้าไม่ปลูกข้าวนาปรังแล้วต้องปลูกอะไร หน้าแล้งพืชน้ำน้อยเหมาะที่สุดแล้วครับ ถ้าเรื่องปลูกพืชหลังนาต้องถามทางกรมส่งเสริมการเกษตร

ไอ้ขุนถาม…พี่เข้มตอบ 

ไม่ทำนาปรังแล้วปลูกอะไร

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำ 5 อันดับพืชใช้น้ำน้อย และ ข้าวนาปรังซึ่งมีข้อมูลจากการวิจัยผลตอบแทนนาปรังและพืชใช้น้ำน้อยเป็นเงินสด ปีการผลิต 2564/65

คำถามทำไมต้องปลูกพืชใช้น้ำน้อย แทนข้าวนาปรัง คำตอบคือในช่วงฤดูแล้ง สภาพอากาศแห้งแล้งปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ มักมีจำกัด ที่สำคัญหากเราทำนาปรังกันเยอะมากนอกจากปัญหาเรื่องน้ำเราอาจจะปัญหาของเรื่องราคาผลผลิตด้วย จึงชวนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง ในพื้นที่ชลประทานหันมาปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยทดแทนเช่น แตงโม ถั่วลิสง มะเขือเทศ ข้าวโพดหวาน ถั่วเขียว เป็นต้น 

เรามาดูต้นทุน/ผลผลิต/ราคาขายและกำไรของพืชที่เหมาะสำหรับปลูกในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย 

ข้าวนาปรัง

ต้นทุน 5,148.29 (บาท/ไร่) 

ผลผลิต 811.54 (กก./ไร่) 

ราคาขาย 7.53 (บาท/กิโลกรัม) 

กำไร 469.21 (บาท/ไร่)

แตงโม

ต้นทุน 8,977 (บาท/ไร่) 

ผลผลิต 4,400 (กก./ไร่) 

ราคาขาย 8 (บาท/กิโลกรัม) 

กำไร 32,447 (บาท/ไร่)

ถั่วลิสง

ต้นทุน 8,315 (บาท/ไร่) 

ผลผลิต 970 (กก./ไร่) 

ราคาขาย 21 (บาท/กิโลกรัม) 

กำไร 10,735 (บาท/ไร่)

มะเขือเทศ 

ต้นทุน 14,340 (บาท/ไร่) 

ผลผลิต 6,000 (กก./ไร่) 

ราคาขาย 2.8 (บาท/กิโลกรัม) 

กำไร 2,460 (บาท/ไร่)

ข้าวโพดหวาน

ต้นทุน 6,510 (บาท/ไร่) 

ผลผลิต 1,750 (กก./ไร่) 

ราคาขาย 4 (บาท/กิโลกรัม) 

กำไร 1,490 (บาท/ไร่)

ถั่วเขียว

ต้นทุน 1,748 (บาท/ไร่) 

ผลผลิต 105 (กก./ไร่) 

ราคาขาย 24 (บาท/กิโลกรัม) 

กำไร 772 (บาท/ไร่)

ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าว เป็นค่าเฉลี่ยจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ และคำนวณจากรายการเฉพาะเงินสดเท่านั้น