อากาศแห้งแล้งเสี่ยงเจอ โรคราดำมะม่วง

ระยะนี้จะเข้าสู่ช่วงที่มะม่วงเริ่มออกดอก เตือนเกษตรกรชาวสวนมะม่วงในเขตภาคเหนือตอนล่างเฝ้าระวังในช่วงที่มีสภาพอากาศแห้งแล้ง ให้เกษตรกรหมั่นสังเกตการระบาดของโรคราดำ มักพบคราบราสีดำติดตามส่วนต่าง ๆ ของต้น เช่น ใบ ยอด ช่อดอก และผล ซึ่งจะทำให้ช่อดอกบานช้า หรือบานผิดปกติ เหี่ยว และหลุดร่วงลงได้ บางครั้งอาจทำให้ไม่ติดผล ถ้าพบอาการของโรคที่ผลมะม่วง จะทำให้ ผลเหี่ยวและหลุดร่วงในที่สุด โดยมากจะพบการระบาดของโรคราดำในช่วงที่มีแมลงปากดูด อาทิ เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยหอย และเพลี้ยแป้ง

319882292 943074146661163 5228958664417473505 n

แนวทางการจัดการของโรคราดำ

1.ตัดแต่งต้นมะม่วง ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง เพื่อให้การระบายอากาศดี และลดความชื้นในทรงพุ่ม

2.ป้องกันกำจัดแมลงเพลี้ยจั๊กจั่น เพลี้ยหอยและเพลี้ยแป้ง ไม่ให้ระบาด โดยเฉพาะในช่วงมะม่วงแตกใบอ่อนและแทงช่อดอก จะช่วยไม่ให้เกิดปัญหาราดำรบกวน โดย

-หมั่นตรวจแปลงมะม่วงโดยเฉพาะในช่วงมะม่วงแตกใบอ่อนและแทงช่อดอกอย่างสม่ำเสมอ พ่นสารป้องกันกำจัดเพลี้ยจักจั่น อาจจะสังเกตได้จากเสียงกระโดดเกาะตามกิ่งและใบของแมลงตัวแก่ทรงพุ่มมะม่วง หรือคราบน้ำหวานที่ดูเหมือนคราบน้ำมันที่เคลือบตามใบ รวมทั้งตรวจดูตัวแมลงตามช่อดอกหรือยอดอ่อนใน

-หาต้นที่เป็นศูนย์กลางการระบาด เพื่อพ่นสารกำจัดแมลงที่มีประสิทธิภาพต่อเพลี้ยจักจั่นในต้นที่เป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดและต้นใกล้เคียงในรัศมีโดยรอบ และอาจจะผสมสารป้องกันกำจัดโรคพืชที่มีประสิทธิภาพร่วมไปด้วยก็ได้

-หมั่นตัดแต่งยอดอ่อนที่แตกตามกิ่งก้านในทรงพุ่ม เพื่อไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยและวางไข่ของแมลง

3.คราบราดำที่ปกคลุมส่วนของพืช อาจจะถูกชะล้างออกไปได้บ้าง โดยการพ่นน้ำบ่อย ๆ หรืออาจจะล่อนหลุดไปเองตามธรรมชาติในสภาพแห้งแล้ง

4.นอกจากนี้ หากพบการระบาดของโรคราดำไปมากแล้ว ให้เกษตรกรพ่นด้วยน้ำเปล่าล้างสารเหนียวที่แมลงปากดูด ขับถ่ายไว้และคราบราดำ เพื่อลดปริมาณเชื้อสาเหตุโรค เนื่องจากเชื้อราจะเจริญบนสารเหนียวที่แมลงปากดูด ขับถ่ายไว้ คือ เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยหอย และเพลี้ยแป้ง ดังนั้น เกษตรกรควรพ่นด้วยสารกำจัดแมลง กรณีพบเพลี้ยจักจั่น ให้พ่นด้วยสารแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หากพบเพลี้ยหอย ให้พ่นด้วยสารมาลาไทออน 83% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ส่วนถ้าพบเพลี้ยแป้ง ให้พ่นด้วยสารมาลาไทออน 83% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไทอะมีทอกแซม 25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 2.5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

นอกจากนี้ ยังมีโรคอื่น ๆ อีกที่ชาวสวนมะม่วงต้องระวัง

โรคแอนแทรคโนส

สาเหตุของโรค เกิดจากเชื้อรา

ลักษณะอาการ เป็นโรคที่ทำความเสียหายทั้งปริมาณและคุณภาพของผลผลิตมะม่วงเป็นอย่างมาก สามารถเข้าทำลายได้เกือบทุกส่วนของมะม่วง ไม่ว่าจะเป็นต้นกล้า ยอดอ่อน ใบอ่อน ช่อดอก ดอก ผลอ่อนจนถึงผลแก่ และผลหลังการเก็บเกี่ยว ทำให้เกิดอาการอย่างน้อยก็เป็นจุดแผลตกค้างอยู่บนใบ กิ่ง ผล และหากการเข้าทำลายของโรครุนแรงก็จะเกิดอาการใบแห้ง ใบบิดเบี้ยว และร่วงหล่น ช่อดอกแห้งไม่ติดผล ผลเน่าร่วงตลอดจนผลเน่าหลังเก็บเกี่ยว ซึ่งจะเป็นผลเสียหายต่อการส่งมะม่วงไปจำหน่ายต่างประเทศ

อาการระยะกล้า จะพบอาการของโรคทั้งที่ใบและลำต้น ซึ่งถ้าต้นกล้าที่เป็นโรคอ่อนแอหรือตายไป ไม่สามารถทำเป็นต้นตอได้ จะทำความเสียหายแก่การผลิตกิ่งทาบเพื่อการค้าอย่างมาก อาการบนใบ เริ่มแรกจะเป็นจุดเล็ก ๆ บนใบอ่อน มองดูใสกว่าเนื้อใบรอบ ๆ จุดนี้จะขยายออกเป็นวงขนาดต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับความชื้นและความแก่อ่อนของใบ โดยจะเห็นขอบแผลชัดเจนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ในสภาพความชื้นสูง แผลที่เกิดบนใบอ่อนมาก ๆ จะมีขนาดใหญ่ ขยายออกได้รวดเร็ว และมีจำนวนแผลมากติดต่อกันทั้งผืนใบ ทำให้ใบแห้งทั้งใบหรือใบบิดเบี้ยว เมื่อแก่ขึ้นเพราะเนื้อที่ในบางส่วนถูกทำลายด้วยโรค ถ้าในสภาพที่อุณหภูมิความชื้นไม่เหมาะสม แผลบนใบจะมีลักษณะเป็นจุดขนาดเล็ก กระจัดกระจายทั่วไปบริเวณกลางแผล ซึ่งมีสีน้ำตาลอ่อนกว่าขอบแผล และมีลักษณะบางกว่าเนื้อใบ อาจจะฉีกขาดและหลุดออกเมื่อถูกน้ำ ทำให้แผลมีลักษณะเป็นรูคล้ายถูกยิงด้วยกระสุนปืน

อาการที่ลำต้นอ่อน จะเป็นแผลที่ค่อนข้างดำ ลักษณะแผลเป็นรูปไข่ยาวไปตามความยาวของลำต้น อาการของโรครุนแรง แผลจะขยายอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งรอบลำต้น ทำให้ต้นแห้งตาย แต่ถ้าต้นกล้าเป็นโรคเมื่อเนื้อเยื่อเริ่มแก่แล้ว แผลที่อาจจะลุกลามไปได้ไม่มากนักจะเป็นจุดแผลมีลักษณะเป็นวงรีสีดำยุบตัวลงไปเล็กน้อย บริเวณกลางแผลจะเห็นเม็ดสีดำ ๆ หรือสีส้มปนบ้างเรียงเป็นวงอยู่ภายในแผล ถ้าโรคนี้เกิดกับยอดอ่อนก็จะทำให้ยอดแห้งเป็นสีน้ำตาลดำ และอาจตายทั้งต้นได้เช่นเดียวกัน

อาการที่ช่อดอก จะเห็นลักษณะอาการเป็นจุดสีน้ำตาลดำประปรายบนก้านช่อดอก และก้านดอก ซึ่งทำให้ดอกเหี่ยวและหลุดร่วง ถ้าไม่รุนแรงนักจะทำให้การติดผลน้อย แต่ถ้าเป็นมาก ๆ ก็จะไม่ได้ผลผลิตเลย ในบางครั้งจะพบอาการของโรคที่ก้านช่อดอกไหม้ดำ ซึ่งจะแห้งไปในที่สุด ผลอ่อน ๆ อาจจะถูกเชื้อโรคทำลายทำให้เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำและร่วงหล่น ผลที่มีขนาดโตขึ้นแต่ยังไม่แก่ก็เป็นโรคได้เช่นเดียวกัน หากสภาพแวดล้อมเหมาะสม กล่าวคือมีความชื้นสูงและอุณหภูมิพอเหมาะ (24-32 ๐C)

ลักษณะอาการบนผล จะเป็นจุดสีดำ รูปร่างกลม หรือรูขนาดตั้งแต่เล็กเท่าหัวเข็ม หมุด จนถึงขนาดใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 – 4 ซม. แล้วแต่ความรุนแรง บริเวณแผลจะพบรอยแตกและมีเม็ดเล็ก ๆ สีดำเรียงรายเป็นวงภายในแผล เมื่อมะม่วงเริ่มแก่ในระหว่างการบ่มหรือขนส่ง จุดแผลเหล่านี้จะขยายใหญ่ขึ้นและลุกลามออกไป ทำให้ผลเน่าทั้งผลได้ อาการจุดเน่าดำบนผลนี้พบทำความเสียหายกับมะม่วงเกือบทุกพันธุ์ เชื้อราโรคแอนแทรกโนส ยังสามารถติดอยู่กับผลโดยไม่แสดงอาการใด ๆ แต่เมื่อสภาพแวดล้อมภายหลังเหมาะสม เช่น ผลสุก หรือมีความชื้นสูง ในระหว่างการเก็บรักษา หรือบรรจุหีบห่อเพื่อการขนส่ง ก็จะแสดงอาการได้ ซึ่งก็ทำความเสียหายเป็นอย่างมาก

การป้องกันกำจัด โรคแอนแทรกโนสสามารถป้องกันกำจัดได้โดยสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืชหลายชนิด ซึ่งเป็นวิธีการเดียวที่จะลดความเสียหายจากโรคนี้ได้อย่างรวดเร็วและทันเหตุการณ์ ซึ่งการใช้ต้องใช้ให้ถูกกับจังหวะการเข้าทำลายของเชื้อโรค ทั้งนี้เพื่อลดความสิ้นเปลือง และช่วยให้สารเคมีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สำหรับมะม่วงที่ผลิตเพื่อการส่งออกนั้นจะต้องกระทำอย่างสม่ำเสมอ โดยในช่วงที่มะม่วงผลิตใบอ่อน ช่วงการออกดอก และติดผล ซึ่งเป็นช่วงที่มะม่วงมีความอ่อนแอต่อการเข้าทำลายของเชื้อ การฉีดพ่นสารเคมีในแหล่งที่มีโรคแอนแทรกโนสระบาดเป็นประจำ เพื่อลดความเสียหายจากการเกิดโรคที่ใบ อันจะมีผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของใบ และจะมีผลต่อการออกดอกติดผลที่สมบูรณ์ต่อไปการตัดแต่งกิ่งเป็นโรคและกิ่งอ่อนที่เกิดตามโคนกิ่งใหญ่ ในทรงพุ่ม ซึ่งเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค แล้วทำลายเสีย ก็เป็นการลดปริมาณเชื้อโรคได้อีกวิธีหนึ่ง

สารป้องกันกำจัดโรคพืชหลายชนิด เช่น บีโนมิล, แคปแทน เป็นต้น สามารถใช้ป้องกันกำจัดโรคแอนแทรกโนสได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการเลือกใช้สารชนิดใดนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคที่เกิดในแต่ละสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ก่อนที่มะม่วงจะเริ่มแทงช่อดอก ควรทำการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันและกำจัดแมลงและโรคพืชครั้งหนึ่ง เพื่อลดปริมาณแมลงและโรคที่จะรบกวนช่อดอกใหม่ที่เริ่มผลิ หลังจากนั้นฉีดพ่นเป็นระยะ ๆ ทุก 10 – 15 วัน จนมะม่วงติดผลอ่อน สารเคมีประเภทดูดซึม เช่นบีโนมิล อาจจะใช้ได้ดีกว่าในการฉีดพ่นไปในช่วงฝนชุกหรือในช่วงผลใกล้เก็บเกี่ยวเพราะจะมีผลต่อคุณภาพของผลผลิตหลังเก็บเกี่ยวด้วย ช่วยลดความเสียหายจากการเกิดผลเน่าได้เป็นอย่างดี

สำหรับในช่วงออกดอกติดผลมะม่วงนั้น ควรใช้สารเคมีชนิดอื่นพ่นสลับกันบ้างตามความเหมาะสม เช่น ระยะดอกอาจจะใช้ แมนโคเซป ระยะติดผลอ่อนใช้ แคปแทน ระยะผลโตใช้ บีโนมิล เป็นต้น ผลมะม่วงที่เก็บเกี่ยวแล้ว ควรจุ่มในสารละลายไธอาเบนดาโซล (พรอนโต 40) ผสมน้ำที่ 50 องศาเซลเซียส นาน 5 – 10 นาที แล้วผึ่งให้แห้งเพื่อกำจัดเชื้อที่แฝงอยู่

โรคราสีชมพู

สาเหตุของโรค เป็นโรคหนึ่งที่ทำความเสียหายให้กับมะม่วงที่ปลูกในแถบที่มีอากาศชุ่มชื้นหรือในสวนมะม่วงที่ไม่ได้รับการดูแลรักษา โรคนี้จะเข้าทำลายบริเวณกิ่งทำให้กิ่งแห้ง ใบเหลือง เกิดจากเชื้อรา ซึ่งเชื้อราพวกนี้สามารถทำลายพืชอื่นได้หลายชนิด เช่น ส้ม ทุเรียน ขนุน ยางและกาแฟ

ลักษณะอาการ ส่วนใหญ่จะสังเกตเห็นอาการเมื่อใบเหลือง หรือร่วงแล้ว ถ้าตรวจดูตามกิ่งที่ใบร่วงนั้นจะเห็นเชื้อราสีขาวมีลักษณะเป็นผง ๆ ขึ้นตามกิ่ง เมื่อเฉือนเปลือกออกบาง ๆ จะเห็นว่าบริเวณเปลือกที่มีราขึ้น ทำลายนั้นจะเป็นสีน้ำตาล ซึ่งถ้าเชื้อราเจริญรอบกิ่งก็จะทำให้กิ่งแห้งตายในที่สุด เชื้อราสีขาวจะค่อย ๆ แก่ขึ้นจนเห็นมีลักษณะสีชมพูปนอยู่

การป้องกันกำจัด โดยการตัดกิ่งที่เป็นโรคทิ้งทำลายเสีย การตัดแต่งกิ่งมะม่วงเอากิ่งย่อยที่อยู่ในทรงพุ่มออก ทำให้ทรงพุ่มต้นมะม่วงโปร่ง ปริมาณความชื้นในทรงพุ่มก็จะลดลงเป็นการลดความเสียหายจากการเป็นโรคนี้อีกวิธีหนึ่ง การตรวจตราต้นมะม่วงอยู่เสมอ ๆ จะช่วยให้สามารถเห็นลักษณะอาการของโรคได้ตั้งแต่ยังเป็นไม่มาก ซึ่งทำให้การบำบัดรักษาทำได้ง่ายโดยการถากเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออกให้หมด แล้วทาด้วยยากันราพวกสารประกอบทองแดง เช่น คอปเปอร์อ๊อกซี่คลอไรด์ ในบริเวณที่มีโรคระบาดมากอาจจะใช้ยาดังกล่าวทาหรือฉีดพ่นตามกิ่งที่อยู่ใกล้กับกิ่งเป็นโรค

โรคราแป้ง

สาเหตุของโรค เกิดจากเชื้อรา

ลักษณะอาการ พบระบาดทั่ว ๆ ไปในแหล่งปลูกมะม่วงของประเทศต่าง ๆ ในไทยส่วนใหญ่พบกับมะม่วงที่ปลูกในที่สูงบริเวณภาคเหนือ สามารถเข้าทำลายได้ทั้งใบ ดอก ช่อดอก และผลอ่อน

อาการที่ใบอ่อน จะเห็นบริเวณที่เชื้อราเข้าทำลายเป็นขุยหรือผงสีขาวขึ้นบาง ๆ ส่วนใหญ่จะพบใต้ใบ อาการต่อมาบริเวณที่เป็นโรคจะมีสีเหลืองจาง ถ้าสภาพอากาศเหมาะสมเป็นผงสีขาว ๆ ชัดเจนขึ้น หลังจากนั้นเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนและเข้มขึ้นตามลำดับ ถ้าเกิดโรครุนแรงใบอาจจะบิดเบี้ยวเสียรูปทรงไป ร่วงหล่น หรือแสดงอาการเนื้อใบไหม้

อาการที่ช่อดอก จะพบผงสีขาวขึ้นฟูตามก้านช่อดอกย่อย และดอก ซึ่งจะทำให้ดอกร่วงไม่ติดผล ส่วนของก้านช่อดอกจะยังคงมีสีขาวปกคลุม แล้วจะค่อย ๆ เป็นสีน้ำตาลอ่อน โรคนี้มักจะพบในช่วงฤดูหนาว เมื่อมะม่วงเริ่มออกดอก และมักจะพบเป็นกับช่อดอกที่อยู่บริเวณตอนล่าง หรือกลาง ๆ ลำต้น หรือช่อดอกที่อยู่ในพุ่ม ดอก และก้านช่อดอกที่ถูกเชื้อราเข้าทำลาย การเจริญเติบโตจะลดลง ดอกไม่บาน และร่วงในที่สุด แต่บางครั้งสามารถทนได้จนถึงติดผลอ่อน

การป้องกันกำจัด หมั่นตรวจดูอาการของโรคที่ใบอ่อน ช่อดอก และที่ผลอ่อน เมื่อพบให้ตัดส่วนที่เป็นโรคนำไปเผาทำลายการป้องกันกำจัดโรคราแป้ง ที่ระบาดในระยะมะม่วงออกดอก ทำการฉีดพ่นสารเคมีในช่วงที่ดอกยังไม่บานครั้งหนึ่ง หากยังมีโรคระบาดอยู่ ก็ควรฉีดอีกครั้งในระยะติดผลอ่อน สารเคมีที่ใช้ป้องกันกำจัดโรคราแป้ง ได้แก่ ไดโนแคป, บีโนมิล และกำมะถันผง เป็นต้น

โรคใบจุดสนิม 

สาเหตุของโรค เป็นโรคที่พบได้ทั่ว ๆ ไปในมะม่วงที่ปลูกในแหล่งที่มีความชุ่มชื้นสูง เช่น ทางภาคตะวันออกและภาคใต้ และมักจะพบในมะม่วงที่ไม่ได้รับการดูแลรักษา สาเหตุของโรคคือสาหร่ายสีเขียวชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถขึ้นได้บนใบและกิ่ง นอกจากมะม่วงแล้วยังสามารถขึ้นได้บนใบพืชได้อีกหลายชนิด เช่น ทุเรียน เงาะ ฝรั่ง ส้ม

ลักษณะอาการ เริ่มแรกจะเป็นจุดเล็ก ๆ ลักษณะคล้ายดาวขึ้นบนหน้าใบใบ มีลักษณะสีเขียวปนเทา ซึ่งจะขยายใหญ่ขึ้นและจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีคล้ายสนิม ซึ่งเป็นระยะที่สาหร่ายพวกนี้สร้างอวัยวะขยายพันธุ์ ซึ่งจะแพร่ระบาดไปยังใบอื่นได้ เนื่องจากสาหร่ายเป็นพืชขนาดเล็กที่ต้องการแสงแดดและความชื้นสูง ดังนั้น อาการของโรคจึงมักจะเกิดบนใบหรือกิ่งที่ได้รับแสงแดดเสมอ โรคนี้ปกติจะไม่ทำความเสียหายให้กับมะม่วงมากนัก นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงการไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทั่วถึง

การป้องกันกำจัด หากระบาดรุนแรงควรฉีดพ่นด้วยสารประกอบพวกทองแดง เช่น คอปเปอร์อ๊ออกซี่คลอไรด์