รู้จักไผ่..ต้นไม้แห่งชีวิต อยู่คู่สังคมไทยมายาวนาน พืชไม้ใช้สอยที่ให้ประโยชน์หลายด้าน

ไผ่ คือพืชไม้ใช้สอยที่ให้ประโยชน์ได้หลายด้านและอยู่คู่สังคมไทยมาตั้งแต่อดีต ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการพืชเศรษฐกิจ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำแนกไผ่ในประเทศไทยที่พบมีอยู่ 30 ชนิด ดังนี้

ไผ่ข้าวหลาม (Cephalostachyum pergracile) เป็นไผ่ขนาดกลาง ลำต้นลักษณะตรง มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-8 เซนติเมตร เนื้อลำบางหนาไม่ถึง 5 มิลลิเมตร ปล้องยาวประมาณ 20-45 เซนติเมตร สูงประมาณ 7-30 เซนติเมตร มีสีเขียวปนเทา กาบมีสีหมากสุก กาบหุ้มลำหลุดร่วงง่าย มีการแตกกิ่งขนาดเท่า ๆ กันรอบข้อ ลำอายุประมาณ 6-10 เดือนใช้ทำกระบอกข้าวหลาม เครื่องจักสานต่าง ๆ ลำแก่ใช้ในการสร้างบ้านเรือน โดยมากใช้ทำกลอนหลังคา สานเป็นฝาหรือเพดาน

330990851 1822943928069696 4775541874801158933 n
ไผ่ชนิดต่างๆ

ไผ่ซาง (Dendrocalamus strictus) เป็นไม้ไผ่หน่ออัด ใบ ลำต้นมีสีเขียวอ่อน ไม่มีหนาม ผิวเป็นมัน มีกิ่งแขนงมาก สูงประมาณ 6-20 เซนติเมตร มีเนื้อหนาประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ปล้องยาวประมาณ 15-50 เซนติเมตร เนื้อไม้หยาบ โดยทั่วไปลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-12.5 เซนติเมตร ถ้าพบบริเวณเนินเขาสูงลำต้นจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5-10 เซนติเมตร นิยมใช้ทำไม้เสียบอาหาร ไม้ตะเกียบ ไม้ก้านธูป แผ่นไม้ไผ่อัด และเยื่อกระดาษ

ไผ่ป่า (Bambusa bambos) เป็นไผ่ขนาดใหญ่ กอแน่น มีหนาม และมีแขนงรกแน่น โดยเฉพาะตรงบริเวณโคนลำ สูงประมาณ 10-24 เซนติเมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15-18 เซนติเมตร ปล้องยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร เนื้อหนา 1-5 เซนติเมตร ลำอ่อนมีสีเขียว ลำแก่จะมีสีเขียวเหลือง ลำต้นใช้ทำนั่งร้านสำหรับก่อสร้างหรือทาสี ใช้ทำบันไดขึ้นต้นตาล

ไผ่เป๊าะ (Dendrocalamus giganteus) เป็นไม้ไผ่ขนาดใหญ่ขึ้นเป็นกอ กิ่งเรียวเล็ก ลำสูง 25-30 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 20-25 เซนติเมตร ปล้องค่อนข้างสั้นเมื่อเทียบกับขนาดของลำ ปล้องบาง หนาประมาณ 1-3 เซนติเมตร

ไผ่เพ็ก (Vietnamosasa pusilla) เป็นไผ่ขนาดเล็ก ลำต้นโดยเฉลี่ยสูงราวๆ 0.5 เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-7 มิลลิเมตร ปล้องยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร ลำต้นใช้ทำแผงตากสาหร่ายทะเล ทำผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในครอบครัว เช่น ที่รองจาน ตะกร้าขยะใบเล็ก ๆ

ไผ่รวก (Thyrsostachys siamensis) ขึ้นเป็นกอแน่น ลำต้นขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 7-15 เมตร ส่วนโคนมีเนื้อหนาเกือบตัน ที่ปลายลำมีเนื้อบาง ถ้าพบในบริเวณที่มีความชุ่มชื้นสูง ลำต้นจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4-7 เซนติเมตร ถ้าพบในที่แห้งแล้งจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-4 เซนติเมตร ลำมีสีเขียวอมเทา ปล้องจะยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร นิยมปลูกเป็นแนวรั้วบ้าน หรือใช้ในการตบแต่งบ้านเหมาะสำหรับใช้ทำเยื่อกระดาษเป็นไม้ค้ำพืช ต้มอัดใส่ปี๊บทำให้มีการทำหน่อไม้ปี๊บ

331145474 695131552409810 7276586607131103254 n
ไผ่ชนิดต่างๆ

ไผ่ลำมะลอก (Bambusa longispiculata) เป็นไผ่ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เป็นพุ่มใหญ่ระหว่างลำต่อลำห่างกันพอสมควร สูง ประมาณ 10-15 ม. น่าจะเป็นประเภทขึ้นลำเดี่ยว บริเวณโคนต้นสะอาด ผลัดใบทุกฤดูร้อน ลำต้นสี เขียวแก่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 7-10 เซนติเมตร ปล้องห่างปานกลาง ใช้ในการก่อสร้าง นั่งร้าน เสาโป๊ะ เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องจักสาน

ไผ่เลี้ยง (Bambusa mulfiplex) ลำต้นสีเขียวสด มีขนาดเล็ก สูงประมาณ 2.5-7 เมตร ปล้องมีเส้นผ่าศูนย์ประมาณ 1-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 20-50 เซนติเมตร ไม่มีหนามลำกลวงแต่มีเนื้อค่อนข้างหนา ลำอ่อนมีสารสีขาวคล้ายแว๊กซ์เคลือบอยู่ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ส่วนของลำต้นมีเนื้อเกือบตัน จึงแข็งแรงนิยมทำคันเบ็ดและชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์

ไผ่สีสุก (Bambusa blumeana) ขึ้นเป็นกอใหญ่หนาแน่นมาก มีความสูงประมาณ 15-25 เมตร กิ่งและแขนงมีหนามแหลมคม ลักษณะของลำต้นกลวง เนื้อหนาประมาณ 3-7 มิลลิเมตร ส่วนโคนต้นจะมีความหนาถึง 1.5 เซนติเมตร ลำต้นมีสีเขียวสดผิวเป็นมัน ข้อไม่พองออกมา มีเส้นผ่าศูนย์กลางลำประมาณ 10-20 เซนติเมตร ปล้องยาวประมาณ 25-60 เซนติเมตร ใช้ทำเครื่องจักสาน เฟอร์นิเจอร์ ใช้ในการก่อสร้าง นั่งร้าน และเครื่องใช้ที่ต้องใช้งานเป็นเวลานาน

ไผ่หก (Dendrocalamus hamiltonii) ลำต้นขึ้นเป็นกอ มีสีเขียวอมเทา เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15-20 เซนติเมตร ปล้องยาว 40-50 เซนติเมตร สูงเต็มที่ระหว่าง 10-15 เมตร ลำต้นทำเครื่องจักสานเป็นของใช้ในครัวเรือน ก่อสร้างชั่วคราว อุตสาหกรรมเยื่อ กระดาษ

ไผ่หลอด (Neohouzeaua mekongensis) ลำต้นมีสีเขียวเป็นมัน เป็นไผ่ขนาดเล็ก สูงประมาณ 3-4 เมตร ปล้องยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ไม่มีหนาม ขึ้นเป็นกอเป็นพุ่ม แขนงสั้น ลำต้นมีขนาดเท่ากันนิยมใช้ทำม่าน

ไผ่หวาน (Bambusa sp). เป็นไผ่ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ลักษณะกอเป็นหุ้มแน่น ลำอ่อนมีสีเขียวใบไม้ ลำแก่จะมีสีเขียวแก่ ลำต้นมักมักมีลักษณะคดงอ มีการแตกกิ่งจำนวน 2-5 กิ่งตลอดลำ ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-5 เซนติเมตร สูงประมาณ 5-8 เมตร ลำต้นใช้เป็นเชื้อเพลิง หน่อมีรสหวานอร่อย สามารถรับประทานสดได้ และนิยมนำไปประกอบอาหารได้หลายชนิด

ไผ่หอม (Bambusa polymorpha) เป็นไผ่ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีกอแน่น ลำต้นสูงประมาณ 10-25 เมตร ปล้องมี เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 7.5-15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 40-60 เซนติเมตร ลำมีความหนา ประมาณ 12-20 มิลลิเมตรลำต้นใช้ทำหางบ้องไฟ

ไผ่เหลือง (Bambusa vulgaris) เป็นไผ่ขนาดกลาง สีเขียวมีแถบเหลือง หรือสีเขียวเข้ม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-12 เซนติเมตร ปล้องยาวโดยเฉลี่ย 20-45 เซนติเมตร สูงประมาณ 8-15 เมตร ขึ้นเป็นกอไม่แน่น ผิวของลำเป็นมัน มีขนสีดำขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น ลำต้นใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ ทำแจกัน ทำที่เขี่ยบุหรี่ และใช้ทำเครื่องเรือน ส่วนใหญ่ปลูกเป็นไม้ประดับเพราะสีเหลืองของลำต้น

ไผ่เฮียะ (Cephalostachyum virgatum) เป็นไผ่ขนาดกลาง ลำเรียว เปลาตรง สูงประมาณ 6-12 เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-10 เซนติเมตร ปล้องยาวประมาณ 50-70 เซนติเมตร เนื้อลำบางลำต้นใช้ในการทำโครงสร้างอาคารบ้านเรือน และเครื่องจักสาน