รู้จัก.. “โคราชวากิว”เนื้อวัวจากงานวิจัย สู่โต๊ะอาหารค่ำรับผู้นำเอเปค2022

กรณีนายอนุชา บูรพชัยศรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับเมนูอาหารที่จะนำเสนอต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจในงานเลี้ยงอาหารค่ำผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 17  พ.ย. 65 ณ หอประชุมกองทัพเรือ โดยในส่วนของ “อาหารเรียกน้ำย่อย ” (Appetizers) ซึ่งนำเสนอของดี 4 ภาค สำหรับภาคอีสาน ได้แก่ โคราชวากิว ย่างถ่านสมุนไพรจิ้มแจ่ว นั้น

ความเป็นมาของ“โคราชวากิว” เกิดจาก รศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและหัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ตั้งต้น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี(มทส.) ซึ่งไปศึกษาด้านการปรับปรุงพันธุ์และโคลนนิ่งในประเทศญี่ปุ่น ได้คลุกคลีอยู่กับวัววากิวของญี่ปุ่น ขณะศึกษาต่อ จึงเกิดความคิดว่าสามารถนำมาเลี้ยงที่เมืองไทยได้

%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%A7 696x877 1
เนื้อโคราชวากิว

ทั้งนี้จากข้อมูล ในอดีตประเทศไทยยังไม่มีการผลิตเนื้อวัวที่มีเกรดพรีเมี่ยมที่เนื้อมีไขมันแทรกสูงมีความนุ่มอร่อยตลาดชั้นสูงต้องการ ต้องนำเข้าจากออสเตรเลียและญี่ปุ่นปีละนับพันล้านบาท เพราะขาดการนำสายพันธุ์วัววากิวมาปรับปรุงพันธุ์กับวัวเนื้อในประเทศ เพราะเกษตรกรและหน่วยราชการ ณ ตอนนั้นไม่มีความมั่นใจว่าจะสามารถเลี้ยงได้ในบ้านเมืองไทยที่มีอากาศร้อน เลี้ยงแล้วอาจจะไม่รอดเพราะไม่ทนโรคเมืองร้อน จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ทำการปรับปรุงพันธุ์วัววากิวในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.)

โดย รศ.ดร.รังสรรค์ เคยให้สัมภาษณ์ ว่า ได้มีการใช้วิธีระดมทุนจากสมาชิกเว็บไซด์ไทยคาวด็อมคอม เพื่อซื้อวัวพ่อพันธุ์วากิวแท้จากออสเตรเลีย โดยกำหนดเงื่อนไขในการระดมทุนให้ผู้ที่สนใจถือหุ้นขั้นต่ำ 1,000 บาท โดยผู้ถือหุ้นจะได้รับน้ำเชื้อแช่แข็ง 10 หลอดฟรี จากวัวพ่อพันธุ์วากิวที่ระดมทุนซื้อและยังมีสิทธิ์เป็นเจ้าของโคตามหุ้นที่ถือด้วย มีเกษตรกรสนใจจำนวนมาก ได้เงินเบื้องต้น 700,000 บาท จากนั้นพ่อวัวพันธุ์แท้จากออสเตรเลียที่ตั้งชื่อว่า โกโบริ ก็มาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 ก.ย.2550 จากนั้นเกษตรกรใน จ.นครราชสีมาและ จ.สุรินทร์นำไปเลี้ยงและขยายพันธุ์ต่อนับพันตัว มีการฝึกอบรมที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและให้คู่มือการเลี้ยงโดยคณะทำงานของ รศ.ดร.รังสรรค์ เป็นที่ปรึกษาให้เกษตรกร

ทั้งนี้รศ.ดร.รังสรรค์ ได้พัฒนาพันธุ์โคราชวากิวให้ถึงลูกรุ่นที่ 5 ซึ่งจะมีพันธุกรรมใกล้เคียงกับวัววากิวพันธุ์พื้นเมืองแท้ในญี่ปุ่นมากถึง 99.99% ทำให้ไขมันแทรกมีเพิ่มขึ้น จนสามารถผลิตเนื้อไขมันแทรกกล้ามเนื้อได้สูงถึงระดับ 8-12 ที่จะส่งผลให้ราคาเนื้อโคราชวากิวขยับไปถึงเกือบหลักหมื่นบาท

ต่อมาในปี 2562 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้รับงบประมาณเพื่อนำมาพัฒนา“เนื้อโคราชวากิว”อย่างครบวงจร โดยมีการส่งเสริม ตั้งแต่การเลี้ยง มีห้องปฏิบัติการชำแหละและตัดแต่งเนื้อโคราชวากิวมาตรฐาน GMPและฮาลาล เพื่อการส่งออกต่างประเทศด้วย

ทั้งนี้ เนื้อวัวโคราชวากิว มี 5 เกรดหรือ 5 ระดับ (ระดับไขมันแทรก ตามมาตรฐานไทย)

-เกรด 1-3 มีสัดส่วน 80 % ใช้ทำอาหารทั่วไป เช่น พะแนง แกง ผัดกะเพรา

-เกรด 4-5 มีสัดส่วน 20 % เหมาะทำสเต็ก เพราะมีเส้นไขมันแทรกลักษณะคล้ายลายหินอ่อน

-เนื้อวากิว แบ่งเกรดเนื้อ ตามปริมาณไขมันแทรกกล้ามเนื้อ (มาตรฐานญี่ปุ่นมี 12 ระดับ)

-เนื้อวากิว จัดเป็นเนื้อเพื่อสุขภาพ มี โอเมก้า 3 6 และ 9 สูง มีไขมันอิ่มตัวต่ำ

-เนื้อโคราชวากิวมีรสชาติใกล้เคียงเนื้อวากิวจากญี่ปุ่นและออสเตรเลียในเกรดเดียวกัน แต่ราคาถูกกว่า

-เนื้อโคราชวากิว มีราคาสูงกว่าเนื้อวัวพันธุ์อื่น ในประเทศไทย 5-8 เท่า

-เนื้อโคราชวากิวจะถูกบ่มต่อ 1-2 สัปดาห์ ในอุณหภูมิติดลบ 3 องศาเซลเซียส หลังการชำแหละ ตามธรรมเนียมญี่ปุ่น เพราะมีผลวิจัยยืนยันว่า เนื้อจะมีคุณภาพดีขึ้น รสอร่อยในเนื้อจะออกมา