ปลูกข้าวโพดหลังนา ระวัง เพลี้ยกระโดดท้องขาว

เพลี้ยกระโดดท้องขาว หรือเพลี้ยกระโดดข้าวโพด (White-Bellied Planthopper, Corn Planthopper) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Stenocranus pacificus Kirkaldy จัดอยู่ในอันดับ Hemiptera วงศ์ Delphacidae เป็นศัตรูชนิดใหม่ของข้าวโพดซึ่งมีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดความเสียหายกับข้าวโพด

319762009 490136459932240 2480571902505422979 n
เพลี้ยกระโดดท้องขาว

รูปร่างลักษณะ ตัวเต็มวัย (Adult) มีสีน้ำตาลอ่อน ปีกค่อนข้างใส บริเวณด้านสันหลังมีแถบสีน้ำตาลอ่อน 2 แถบ ทอดยาวคู่กันตั้งแต่บริเวณสันกระโหลก (vertex) ไปจนถึงปลายปีก เพศเมียมีขนาดลำตัวใหญ่กว่าเพศผู้ โดยเพศเมียมีความยาวลำตัวประมาณ 4.5-5.0 มม. เพศผู้ลำตัวยาว 4.0-4.2 มม. บริเวณส่วนท้องด้านล่างของเพศผู้จะมีสีน้ำตาลส้ม ส่วนของเพศเมียจะมีลักษณะของไขหรือขี้ผึ้งสีขาวเคลือบอยู่ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “เพลี้ยกระโดดท้องขาว” หรือ White-Bellied Planthopper นั่นเอง

319545942 490136623265557 4811352100363761715 n%E0%B9%85%E0%B9%85%E0%B9%85
สภาพต้นข้าวโพดถูกเพลี้ยกระโดดท้องขาวทำลาย

วงจรชีวิต จากการศึกษาในประเทศอินโดนีเซีย พบว่าเพลี้ยกระโดดท้องขาว มีวงจรชีวิตอยู่ที่ประมาณ 38-47 วัน ระยะไข่ใช้เวลาประมาณ 9-11 วัน โดยเพศเมียใช้อวัยวะวางไข่ (ovipositor) แทงทะลุเนื้อเยื่อพืชเพื่อวางไข่บริเวณเส้นกลางใบและกาบใบ จากนั้นเพศเมียจะทำการขับสารที่มีลักษณะคล้ายไขขี้ผึ้งสีขาวปกคลุมไข่เพื่อป้องกันอันตราย ซึ่งสารสีขาวนี้จะพบในส่วนท้องของเพศเมียเท่านั้น โดยไข่ที่วางในแต่ละจุดมีจำนวนประมาณ 1-24 ฟอง โดยเพศเมีย 1ตัว สามารถวางไข่ได้เฉลี่ย 181-214 ฟอง ระยะตัวอ่อน (nymph) มี 5 วัย แต่ละวัยใช้เวลาประมาณ 3-4 วัน ตัวเต็มวัยเพศเมียมีอายุประมาณ 13 – 17 วัน ซึ่งยาวนานกว่าเพศผู้ที่มีอายุประมาณ 8 – 12 วัน (Simbolon et al., 2020) ตัวอ่อนวัยแรกที่เพิ่งฟักออกจากไข่จะมีสีลำตัวค่อนข้างขาว และเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองปนเขียวในวัยที่ 2 จากนั้นจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลในระยะตัวอ่อนวัยที่ 3 – 4 และสีน้ำตาลอ่อนอมส้มในระยะตัวเต็มวัย

ช่วงที่พบการระบาด/พื้นที่ที่มีการระบาด

ในประเทศไทย ปีที่แล้ว 2564 พบการระบาดของ เพลี้ยกระโดดท้องขาว ในข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปลูกฤดูแล้งหลังนา เริ่มพบการระบาดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน เรื่อยไป และพบในปริมาณมากขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ในหลายพื้นที่ เช่น อำเภอบรรพตพิสัย อำเภอโกรกพระ อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดกำแพงเพชร อุทัยธานี เชียงราย

ปริมาณการระบาดแตกต่างกัน เช่น พบ 1-2 ตัวต่อต้น จนถึงมากกว่า 50 ตัวต่อต้น ก่อนนี้เคยพบการระบาดในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จังหวัดอุทัยธานีเมื่อปี 2562

ส่วนต่างประเทศ พบระบาดในฟิลิปปินส์ บราซิล อินโดนีเชีย ทำให้ผลผลิตลดลงกว่า 52.2 เปอร์เซ็นต์

ลักษณะการทำลาย

ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ด้านข้างเส้นกลางใบของข้าวโพด หรือบริเวณกาบใบ และใช้ขุยสีขาวที่อยู่ส่วนท้อง ปิดบริเวณที่วางไข่ไว้ ตัวอ่อนและตัวเต็มวัย เกาะอยู่ตามซอกใบในยอดข้าวโพด ฐานใบ หรืออยู่ด้านหลังใบ ทำลายพืชโดยดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ส่วนของพืชเกิดรอยสีเหลืองซีด (chlorosis) ระยะต่อมาใบไหม้ (necrosis) ต้นแคระแกร็น การดูดกินน้ำเลี้ยงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดอาการใบไหม้ทั้งใบ (hopperburn) เพลี้ยกระโดดท้องขาวจะขับน้ำหวานออกมา ทำให้เกิดราดำปกคลุมใบ ลำต้น และตามพื้นดิน จากการสังเกตในไร่เกษตรกร พบว่าเกิดความรุนแรงในข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บางพันธุ์

ในประเทศอินโดนีเชีย พบในระยะที่ข้าวโพดมีการเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ (vegetative phase) มากกว่า ระยะสืบพันธุ์ (generative phase) มักจะระบาดในฤดูแล้งมากกว่าฤดูฝน

ปัจจัยที่เอื้อต่อการระบาด

การปลูกพืชติดต่อกัน การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในปริมาณสูง การใช้สารป้องกันกำจัดแมลงมากเกินไป ทำให้ศัตรูธรรมชาติถูกทำลาย

การป้องกันกำจัด

หมั่นสำรวจแปลงปลูกสม่ำเสมอ หากพบปุยสีขาวเกาะอยู่บริเวณเส้นกลางใบ หรือกาบใบแสดงว่าเริ่มมีการเข้าทำลายของเพลี้ยกระโดดท้องขาว หากระบาดรุนแรง ให้เลือกใช้สารกำจัดแมลงชนิดใดชนิดหนึ่ง ตามคำแนะนำของ กรมวิชาการเกษตร ดังนี้

1.คาร์บาริล 85%WP อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 1)

2.ไทอะมีโทแซม 25% WP อัตรา 2 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 4)

3.ไดโนทีฟูแรน 10% WP อัตรา 15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 4)

4.อิมิดาโคลพริด 10% SL อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 4)

5.ไพมีโทซีน 50% WG อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 9)

6.บูโพรเฟซิน 25%WP อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 16)

7.ฟลอนิคามิค 50% WG อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 29)