รู้วิธี..เตรียมพืช รับหน้าแล้ง

“ย่างเข้าเดือน 5 น้ำท่าก็แห้งขอดคลอง เมื่อยามได้มองผืนนาเป็นร่องแยกแตกระแหง ต้นหญ้าสดเขียว ก็พลันแห้งเหี่ยวกรอบแดง พื้น นา หน้าแล้ง เหมือนดวงใจแห้ง แยกแตกเป็นแผล” อ.ไพบูลย์ บุตรขัน แต่งเพลงนี้เมื่อปี พ.ศ.2514

ผ่านมา 50 ปี ตอนนี้เดือน 4 ความแห้งแล้งก็มาเยือนทุกสารทิศ จึงเอาเรื่องการจัดการพืชให้บรรเทาความเสียหาย ให้รอดพ้นแล้งนี้ไปได้ มาเล่าให้ฟัง

drought 1312503 960 720
พืชเผชิญกับความแห้งแล้ง

“จัดการพืชต้องรู้จักพืช”

กลไกการมีชีวิตของพืช จะมี ราก- ลำต้น- ใบ

โดยรากดูดน้ำ ดูดปุ๋ย ลำเลียงผ่านท่อในลำต้นที่เชื่อมต่อกันเหมือนเส้นเลือด ส่งไปยังใบ แล้วใบจะปรุงเป็นสารอาหารส่งกลับมาเลี้ยงอวัยวะทุกส่วนให้ทำงานตามปกติ ก็คล้ายกับคนกินอาหารเข้าไปในร่างกาย

drought 3618653 960 720
ภัยแล้ง

คนขาดน้ำไม่ได้พืชก็เช่นกัน แต่กลไกพืช เมื่อรากดูดขึ้นไป ใบคายจะคายน้ำออกมาในระดับที่พอดี ๆ เพื่อรักษาสมดุล ไม่มากไปไม่น้อยไป ถ้าใบไม่คายออกอาจจะเหมือนคนที่กินน้ำแล้วไม่ฉี่

ในหน้าแล้ง อากาศร้อน ฝนก็ไม่ตก น้ำในดินมีน้อย จึงเกิดความไม่สมดุล 2 ส่วน คือ พอน้ำน้อยรากดูดน้ำมาไม่พอประการหนึ่ง และใบคายน้ำมากเกินไปเพราะอากาศร้อนก็อีกประการหนึ่ง

ภาวะเสียสมดุลในพืชจึงเกิดขึ้น คือพืชจะเหี่ยวเฉา เหี่ยวมาก ๆ ก็ยืนต้นตาย

“อากาศร้อนส่งผลต่อการคายน้ำ “

ความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่ส่องมายังใบพืช ทำให้ใบพืชมีอุณหภูมิสูงขึ้น

และลมที่พัดแรงส่งผลให้การระเหยของน้ำเร็วขึ้น

เมื่อใบได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์เพิ่มขึ้น ทำให้อัตราการคายน้ำจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าทุก ๆ 10 องศาเซลเซียสที่เพิ่มขึ้น เมื่ออุณหภูมิใบสูงขึ้น ไอน้ำในใบ และไอน้ำในบรรยากาศมีความแตกต่างกันมากขึ้น การคายน้ำก็จะเพิ่มมากตามไปด้วย แต่หากอุณหภูมิเกิน 30 องศาเซลเซียส ปากใบก็จะปิด หรือลมแรงมาก ๆ อุณหภูมิต่ำมาก ๆ ปากใบก็จะปิดเช่นกันนี่คือกลไกการรักษาชีวิตรอดของพืช

“จัดการพืชหน้าแล้ง”

จึงมีหลักการ คือหาวิธีลดการคายน้ำของใบ และหาวิธีรักษาน้ำไว้ให้รากได้ดูดไปใช้ให้ได้นานที่สุด พลิกแพลงหลักการนี้ได้ให้เหมาะสม

1. หาวิธีลดความร้อนที่มากระทบพืช

คือการจัดการพืชรับมือภัยแล้งประการแรก ซึ่งทำได้ในพืชผัก หรือต้นไม้ขนาดเล็กโดยการทำร่มเงาให้พืช จะด้วยวัสดุธรรมชาติเช่นทางมะพร้าว หรือใช้ตาข่ายพลางแสงก็ตามความเหมาะสม สำหรับไม้ผลโต ๆ ต้องวางแผนระยะยาว คือ ปลูกไม้กันลมไว้รอบ ๆ ก็ช่วยได้บ้างเช่นกัน หรือปลูกพืชสมรม หรือผสมผสานหลายระดับก็ช่วยได้

2. รักษาความชื้นของดินตอนหน้าแล้ง

ก็เป็นอีกหนึ่งวิธี การลดน้ำระเหยจากดิน ลดแสงแดดร้อน ๆ ที่ส่องลงมาที่ผิวดิน เช่น คลุมโคนต้นพืช จะด้วยเศษพืช ซังข้าว ใบอ้อย หรือพลาสติกปลูกพืชก็ตามความเหมาะสม วิธีการเหล่านี้จะช่วยให้เก็บน้ำในดินไว้ได้นาน และจะต้องผสมผสานวิธีการให้น้ำแบบต่าง ๆ ที่ประหยัดน้ำด้วย

3. เตรียมพืชให้พร้อมรับภัยแล้ง

ก็เหมือนคนเหมือนสัตว์ที่ต้องเตรียมตัวจัดหาน้ำจัดการอาหารก่อนที่ภัยแล้งจะมาในการจัดการพืชให้พร้อมรับภัยแล้ง เช่น

-บำรุงพืชให้มีรากสมบูรณ์ รากลึกและแผ่ขยาย เพื่อให้ความสามารถดูดน้ำได้ไกลได้มาก

-ให้ปุ๋ยชีวภาพ PGPR (rhizobacteria) จะช่วยให้พืชเพิ่มความทนทานต่อภาวะแห้งแล้ง เนื่องจากช่วยทำให้พืชมีระบบรากดีขึ้น การทำให้พืชมีรากสมบูรณ์ และมีแบคทีเรียช่วยให้เกิดฮอร์โมนที่ทำให้พืชทนแล้งเพิ่มขึ้น

-จัดการดินให้ร่วนซุย

-เลือกพันธุ์พืชที่ทนทานต่อสภาพแล้งแห้ง ปลูกพืชใช้น้ำน้อย

-การเสริมการให้ธาตุอาหาร โพแทสเซียม ซิลิกอน และฮอร์โมน กรดซาลิไซลิก, ออกซิน, ยิบเบอเรลลิน, ไซโตไคนิน และ กรดแอบไซซิค จะช่วยให้พืชทนแล้งได้เพิ่มขึ้น

-ลดภาระของพืชก่อนภัยแล้งจะมาถึง เช่น ตัดแต่งให้มีกิ่งใบน้อยลง ปลิดผลที่ไม่จำเป็นออก

ลองไปทำดู ปีนี้หวังว่าจะรอดภัยแล้งกันทั้งคน ทั้งสัตว์ ทั้งพืช