เตือนภัย ‘เห็ดพิษอันตราย’ ภัยร้ายฤดูฝน

ณ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อาคารโยธี : ทีมวิจัยธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank of Thailand: NBT) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. นำโดย ดร.ศิษเฎศ ทองสิมา ผู้อำนวยการธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ นางสาวธิติยา บุญประเทือง หัวหน้ากลุ่มวิจัยเห็ด ธนาคารจุลินทรีย์ (NBMB) ภายใต้ธนาคาร ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (NBT) เปิดให้สัมภาษณ์พิเศษสื่อมวลชนในกิจกรรม NSTDA Meets the Press เรื่อง “รู้ทันเห็ดพิษ ภัยร้ายฤดูฝน” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจถึงพิษภัยของเห็ดพิษให้แก่ประชาชน ภายหลังพบข่าวชาวบ้านใน ต.กกสะทอน อ.ด่านซ้าย จ.เลย จำนวน 9 คน เก็บเห็ดระงากหรือระโงกหินที่มีพิษนำไปทำอาหารบริโภค จนเกิดอาการท้องร่วง และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 2 คน

%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B9%87%E0%B8%94%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A9
เตือนภัยเห็ดพิษอันตราย

ดร.ศิษเฎศ ทองสิมา ผู้อำนวยการธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ สวทช. กล่าวว่า ฤดูฝนคือฤดูกาลของการเก็บเห็ดป่าในธรรมชาติ ซึ่งต้องยอมรับว่าเห็ดป่ามีความสำคัญ ทั้งในแง่ของการเป็นแหล่งอาหารและรายได้ของชุมชน แต่ด้วยเห็ดมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีทั้งเห็ดกินได้และเห็ดมีพิษ เห็ดพิษบางชนิดมีรูปร่างคล้ายกับเห็ดกินได้อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเห็ดอ่อนในระยะดอกตูม จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด และเป็นสาเหตุให้ประชาชนเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการรับประทานเห็ดพิษจำนวนมากทุกปี

%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B9%87%E0%B8%94%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A9
เตือนภัยเห็ดพิษอันตราย

“ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ  โดยทีมนักวิจัยพิพิธภัณฑ์เห็ดราของธนาคารจุลินทรีย์ มีความเชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานเห็ดราและดำเนินการสำรวจเก็บตัวอย่าง เพื่อจัดทำลักษณะทางสัณฐานวิทยาของเห็ดราในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบัน มีตัวอย่างเห็ดที่พบในประเทศไทยและเก็บเป็นหลักฐานในพิพิธภัณฑ์ฯ ประมาณ 49,635 ตัวอย่าง จำนวน 2,600 ชนิด และที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับศูนย์พิษวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในการตรวจวินิจฉัยชนิดของเห็ดป่าที่มีพิษตั้งแต่ปี 2551 ทำหน้าที่ช่วยจำแนกชนิดเห็ดพิษเมื่อมีกรณีผู้เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากการบริโภคเห็ดพิษ ขณะเดียวกันยังลงพื้นที่เก็บตัวอย่างเห็ดพิษ พร้อมทั้งศึกษาวิจัยรวบรวมข้อมูลการจัดจำแนกเห็ดพิษเบื้องต้น และจัดทำเป็นองค์ความรู้ในการสังเกตเห็ดพิษสำหรับอบรมถ่ายทอดให้แก่ชุมชน รวมถึงรณรงค์ให้ประชาชนมีความรู้ เพื่อลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการบริโภคเห็ดพิษ”

%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B9%87%E0%B8%94%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A9 1
เห็ดพิษอันตราย

สำรวจ “เห็ดพิษ” ติดอันดับคร่าชีวิตคนไทย

นางสาวธิติยา บุญประเทือง หัวหน้ากลุ่มวิจัยเห็ด ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า การเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการบริโภคเห็ดพิษส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากผู้ที่ไม่ชำนาญในการเก็บเห็ด หลายกรณีเป็นลูกหลานที่กลับบ้านหลังจากทำงานในเมือง พอเห็นเห็ดอยากเก็บมารับประทาน และคิดว่าเป็นเห็ดชนิดเดียวกับที่พ่อแม่เคยทำอาหารให้ แต่ไม่รู้ว่ามีกลุ่มเห็ดพิษที่รูปร่างคล้ายกัน จึงทำให้เกิดอันตราย สะท้อนให้เห็นการขาดช่วงการสืบทอดความรู้ในการจำแนกเห็ดป่าจากปู่ย่าตายายจากพ่อแม่สู่ลูกหลาน อีกกรณีหนึ่งคือป่าบ้านตนเองแทบไม่เหลือเห็ดแล้ว จึงย้ายไปเก็บเห็ดในป่าพื้นที่อื่น ทำให้ไม่คุ้นเคยกับพื้นที่ และเก็บเห็ดพิษมาบริโภค นอกจากนี้อาจมาจากการที่ชาวบ้านเก็บเห็ดทุกชนิดใส่ตะกร้ารวมกัน ซึ่งเห็ดพิษหนึ่งดอกมีพิษในแทบทุกส่วน ตั้งแต่สปอร์ หมวก ครีบ ก้าน ทำให้พิษหล่นไปปนเปื้อนกับเห็ดชนิดอื่น ๆ การล้างทำความสะอาดอาจไม่ช่วยให้ส่วนพิษของเห็ดที่ปนมาในตระกร้าเดียวกันหมดไป ย่อมมีโอกาสได้รับพิษ ที่สำคัญสารพิษจากเห็ดบางชนิดมีความเป็นพิษรุนแรงมาก โดยสารพิษเพียงระดับไมโครกรัมก็เป็นอันตรายแก่ชีวิตได้

%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B9%87%E0%B8%94%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A9 4
เตือนภัยเห็ดพิษอันตราย

“ตัวอย่างเห็ดพิษที่พบบ่อยในประเทศไทยและเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ในแต่ละปี เช่น เห็ดในกลุ่มเห็ดระโงกพิษ อย่างเห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือเห็ดไข่ตายซาก ซึ่งมีพิษร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต เห็ดชนิดนี้คล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาว หรือเห็ดไข่ห่านที่รับประทานได้ หากสังเกตเบื้องต้นจะพบว่าเห็ดระโงกหินมีเกล็ดขาวขนาดเล็ก ฝุ่นผงสีขาวปกคลุมบนหมวกดอก และก้านกลวง ขณะที่เห็ดระโงกขาว หมวกเรียบมัน กลางหมวกดอกอมเหลืองเล็กน้อย และก้านตันเนื้อแน่น แต่ว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่นิยมบริโภคเห็ดระโงกขาวในช่วงดอกเห็ดบานแล้ว แต่จะนิยมเก็บช่วงเห็ดอ่อน ซึ่งมีลักษณะดอกเห็ดตูมคล้ายไข่ กลมรี จึงยากต่อการจำแนก ต่อมาคือเห็ดถ่านครีบเทียน มักสับสนกับเห็ดถ่านและเห็ดนกเอี้ยง โดยเห็ดถ่านครีบเทียนมีสารพิษกลุ่มโคพลีน (Coprine) คือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ความดันโลหิตสูง ปากชา มีอาการขาดน้ำ หัวใจล้มเหลว

%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B9%87%E0%B8%94%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A9 6
เตือนภัยเห็ดพิษอันตราย

เห็ดถ่านเลือด มีลักษณะคล้ายกับเห็ดถ่านใหญ่ ซึ่งเห็ดถ่านเลือดหากมีรอยโดนสัมผัสหรือโดนใบมีด จะมีสีแดงติดบริเวณเนื้อเห็ด หากรับประทานเข้าไปจะทำให้เกิดสภาวะกล้ามเนื้อสลาย จนกระทั่งเกิดอาการตับและไตวายและเสียชีวิต 

เห็ดระโงกพิษสีน้ำตาล คล้ายกับเห็ดระโงกยูคาจนไม่สามารถจำแนกด้วยตาเปล่า มีพิษรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตและเป็นชนิดใหม่ที่พบในประเทศไทย เมื่อปี 2560 กลุ่มเห็ดคล้ายกับเห็ดโคน เป็นเห็ดอีกชนิดที่มีพิษรุนแรงถึงชีวิต พบระบาดได้มากเพราะมีลักษณะเหมือนกับเห็ดโคนที่ได้รับความนิยมมาก  นอกจากนี้ยังมีเห็ดพิษที่มีการเก็บผิดเป็นประจำทุกปี ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วย แต่ไม่อันตรายถึงชีวิต คือ เห็ดหัวกรวดครีบเขียว มีความคล้ายคลึงกับเห็ดนกยูง และเห็ดกระโดงที่รับประทานได้ โดยในช่วงที่เป็นดอกอ่อนจะคล้ายกันมาก เมื่อเห็ดเริ่มแก่สปอร์ของเห็ดหัวกรวดครีบเขียวจะเปลี่ยนสีและทำให้ครีบใต้ดอกมีสีเขียวปนเทา ส่วนเห็ดนกยูงสปอร์จะเป็นสีขาวไม่เปลี่ยนสี เมื่อแก่ครีบใต้ดอกจะมีสีขาว สำหรับอาการที่เกิดจากการบริโภคเห็ดชนิดนี้ไม่ถึงกับเสียชีวิต แต่จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสียภายใน 5 นาที ถึง 1 ชั่วโมง”

%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B9%87%E0%B8%94%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A9 7
เห็ดพิษอันตราย

สร้างคลังข้อมูลคัดแยก ‘เห็ดพิษ’ ด้วยลายพิมพ์เพปไทด์

นางสาวธิติยา กล่าวว่า ที่ผ่านมาทีมวิจัยพิพิธภัณฑ์เห็ดราทำงานสนับสนุนศูนย์พิษวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ในการตรวจวินิจฉัยชนิดของเห็ดป่าที่มีพิษ โดยเมื่อมีเคสผู้ป่วยหรือเสียชีวิตจากการบริโภคเห็ดพิษ ทีมสืบสวนเคลื่อนที่เร็วในพื้นที่จะส่งตัวอย่างให้ศูนย์พิษวิทยาดำเนินการตรวจสารพิษ พร้อมทั้งส่งตัวอย่างบางส่วนให้ทีมวิจัยจำแนกชนิดเห็ด เพื่อยืนยันร่วมกันว่าเป็นเห็ดพิษจริงหรือไม่ ปัญหาที่ผ่านมาคือ หากชาวบ้านนำเห็ดพิษมาทำอาหาร ตัวอย่างเห็ดที่ได้จะเป็นชิ้นส่วนที่มีลักษณะรูปร่างไม่สมบูรณ์ ซึ่งยากต่อการจำแนกชนิดเห็ด หรือในกรณีไม่เหลือตัวอย่างให้ตรวจ ก็จะใช้วิธีบอกตำแหน่งที่เก็บเห็ดเพื่อให้ทีมสอบสวนไปเก็บตัวอย่าง แต่ด้วยเห็ดมีวงจรชีวิตสั้น บางชนิดขึ้นมาเพียง 2-3 วันก็หายไปจากพื้นที่แล้ว ทำให้ไม่พบเห็ดพิษ หรือตัวอย่างเห็ดที่เก็บมาก็อาจไม่ใช่เห็ดพิษ

“เพื่อให้การจัดจำแนกเห็ดพิษทำได้ง่ายและแม่นยำมากขึ้น ทีมวิจัยพัฒนา “คลังข้อมูลเห็ดกินได้และเห็ดพิษในประเทศไทย” จากการวิเคราะห์ “ลายพิมพ์เพปไทด์” (กรดอะมิโนสายสั้น ๆ ที่เป็นส่วนสร้างสารพิษของเห็ด) ในตัวอย่างเห็ด ด้วยเครื่องวัดมวล MALDI-TOF (Matrix-Assisted Laser Desorption/Ionization-Time of Flight) ทำให้ได้ลายพิมพ์มวลเพปไทด์ของเห็ดแต่ละชนิดที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละสายพันธุ์ และรวบรวมเป็นคลังข้อมูลสำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการจัดจำแนกชนิดเห็ดและความเป็นพิษ ซึ่งปัจจุบันพิพิธภัณฑ์เห็ดรามีการจัดทำลายพิมพ์มวลเพปไทด์ของเห็ดในประเทศไทยแล้วมากกว่า 200 ตัวอย่าง

ข้อดีของการพัฒนาวิธีจำแนกชนิดเห็ดด้วยการวิเคราะห์ลายพิมพ์เพปไทด์ คือใช้ตัวอย่างปริมาณน้อย และแม้สภาพตัวอย่างเห็ดจะเหลือเป็นเพียงเศษซากหรือแย่แค่ไหนก็ยังใช้ตรวจวิเคราะห์ได้ ที่สำคัญต้นทุนการตรวจวิเคราะห์ต่อครั้งมีราคาถูก ทราบผลภายในไม่เกิน 30 นาที  และมีความแม่นยำ ดังนั้นหากมีเคสผู้ป่วยจากการบริโภคเห็ดพิษ โดยตัวอย่างเห็ดที่ได้มาจะไม่สมบูรณ์ ก็สามารถนำเข้าเครื่องวิเคราะห์ลายพิมพ์มวลเพปไทด์ และนำผลที่ได้ไปเปรียบเทียบกับคลังข้อมูลที่จัดทำไว้ จะทราบทันทีว่าเป็นเห็ดพิษชนิดใด ซึ่งจะช่วยให้ข้อมูลกับแพทย์รักษาผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที อีกทั้งยังแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้ทราบถึงชนิดเห็ดพิษที่ต้องระวังได้ทันการณ์ ลดอัตราการเสียชีวิตจากการบริโภคเห็ดพิษได้มากขึ้น

นางสาวธิติยา กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาคลังข้อมูลเห็ดกินได้และเห็ดพิษในประเทศไทย ไม่เพียงเป็นประโยชน์ช่วยสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขในการตรวจยืนยันชนิดเห็ดพิษที่มีการระบาดได้อย่างรวดเร็วเท่านั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทีมวิจัยยังลงพื้นที่เก็บตัวอย่างเห็ดพิษที่มีลักษณะทางสัณฐานวิทยาที่สมบูรณ์ เพื่อนำมาวิเคราะห์ ถ่ายภาพ และรวบรวมข้อมูลลักษณะสำคัญต่าง ๆ สำหรับพัฒนาคลังข้อมูลเห็ดให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เหมาะต่อการนำไปใช้สื่อสารให้ชาวบ้านมีความรู้ความเข้าใจและเก็บเห็ดป่ามาเป็นแหล่งอาหารและรายได้อย่างปลอดภัยและยั่งยืน อย่างไรก็ดีการวิเคราะห์ลายพิมพ์มวลเพปไทด์ยังใช้ตรวจจำแนกชนิดเห็ดกินได้ หากมีความต้องการยืนยันสายพันธุ์เห็ดก่อนนำไปเพาะปลูก อีกทั้งในอนาคตทีมวิจัยมีแผนขยายผลไปสู่การจัดทำคลังข้อมูลสัตว์มีพิษที่เป็นกลุ่มพิษที่วิเคราะห์จากเพปไทด์ได้เช่นเดียวกันกับเห็ดพิษ

“สำหรับข้อควรระวังในการรับประทานเห็ดช่วงนี้ แนะนำว่าถ้าไม่มีความชำนาญในการแยกชนิดของเห็ด ไม่ควรเก็บเห็ดป่ามาบริโภคเด็ดขาด เพราะการจำแนกเห็ดจะดูเพียงหมวกหรือสีแต่ลำพังไม่ได้ ต้องดูเห็ดครบทุกลักษณะทั้งดอก ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญยืนยัน จึงอยากให้ผู้ที่บริโภคเห็ดและชาวบ้านที่เก็บเห็ด ยึดหลัก 3 ช. เพื่อความปลอดภัยจากเห็ดพิษ ได้แก่ 1.ไม่ชัวร์  คือ ทั้งคนกินและคนเก็บเห็ด หากไม่แน่ใจว่ารู้จักเห็ดชนิดนั้น ๆ ก็ไม่ควรเก็บ-ไม่ควรกิน 2.ไม่เชี่ยวชาญ คือ ถ้าไม่รู้ว่าเห็ดชนิดนั้น อันตรายหรือไม่ ให้สอบถามได้ที่สายด่วน 1422 กรมควบคุมโรค และ 3.ไม่ชิม คือ ไม่ควรกิน หรือชิมเห็ดที่ไม่คุ้นเคยเพื่อลดความเสี่ยงและปลอดภัยจากเห็ดพิษ นอกจากนี้ควรเลี่ยงการเก็บเห็ดที่โดนฝนชะโดยตรงซึ่งอาจชะเอาสีดอกและเกล็ดบนหมวกของเห็ดให้หลุดไปหรือทำให้ลักษณะบางอย่างของเห็ดเปลี่ยนไปได้ ที่สำคัญก่อนเก็บเห็ดหรือก่อนปรุงอาหารต้องพิจารณาเห็ดทุกดอกอย่างรอบคอบ เพราะเห็ดที่มีพิษเพียงดอกเดียวก็เสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ ส่วนประชาชนทั่วไปควรเลือกซื้อเห็ดกับร้านค้าที่เชื่อถือได้ เลือกเห็ดที่สด และควรบริโภคทันที ไม่ควรเก็บเห็ดไว้นานเพราะอาจมีการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุให้เกิดการเจ็บป่วย” นางสาวธิติยา กล่าวทิ้งท้าย