มารู้จัก ..”หางไหล” สมุนไพรควบคุมศัตรูพืช

“หางไหล” มีชื่อที่เรียกกันแต่ละพื้นที่หลาย ๆ ชื่อ เช่น หางไหล หางไหลแดง อวดน้ำ เครือไหลน้ำ ไหลน้ำ (ภาคเหนือ) โพตะโกล้า (กระเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน) กะล้าเพาะ (เพชรบุรี)

“หางไหล” เป็นพันธุ์ไม้เขตร้อน จัดอยู่ในตระกูล Leguminosae เป็นไม้เลื้อยชนิดเนื้อแข็ง ลักษณะเป็นเถา ใบออกเป็นช่อตรงยอดและใบอ่อนจะมีขนสีน้ำตาลปนแดง เถาหรือลำต้นส่วนที่แก่มีสีน้ำตาลปนแดงเช่นกัน แต่จะเริ่มมีสีเขียวเห็นชัดตรงปล้องที่อยู่ก่อนถึงยอดประมาณ 2-3 ปล้อง

capture 20220821 143617
หางไหล

ลำต้นโดยทั่วไปมีลักษณะกลม ใบแก่มีสีเขียว ก้านแตก จากลำต้นแบบสลับ ใบมีลักษณะคล้ายรูปไข่ค่อนข้างยาว โคนใบเล็กเรียวขึ้นไปและปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ พื้นใบด้านบนเป็นสีเขียว ลักษณะมัน มองเห็นเส้นแขนงลักษณะคล้ายก้างปลาได้ชัด แต่ไม่ยาวจนชิดขอบใบ ด้านท้องใบมีสีเขียวและเห็นเส้นใบชัดกว่าด้านบน เส้นใบมีสีเขียวปนน้ำตาล ใบกว้างประมาณ 3.0-9.5 เซนติเมตร และยาวตั้งแต่ 6.5-27.0 เซนติเมตร

capture 20220821 143810
หางไหล

หางไหลมี 2 ชนิด คือ หางไหลแดง (Derris elliptica) และหางไหลขาว (Derris malacecum) ทั้ง 2 ชนิด มีลักษณะต่างกันคือ หางไหลแดง ใบย่อยมี 7 ใบขึ้นไป ส่วนหางไหลขาว ใบย่อยมี 5 ใบ ทั้ง 2 ชนิด ออกดอกเป็นช่อขนาดเล็กสีแดงอ่อน รูปร่างเหมือนดอกถั่ว ดอกตูมสีชมพูอมม่วง เมื่อบานเต็มที่จะเป็นสีแดงอ่อนและค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีขาว แต่ละช่อดอกยาว 20-25 เซนติเมตร ผลมีลักษณะเป็นฝักแบนภายในฝักมีเมล็ดซึ่งมีลักษณะกลมและแบนเล็กน้อย สีน้ำตาลปนแดง เมื่อฝักแก่จะแยกออกจากกัน

สาระสำคัญสารออกฤทธิ์หลัก คือ โรติโนน (Rotenone) นอกจากนี้มีสารอื่นที่พบ คือดีกัวลิน (Degualin) อิลิปโทน (elliptone) สุมาทรอล(sumatrol) และทอกซิคารอล (toxicarol)

ประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัด

  • เป็นสารฆ่าแมลง โดยออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของระบบหายใจของแมลง สารสกัดจากรากสามารถป้องกันกำจัดศัตรูพืชหลายชนิด เช่น :
  • แมลงศัตรูผัก เช่น หนอนใยผัก หนอนกระทู้ผัก เพลี้ยจักจั่นฝ้าย เพลี้ยอ่อนกะหล่ำปลี เพลี้ยอ่อนถั่วฝักยาว หนอนเจาะฝักถั่วฝักยาวหนอนผีเสื้อสีน้ำเงิน
  • แมลงศัตรูข้าว เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หนอนห่อใบข้าว
  • แมลงศัตรูข้าวโพด เช่น หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด
  • แมลงศัตรูกล้วยไม้ เช่น เพลี้ยไฟฝ้าย
  • แมลงศัตรูในโรงเก็บ เช่น ด้วงถั่วเขียว

การใช้ “หางไหล” ทำได้ดังนี้

นำรากหางไหลมาทุบให้แตก สับเป็นชิ้นเล็กๆ แช่ในน้ำอัตราส่วน ราก 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร แช่ไว้ 48 ชั่วโมง ใช้ไม้กวนเป็นครั้งคราวกรองด้วยผ้าขาวบางนำน้ำที่กรองได้ไปพ่นในแปลงพืชทุก 5-7 วัน