รู้จักยัง.. “จอกหูหนูยักษ์” ปีศาจสีเขียว ภัยเงียบที่ต้องกำจัด

“จอกหูหนูยักษ์” (Giant Salvinia : Salvinia molesta D.S. Mitchell) เป็น “เฟิร์นน้ำต่างถิ่น”ที่รุกรานมากที่สุด และถูกจัดว่าเป็น “วัชพืชร้ายแรงที่สุดของโลก”ชนิดหนึ่งด้วย

ประเทศไทยได้ประกาศพืชชนิดนี้เป็นสิ่งต้องห้าม เนื่องจากเป็นศัตรูพืชกักกันตั้งแต่ธันวาคม 2521 และยังคงสภาพการเป็นสิ่งต้องห้ามในประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กําหนดศัตรูพืชเป็นสิ่งต้องห้ามตาม พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2550 วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2550

“จอกหูหนูยักษ์” มีถิ่นกําเนิดในทวีปอเมริกา ทางตะวันออกเฉียงใต้ของบราซิล ถูกจัดว่าเป็นพืชต่างถิ่นที่รุกรานที่สุดชนิดหนึ่งของโลก เนื่องจากเกิดผลกระทบที่ต่อแหล่งน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพของแหล่งน้ำ เช่น ที่แม่น้ำเซปิคในปาปัวนิวกินี มีการชักนํา “จอกหูหนูยักษ์ “เข้าไปเพียง 2-3 ต้นในปีค.ศ.1972

หลังจากนั้น 8 ปีสามารถปกคลุมพื้นที่มากถึง 250 ตารางกิโลเมตร (156,250 ไร่) น้ำหนักสดประมาณ 2.2 ล้านตัน

ชีวิตของประชาชนประมาณ 80,000 คน ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากวิถีชีวิตทั้งหมดขึ้นกับแหล่งน้ำ เช่น การเดินทาง แหล่งอาหารโปรตีนจากปลาในแม่น้ำ

ลักษณะพืช เป็น “เฟิร์นลอยน้ำ” ไม่ยึดเกาะกับดิน ไม่มีรากที่แท้จริง ลําต้นทอดยาวอยู่ใต้ผิวน้ำเล็กน้อย แต่ละข้อมีใบ 1 คู่ อยู่เหนือผิวน้ำ สีเขียว รูปไข่ ยาวเล็กน้อย และใบที่สามเปลี่ยนรูปเป็นเส้นเล็ก ๆ สีน้ำตาลจํานวนมาก อยู่ใต้น้ำ ทําให้เข้าใจว่าเป็น ราก ใบ

ส่วนนี้อาจยาวมาก แกว่งไปมาในน้ำ เป็นการช่วยให้พยุงให้ “พืชลอยน้ำ”อยู่ได้อย่างมั่นคง และเป็นที่สร้างสปอโรคาร์ป ใบด้านบนปกคลุมด้วยขนแข็ง สีขาว แต่ละเส้นแยกออกเป็นแขนงย่อย 4 เส้น ที่ปลายเชื่อมกันเหมือนซี่กรงขนาดเล็ก ขนเหล่านี้อาจเสียหายหรือเห็นไม่ชัดเจนเมื่อใบแก่ ขนที่มีโครงสร้างพิเศษนี้ป้องกันมิให้ใบเปียกน้ํา ทําให้ไม่จมน้ำขณะที่ยังสดอยู่

การเจริญเติบโตของ “จอกหูหนูยักษ์” ส่วนที่เห็นได้ชัดเจน คือ ใบ ซึ่งมีขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ใบอ่อนที่เกิดในช่วงที่ยังไม่มีการเบียดเสียดกันจะมีลักษณะกลม แบน ลอยอยู่ปิ่มน้ํา เมื่อมีจํานวนประชากรเพิ่มขึ้น หรือกลุ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น ขอบใบจะม้วนขึ้น เป็นการตอบสนองต่อการแข่งขันกันเอง

ดังนั้นเมื่อโตเต็มที่ใบก็จะอยู่ในตําแหน่งแนวตั้ง อัดกันแน่นเป็นเสมือน “เสื่อผืนใหญ่”

“จอกหูหนูยักษ์ “ มีการขยายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพ คือ การแตกยอดใกล้จากซอกใบของต้นเดิม และสามารถแตกออกไปได้เรื่อย ๆ ลําต้นหักง่าย ส่วนที่หลุดออกไปก็สามารถเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ได้ เจริญเติบโตได้ดีในสภาพน้ำนิ่ง หรือกระแสน้ำไม่แรงนักในสภาพที่เหมาะสม “จอกหูหนูยักษ์ ” สามารถเจริญเติบโตเพิ่มปริมาณเป็น 2 เท่า ใน 2-4 วัน

“จอกหูหนูยักษ์” 1 ต้น อาจเจริญเติบโตเป็นแพปกคลุมพื้นที่มากกว่า 40 ตารางไมล์หรือ 64,750 ไร่ ในเวลาเพียง 3 เดือน น้ำหนักสดถึง 64 ตันต่อไร่ ซึ่งใกล้เคียงกับผักตบชวา

ผลกระทบของ “จอกหูหนูยักษ์” เมื่อ “จอกหูหนูยักษ์ “ แพร่กระจายลงแหล่งน้ำแล้ว หากปล่อยให้ “จอกหูหนูยักษ์” ระบาด จะทําให้เกิดผลกระทบต่าง ๆได้แก่

  1. ทําให้นิเวศน์แหล่งน้ำเปลี่ยนไปได้โดยสาเหตุต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ “จอกหูหนูยักษ์ ” คือ การเจริญเติบโต ขยายพื้นที่ปกคลุมออกไปอย่างรวดเร็ว แทนที่พืชเดิม “จอกหูหนูยักษ์” ที่ขึ้นอย่างหนาแน่น ทําให้แสงแดดส่องผ่านไปยังพื้นน้ําเบื้องล่างไม่ได้ พืชน้ำที่อยู่ด้านล่างขาดแสงสําหรับขบวนการสังเคราะห์แสง ซึ่งเป็นลดการเติมออกซิเจนลงในแหล่งน้ำ ในขณะที่การย่อยสลายของซากพืชที่ตายและจมลงสู่เบื้องล่าง ซึ่งต้องใช้ออกซิเจนที่ละลายน้ำอย่างมาก ทําให้ปลาและสัตว์น้ำ และสิ่งมีชีวิตอื่นขาดออกซิเจน และอาจรุนแรงมากจนทําให้ปลาและสัตว์น้ำอื่นตายได้

การทับถมของซากพืช “จอกหูหนูยักษ์” ลงสู่แหล่งน้ำ ทําให้แหล่งน้ําตื้นเขิน ขณะเดียวกันจอกหูหนูยักษ์ที่ขึ้นอย่างหนาแน่น ทําให้เป็นที่ยึดเกาะของเมล็ดวัชพืช ที่ปลิวมาจากที่อื่น สามารถงอกและเจริญเติบโตอยู่บนผืนจอกนี้ได้หรือพืชอื่นอาจเลื้อยจากฝั่ง ลงไปยังแหล่งน้ำที่มี “จอกหูหนูยักษ์” ขึ้นอยู่ได้ ในที่สุดแหล่งน้ำนั้นก็จะตื้นเขิน พืชไม้น้ำเดิมหายไป สัตว์น้ำไม่มีที่อาศัย พืชชนิดอื่นที่มิใช่พืชเข้ามาแทนที่ ในที่สุดแหล่งน้ำนั้นก็จะเปลี่ยนแปลงไป และพืชพรรณที่ขึ้นอยู่ก็จะหายไปด้วย

292418828 375106651435222 7900841601707554963 n

2.กีดขวางการใช้ประโยชน์ในแหล่งน้ำ “จอกหูหนูยักษ์” ที่ขึ้นอย่างหนาแน่น และอัดตัวกันแน่น เป็นแผ่นเต็มผิวน้ำ นอกจากทําให้กระแสน้ำไหลได้ช้าแล้ว ยังเป็นการกีดขวางการคมนาคมทางน้ำด้วย “จอกหูหนูยักษ์”อุดทางไหลของน้ำ ทําให้ไม่สามารถใช้น้ำเพื่อการเกษตรและการผลิตกระแสไฟฟ้าตามวัตถุประสงค์

3.ที่อยู่อาศัยที่ดีของยุงที่เป็นพาหะของโรคต่างๆ เช่น โรคเท้าช้าง มาเลเรีย

4.ผลกระทบทางเศรษฐกิจ เมื่อเกิดระบาดของ “จอกหูหนูยักษ์” ในแหล่งน้ำต่าง ๆ ทําให้ต้องทําการกําจัด สิ้นเปลืองทั้งแรงงาน และงบประมาณ

การที่ “จอกหูหนูยักษ์” มีลําต้นที่เปราะบาง หักง่าย ส่วนที่หักออกไปสามารถเจริญเป็นต้นใหม่ได้ ดังนั้นจากหนึ่งต้นจึงสามารถเพิ่มจํานวนต้นได้มากมาย เมื่อเทียบกับผักตบชวาสร้างต้นใหม่จากไหล ซึ่งมีจํานวนน้อยและใช้เวลานานกว่า การควบคุม ผักตบชวามีขนาดใหญ่ สามารถเก็บออกจากแหล่งน้ำได้ง่าย ใบที่หักหลุดจากต้นเดิมไม่สามารถเจริญเป็นต้นใหม่ได้

แต่ “จอกหูหนูยักษ์” มีลําต้นที่เปราะบาง หักง่ายเมื่อหลุดออกไปสามารถเจริญเป็นต้นใหม่ได้การช้อนหรือเก็บออกจากแหล่งน้ำ หากไม่ระวังก็จะหลุดรอดไปได้จึงกําจัดได้ยากกว่าผักตบชวา

ประเทศไทยประกาศให้ “จอกหูหนูยักษ์”เป็นสิ่งต้องห้าม มิให้มีการนําเข้ามาในราชอาณาจักร โดยผู้ครอบครองสิ่งต้องห้ามจะต้องเป็นผู้ทําลาย และหากเจ้าหน้าที่เป็นผู้ทําลาย สามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากเจ้าของได้

ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ขัดขืน ขัดขวางการกระทํา การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ต้องระวางโทษจําไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ในการป้องกัน กําจัด “จอกหูหนูยักษ์” เนื่องจาก “จอกหูหนูยักษ์”เป็นเฟิร์นน้ำจืด และแหล่งน้ำเหล่านั้นยังต้องใช้เพื่อการอุปโภค บริโภค ของประชาชนและสัตว์ต่าง ๆ จึงแนะนําให้กําจัด โดยนําออกจากแหล่งน้ำ ไปตากในที่แห้ง น้ำท่วมไม่ถึง แล้วฝังหรือเผา หลังจากนั้นต้องต้องเฝ้าระวัง โดยตรวจหาและเก็บออกเมื่อพบทุกเดือน ๆ ละอย่างน้อย 1 ครั้ง เป็นเวลา 6 เดือน หรือจนกว่าจะไม่พบ “จอกหูหนูยักษ์”เลย 3 คร้ังติดต่อกัน ทั้งนี้เนื่องจากในระยะแรกหลังจากถูกทําลายใหม่ ๆ “จอกหูหนูยักษ์” จะเจริญเติบโตช้า จึงมีขนาดเล็ก ยากต่อการตรวจหา

และพึงระลึกด้วยว่า “จอกหูหนูยักษ์ ” เจริญเติบโตเบียดกันแน่น ดังนั้นส่วนที่อยู่ด้านล่างอาจไม่สัมผัสสารกําจัดวัชพืช ส่วนที่อยู่ด้านล่างนี้จึงอาจไม่ตาย

การเฝ้าระวังหลังการกําจัด เมื่อกําจัดศัตรูพืชกักกันแล้ว จําเป็นต้องเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันการกลับมาระบาดใหม่ ซึ่งอาจเกิดจากเมล็ดหรือส่วนขยายพันธุ์อื่นที่หลุดรอดออกไป ซึ่งจําเป็นต้องทําอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง