“รถไฟผิงเสียง” ช่องทางบุกตลาดจีนของผลไม้ไทยและเวียดนาม โต 164.95% ในครึ่งปีแรก

ในแวดวงผู้ส่งออกผลไม้ไทย เชื่อว่า.. หลายท่านคงรู้จัก “ด่านรถไฟผิงเสียง” หนึ่งในด่านสากลทางบกที่มีบทบาทสำคัญในการทำการค้าระหว่างกว่างซี(จีน)กับอาเซียน โดยเฉพาะการนำเข้าผลไม้จากอาเซียน

“ด่านรถไฟผิงเสียง” ตั้งอยู่ในอำเภอระดับเมืองผิงเสียงของเมืองฉงจั่ว ห่างจากด่านทางบกโหย่วอี้กวานราว 14 กิโลเมตร และเป็นด่านนำเข้าผลไม้ทางรถไฟแห่งแรกของประเทศจีน โดยผลไม้ที่ส่งออกจากไทยผ่านเข้าด่านรถไฟแห่งนี้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563

2022 07 15 1
รถไฟผิงเสียง

ปัจจุบัน สินค้าที่ลำเลียงด้วยขบวนรถไฟระหว่างประเทศจีน(กว่างซี)-เวียดนามมีราว 248 ประเภท สินค้าส่งออกไปเวียดนาม ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์เครื่องจักร ปุ๋ยเคมี เครื่องกำเนิดไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่สินค้านำเข้า หลักๆ ได้แก่ ผลไม้ พืช สมุนไพรจีน และเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม

หลังจากที่ “สถานที่ตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสำหรับผลไม้นำเข้า” ในด่านรถไฟผิงเสียงได้ผ่านการตรวจรับจากหน่วยงานจากส่วนกลาง เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2563 แก้วมังกรจากเวียดนามเป็นผลไม้ล็อตแรกที่ประเดิมใช้ด่านรถไฟแห่งนี้ นับเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการนำเข้าผลไม้ทางรถไฟเป็นครั้งแรกของประเทศจีน โดยมีสถิติที่น่าสนใจ ดังนี้

นับตั้งแต่เริ่มนำเข้าผลไม้จนถึงปัจจุบัน ด่านรถไฟผิงเสียงมีปริมาณการนำเข้าผลไม้รวม 73,293 ตัน

-ปี 2564 ขบวนรถไฟจีน(กว่างซี)-เวียดนาม วิ่งให้บริการรวม 346 เที่ยว เพิ่มขึ้น 4% ในจำนวนนี้ เป็นการขนส่งผลไม้ 19,400 ตัน เพิ่มขึ้น 14.66%

-ช่วง 6 เดือนแรก ปี 2565 ขบวนรถไฟจีน(กว่างซี)-เวียดนาม วิ่งให้บริการรวม 173 เที่ยว เพิ่มขึ้น 13% รวมจำนวนตู้สินค้า 5,196 TEUs เพิ่มขึ้น 26.3% (YoY) ทั้งนี้ บริษัท China Railway Nanning Group Co.Ltd. วางแผนว่า ในปี 2565 นี้ จะให้บริการรถไฟขนส่งสินค้า 360 เที่ยว

ช่วง 6 เดือนแรก ปี 2565 ผลไม้ไทยและเวียดนามที่จีนนำเข้าด้วยขบวนรถไฟจีน(กว่างซี)-เวียดนาม มีน้ำหนักรวม 38,000 ตัน เพิ่มขึ้น 164.95%

ตามรายงาน ในบรรดาผลไม้ที่จีนนำเข้าผ่านด่านรถไฟผิงเสียง หลัก ๆ เป็นทุเรียน มังคุดจากประเทศไทย และลิ้นจี่ ขนุน จากประเทศเวียดนาม หลังจากผลไม้เหล่านี้ผ่านกระบวนการนำเข้าที่เกี่ยวข้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะลำเลียงต่อไปที่นครกว่างโจว นครเซี่ยงไฮ้ กรุงปักกิ่ง นครเจิ้งโจว (มณฑลเหอหนาน) และนครฉงชิ่ง

บริษัท Guangxi Wuhua International Trade Co.,Ltd. (广西物华国际贸易有限公司) ธุรกิจนำเข้าผลไม้รายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่ต้นปีมานี้ บริษัทฯ ได้หันมาใช้การขนส่งด้วยรถไฟ นำเข้าผลไม้วันละราว 10 ตู้ เนื่องจากการขนส่งด้วยรถไฟช่วยตอบโจทย์สำหรับผลไม้สดที่มีเงื่อนไขด้านเวลาและการขนส่ง เพราะสามารถดำเนินพิธีการศุลกากรแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ระบบไร้เอกสาร (paperless) และสามารถดำเนินพิธีการศุลการ ณ ด่านรถไฟต้นทางสำหรับส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ และ ณ ด่านรถไฟปลายทาง

สำหรับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ (ด่านรถไฟผิงเสียงเป็นทางผ่าน ทั้งนี้ ขึ้นกับประเภทสินค้าที่ได้รับอนุญาตด้วย) ช่วยให้ประหยัดเวลาในการดำเนินพิธีการศุลกากรเกือบ 2/3

การขนส่งสินค้าด้วยขบวนรถไฟระหว่างประเทศจีน(กว่างซี)-เวียดนาม ได้รับความนิยมจากผู้ค้ามากขึ้น เนื่องจากพิธีการทางศุลกากรมีความสะดวกรวดเร็ว เมื่อก่อนสินค้าที่นำเข้า-ส่งออกทางรถไฟ แม้ว่าจะดำเนินพิธีการศุลกากร ณ ด่านต้นทางแล้ว แต่เมื่อขบวนรถไฟมาถึงที่ด่านรถไฟผิงเสียง จำเป็นต้องหยุดรอเพื่อดำเนินขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงเอกสาร (customs transfer) เสียก่อนจึงจะสามารถส่งออกไปได้ ซึ่งต้องเสียเวลา 1-2 วัน แต่ปัจจุบัน ศุลกากรได้นำระบบการยื่นบัญชีสินค้าสำหรับรถไฟ (railway cargo manifest) มาใช้ตรวจสอบเอกสารและตรวจปล่อยสินค้า ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกความรวดเร็วให้กับการดำเนินพิธีการศุลกากรและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างมาก

ปัจจุบัน การขนส่งสินค้าด้วย “รถไฟ” เป็นทางเลือกที่ไม่เป็นสองรองใคร โดยเฉพาะสำหรับผู้ส่งออกผลไม้(ไทย)ที่ต้องการขนส่งสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีน เนื่องจากมีข้อได้เปรียบ ทั้งในด้านประสิทธิภาพงานขนส่ง ความสะดวกรวดเร็วที่ได้รับจากการใช้บริการตลอดจนต้นทุนเวลาและค่าใช้จ่ายที่ลดลง สำหรับสินค้าทั่วไป ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้ช่องทางดังกล่าวในการลำเลียงสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรปได้ด้วย

ที่มาข้อมูลจัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง