ปุ๋ย หมายถึง สารที่ใส่ลงในดินเพื่อให้ธาตุอาหารแก่พืชโดยพืชต้องการธาตุอาหารหลายชนิด และในดินมักมีไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มเติมธาตุเหล่านี้โดยการให้ปุ๋ย
สำหรับเทคนิค”วิธีเลือกซื้อปุ๋ยให้ได้ปุ๋ยคุณภาพ”
เริ่มจากตรวจสอบฉลากตามข้อกำหนดของกฎหมาย โดยฉลากที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุปุ๋ยต้องเป็นภาษาไทยและฉลากต้องแสดงดังนี้
1.สูตรปุ๋ย
2.ชื่อทางการค้า และมีคำว่าปุ๋ยเคมี ปุ๋ยเคมีมาตรฐาน ปุ๋ยอินทรีย์เคมี ปุ๋ยอินทรีย์ปุ๋ยชีวภาพ
3.เครื่องหมายการค้า หรือเครื่องหมายอื่นใดซึ่งแสดงที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุปุ๋ย
4.ทะเบียนปุ๋ย (ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์เคมี ปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยชีวภาพ)
5.ปริมาณธาตุอาหารรับรอง อินทรียวัตถุรับรอง หรือจุลินทรีย์รับรอง
6.น้ำหนักสุทธิหรือขนาดบรรจุของปุ๋ยตามระบบเมตริก
7.ระบุที่ตั้งสำนักงานและสถานที่ผลิตของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย
8.วิธีการเก็บรักษาของปุ๋ยชีวภาพ
9.วัสดุรองรับของปุ๋ยชีวภาพ
10.วันที่ผลิตและสิ้นอายุของปุ๋ยชีวภาพ
ส่วน “ปุ๋ยที่มีแนวโน้มไม่ได้มาตรฐาน” พิจารณาจากลักษณะทางกายภาพ ดังนี้
1.เม็ดปุ๋ยจับตัวกันเป็นก้อนแข็ง ไม่ลื่นไหล เม็ดปุ๋ยเคมีมีลักษณะแตกยุ่ยมีฝุ่นมาก ขนาดเม็ดปุ๋ยไม่สม่ำเสมอ
2.ปุ๋ยเคมีเหลว จะตกตะกอน แยกชั้น ภาชนะบรรจุบวม และเสียรูปทรง
3.ปุ๋ยเคมีชนิดเกล็ด จะจับตัวกันเป็นก้อนแข็ง มีความชื้นสูง
4.ปุ๋ยที่บรรจุในภาชนะเก่า ข้อความในฉลากเลอะเลือนอ่านไม่ออก มีรอยเย็บใหม่หรือไม่เรียบร้อย หรือเก็บไว้เป็นเวลานาน หรือเก็บในสถานที่ไม่เหมาะสม ปุ๋ยไม่ติดฉลาก หรือติดฉลากไม่ครบถ้วน ไม่ระบุผู้ผลิต สถานที่ผลิต ผู้นำเข้าและสถานที่ทำการ หรือฉลากปุ๋ยที่เป็นภาษาต่างประเทศไม่ระบุภาษาไทย
5.ปุ๋ยสูตรเดียวกันผลิตจากผู้ผลิตต่างกัน แต่มีราคาต่ำกว่าปุ๋ยที่ผลิตจากอีกแหล่งหนึ่งมาก เป็นที่สังเกตว่ามีแนวโน้มที่จะไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน
หากมีข้อสงสัย ติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ กลุ่มควบคุมปุ๋ย กรมวิชาการเกษตร โทร 02-579-5536-7